‘รถพุ่มพวง’ พลิกโควิดเป็นโอกาส

‘รถพุ่มพวง’ พลิกโควิดเป็นโอกาส

ช่วงเวลาที่ต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อ ‘รถกับข้าว’ หรือรถเร่พุ่มพวง คือสายพานวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่สำคัญ แต่จะปลอดภัยหรือไม่นั้น ยังอยู่ในเครื่องหมายคำถาม!

 

“กับข้าวมาแล้วครับกับข้าว..”

แม้บรรยากาศจะค่อนข้างเงียบเหงาแต่เสียงประกาศที่คุ้นหูคนไทยยังคงดังอยู่ในหลายตรอกซอกซอย โดยเฉพาะช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 แบบนี้ที่การ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ คือมาตรการที่ทำง่ายและได้ผล จนกระทั่งบางคนเลือกที่จะไม่กักตุน แล้วอุดหนุนแหล่งวัตถุดิบเคลื่อนที่ มีนามว่า ‘รถเร่’ หรือ ‘รถพุ่มพวง’

 

  • ตลาดติดล้อ

รถเร่ รถขายกับข้าว รถพุ่มพวง รถ Mobile grocery, Mobile Fresh Market, Food Truck, Grocery Truck ฯลฯ จะเรียกว่าอะไรก็ตาม แต่รถแบบนี้มีมานานแล้วในเมืองไทย วิวัฒนาการมาจากหาบเร่แผงลอยในตลาด มาสู่การเป็น ‘ตลาดเคลื่อนที่’ เข้าถึงพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ทุรกันดาร ตามหมู่บ้าน ในตรอกซอกซอย ทุกหนทุกแห่ง เป็นความชาญฉลาดของพ่อค้าแม่ค้าที่มองเห็นช่องทางขายของแบบเข้าถึง

รถเร่ขายของ ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ รถขายกับข้าว, รถขายผลไม้ และ รถขายของทั่วไป ซึ่งมีหลากหลาย บุญมี บุญรอด หรือที่ลูกค้าประจำเรียกว่า ลุงบุญมี พ่อค้ารถเร่วัย 64 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการออกตระเวนขายของว่าต้องย้อนไปตั้งแต่ประมาณปี 2540 จนได้ชื่อว่าเป็นพ่อค้ารถเร่รุ่นแรกของตลาดไท

“ผมมาตั้งแต่ตลาดไทเปิดใหม่ๆ พื้นฐานอยู่บ้านนอก ทำไร่ทำนา ปลูกอ้อย สับปะรด มันสำปะหลัง ทำข้าวโพด เลี้ยงกบ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำออกมาแล้วพืชผลราคามันตกต่ำ ก็เลยมากรุงเทพฯ ตามน้องที่เขาวิ่งรถเย็บผ้าโหลที่เคยมาก่อน เขาพามาดูตลาดไท ว่าจะพอทำอะไรได้ไหม ตอนนั้นเพิ่งถมดิน ยังวุ่นวายอยู่ พอผมทำสับปะรดขายได้ก็ซื้่อรถหนึ่งคัน แล้วก็หาอะไรมาขายไปตามเรื่องตามราว วิ่งสะเปะสะปะทั่วไป กว่าจะจับจุดได้

ที่ขายไม่ดีก็ตัดไปๆ แล้วก็ต่อเติมรถ จะขายอะไรก็ต่อเติมเอา ผมเอาชั้นมาวาง จะได้เอาไปให้ได้มากที่สุด มีบรรจุหัวเก๋งด้วย ผมไม่ได้ขายกับข้าว ผมขายของกินของใช้ในครัวเรือน พวกหอม กระเทียม กะปิ น้ำปลา ปลาร้า ปลาทู ปูเค็ม หอยดอง พริก มะขามเปียก มีผักสดบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเน้นของแห้ง”

ถึงจะทำอาชีพนี้มา 20 กว่าปี แต่เมื่อโลกเปลี่ยน อายุที่มากขึ้น ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนการขายจากอดีตเร่ขายของทุกวันทั้งสัปดาห์ ถึงตอนนี้สังขารก็สั่งการให้มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์บ้าง

“บ้านผมอยู่คลอง 2 ตื่นเช้ามา 6-7 โมงก็ไปซื้อของ เอามาบรรจุใส่ถุง พอ 10-11 โมงก็ออกไปขาย รถผมจะไปไม่ซ้ำรอย ไม่เหมือนรถกับข้าว อาทิตย์หนึ่งเข้าทีหนึ่ง วันจันทร์ไปวังน้อย เลียบคลองรพีพัฒน์ วันอังคาร แถวโรจนะ วันพุธ คลอง 1 คลอง 2 วันพฤหัส บางปะอิน วันศุกร์ เก็บตก คลอง 1-3 เวลาเราขาย ถ้าลูกค้าถามไอ้นั่นมีไหมไอ้นี่มีไหม ถ้าคนถามหาหลาย ๆ ครั้งผมก็จะเอาขึ้นชั้นไปให้เขาเห็น ไม่ว่าซอสหรืออะไรถ้ามีคนถามก็จะเอาขึ้นชั้น หลักการคืออะไรที่ลูกค้าถามหาตัวนั้น 3 ครั้ง ผมจะเอาตัวนั้นมาขาย แล้วก็ทิ้งเบอร์โทรไว้ให้ลูกค้าว่า เราจะเข้ามาวันนี้ๆ นะจะโทรสั่งอะไรก็สั่งกับเราได้

เราต้องรู้นิสัยคนซื้อจะได้ค้าขายยาวๆ สตางค์อยู่ในกระเป๋าเขา เราจะเอาของเขามาได้อย่างไร ตอนนี้ผมกับลูกค้ากลายเป็นเพื่อนกันหมดแล้ว เวลาไปจอดรถ ถ้าเขาไม่มา ผมก็ไปถามวันนี้ไม่กินอะไรบ้างเหรอ ใช้ชีวิต ไม่ซีเรียส”

จากวันนั้นถึงวันนี้ ลุงบุญมีกับรถเร่ของเขาร่วมทุกข์ร่วมสุขมานาน และทำหน้าที่ส่งตรงวัตถุดิบถึงมือลูกค้าเสมอมา และดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่ไม่ปกติมักจะสร้างโอกาสให้เขาตลอด เช่น วิกฤตโควิด-19 ทำให้ยอดขายของจากรถเร่เพิ่มขึ้น แต่นั่นก็ทำให้เขาต้องเพิ่มมาตรการเรื่องความปลอดภัยอีกขั้น

“กับเหตุการณ์ช่วงนี้ที่มีโควิด-19 ก็ขายดีขึ้นมาหน่อย เจล หน้ากาก เราไม่ได้เอามาขาย แต่เรามีเจลติดรถไว้ ถ้าใครอยากจะปลอดภัย ผมก็ฉีดๆ ล้างๆ ไป แล้วก็ใส่หน้ากาก มีเจลฉีดมือฉีดไม้ ส่วนที่ตลาดไทเขาก็มีมาตรการ มีฉีดยาล้างตลาด มีวัดไข้ ผมโดนยิงทุกวัน”

มีข้อสังเกตจากผู้ที่ศึกษาเรื่องรถเร่ขายกับข้าวอย่างจริงจัง พบว่า รถเร่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ

“รถเร่ขายกับข้าว เริ่มคึกคักขึ้นหลังยุคฟองสบู่แตก พ.ศ. 2539 – 2540 ซึ่งก่อนหน้านั้นมีแล้วแต่ไม่มาก ต้นกำเนิดมาจากพวกหาบเร่ แผงลอย รถเข็น ปรับเปลี่ยนมาใช้รถกระบะแทน ให้เกิดการเข้าถึงในที่ขาดแคลน นำตลาดไปสู่กลุ่มคนที่ไม่สะดวกเดินทาง กลุ่มลูกค้าหลัก ๆ คือ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มคนที่เดินทางไม่ได้ เดินทางไม่สะดวก กลุ่มผู้สูงวัย ตามหมู่บ้านจัดสรร ในย่านชุมชน กลุ่มคนงานก่อสร้าง โรงงาน กลุ่มคนที่ไม่อยากเดินทาง สามารถโทรสั่งได้ บางคันคัดเลือกกลุ่มลูกค้าเพื่อสะดวกในการจัดการ การเจาะกลุ่มลูกค้าส่งผลต่อข้าวของที่นำมาขายด้วย มีการส่งต่อ ‘มรดกเส้นทาง’ ที่เกิดจากการลองผิดลองถูก การหลีกทับเส้นทางกับรถคันอื่น” กฤษณะพล วัฒนวันยู อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวไว้ในวิจัยปริญญาเอกหัวข้อ ‘ปฏิบัติการของ รถกับข้าว / รถเร่ กับการสร้างเมืองในชีวิตประจำวัน’

ตรงกับสภาพบ้านเมืองในขณะนี้ที่กำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ บริษัท ร้านค้า ต้องปิดตัวลง ส่งผลให้คนตกงานจำนวนมาก ทำให้ ‘ตลาดไท’ แหล่งกำเนิดของรถเร่ จัดทำโครงการ ‘ตลาดไทช่วยไทย สู้ภัย COVID-19’ เพื่อมาช่วยเหลือประชาชน

 

  • รถเร่ ออนไลน์

ตลาดไทเป็นแหล่งรวมสินค้ามากมายหลายชนิด และเป็นศูนย์รวมพ่อค้าแม่ค้ารถเร่จำนวนมาก รถเร่ที่ซื้อของจากที่นี่มักตระเวนไปจำหน่ายแถบปริมณฑลชายตะเข็บกรุงเทพฯ เช่น นนทบุรี ปทุมธานี บางใหญ่ รัตนาธิเบศร์ รังสิต-นครนายก คลอง1-11 ส่วนตะวันออก สมุทรปราการ และใต้ สมุทรสาคร

โชคชัย คลศรีชัย รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) บอกว่า ตลาดไทกับรถเร่อยู่คู่กันมานาน ทุกวันจะมีรถเร่มาที่นี่ไม่น้อยกว่า 500 คัน และที่นี่เปรียบได้กับสายส่งผู้กระจายสินค้าไปถึงทุกครัวเรือนได้

“แต่ก่อนอาชีพนี้เรียกว่ารถเร่ เพราะว่าเร่ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อขายอาหาร ต่อมามีการแขวนเกิดขึ้น คนก็เลยเรียกว่ารถพุ่มพวง ส่วนมากคนทำอาชีพนี้เกิดจากคนต่างจังหวัดที่เข้ามาหางานทำ แล้วมองเห็นว่าในชุมชนหมู่บ้านยังไม่มีอาหารมาขายก็เลยทำรถเร่ขายอาหารขึ้น ต่อมามีรายได้ดีก็ชักชวนคนรู้จักมาทำด้วยกัน ก็เลยเพิ่มขึ้นๆ คนที่ทำส่วนมากจะเป็นสามีภรรยา สามีขับรถ ภรรยานั่งข้างหลังเป็นคนขาย และเป็นคนเก็บสตางค์’

บทบาทของตลาดไทในฐานะต้นทางของวัตถุดิบอาหารค่อนข้างซับซ้อนและมีรายละเอียดมากขึ้น เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การที่คนอยู่บ้านมากขึ้น ตลาดไทก็ต้องปรับตัวสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ เคียงข้างไปกับอาชีพรถเร่

“ถ้าจะทำรถเร่ ไปซื้อที่ไหนก็ได้ ตลาดใกล้บ้าน ทุกที่ทำได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาซื้อที่ตลาดไท แต่เราเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้ ยินดีให้ความรู้สำหรับผู้ที่มองหาอาชีพใหม่ เรามีผู้ทำอาชีพนี้แล้วมากมายคอยบอก ให้คำปรึกษา จะต่อหลังคาอะไรอย่างไร อีกหน่อยเราจะทำคิวอาร์โค้ดไว้ที่ท้ายรถ แล้วก็ทำระบบสมาชิก มีรายชื่อ เวลาคนจะซื้อก็มาสแกนคิวอาร์โค้ดของรถคันนี้ หรือถ้าอยากได้อะไรเพิ่มเติมจากที่เขาขาย อย่างเช่น ไข่สองแผงพรุ่งนี้ ก็สามารถสั่งสินค้าล่วงหน้าได้ โทรสั่งตอนกลางคืน ตอนเช้าเขาก็เอามาให้ เราเป็นกลางน้ำ ที่คอยรับจากต้นน้ำ แล้วส่งต่อให้ปลายน้ำ” รองประธานคณะกรรมการบริหารตลาดไทกล่าว

 

  • รถเร่ ตะลุยไวรัส

วิกฤตการณ์ปัจจุบันทำให้เรื่องสุขภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง จนอาจเกิดคำถามในใจว่า ถึงไม่ออกไปรับเชื้อ แต่อาหารที่มาจากภายนอกจะปนเปื้อนเชื้อโรคทั้งจากต้นทางหรือระหว่างทางหรือเปล่า ประเด็นดังกล่าว โชคชัย อธิบายว่า สำหรับตลาดไทมีมาตรการเรื่องสุขอนามัยอย่างดี

“มาตรการป้องกันไวรัสของตลาดไท เราระวังอย่างเต็มที่ ข้อแรก ใส่หน้ากากอนามัย ใครมาตลาดไม่ใส่หน้ากาก เราไม่ให้เข้าตลาด ข้อสอง มีการฉีดพ่นทำความสะอาดทั่วตลาด ข้อสาม มีเจลแอลกอฮอล์ วางไว้ 240 จุด ให้ใช้ทั่วตลาด ข้อสี่ มีการวัดอุณหภูมิ แม่ค้า พ่อค้า แรงงานในแผงค้า เพราะมันเป็นที่เปิดโอเพนแอร์”

สำหรับผู้บริโภคที่กักตัวอยู่ในบ้าน ถ้าต้องการซื้อสินค้าจากรถเร่ หรือพ่อค้าแม่ค้าที่ทำอาชีพรถเร่ จะต้องคำนึงถึงโรคที่กำลังระบาดและดูแลตัวเองเป็นหลัก พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ให้คำแนะนำในเรื่องนี้ว่า

“สำหรับพ่อค้าแม่ค้ารถเร่ หนึ่งคือ เรื่องตัวรถ ต้องทำความสะอาดสม่ำเสมอ โดยเฉพาะก่อนเข้าไปรับอาหารที่แหล่งตลาดใหญ่ ทำความสะอาดทั้งรถและภาชนะที่จะนำมาใส่อาหาร ถ้าขายอาหารสดก็ต้องมีภาชนะแยกเพื่อรักษาอุณหภูมิที่เพียงพอแล้วแยกประเภทเป็นอาหารทะเล หมู ไก่ เป็นสัดส่วนให้เรียบร้อย จากนั้นจึงเป็นผัก ผลไม้ อาหารแห้ง

สอง ผู้จำหน่ายอาหาร ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ใส่ถุงมือหรือมีอุปกรณ์คีบอาหารสด ไม่ใช้มือหยิบ จับ อาหารโดยตรง และมีอุปกรณ์ต่างหากไว้ให้ผู้บริโภค ส่วนที่ใส่ถุงนั้นไม่ยาก เพราะอาหารถูกแยกอยู่ในถุงเรียบร้อยอยู่แล้ว ก็ต้องดูแลในเรื่องของภาชนะและอุปกรณ์ที่จะใช้ ควรทำความสะอาดตัวเองที่ต้องหยิบจับและตัวผู้บริโภค ถ้าไม่สบายก็ควรจะหยุดงาน หยุดขายอาหาร ดูแลสุขภาพ หาคุณหมอให้เรียบร้อยแล้วถึงจะมาขายได้อีกครั้่งหนึ่ง

สาม เรื่องของระยะห่าง ตอนนี้เราเน้นมาก ถ้าเป็นเมื่อก่อน เวลารถมาจอดตามจุดจอด คนก็จะมาเกาะรถคุยกัน เป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เขาต้องเข้าใจว่าระยะห่างเป็นเรื่องสำคัญ ผู้บริโภคเองก็ต้องเข้าใจ ถ้าท่านจะซื้อ ท่านก็เข้ามา แต่เว้นระยะห่าง ซื้อของ ยืนคุย เจรจา”

นอกจากนี้เรื่องสำคัญที่ทั้งพ่อค้าแม่ค้าหรือลูกค้ารถเร่ต้องตระหนักและปฏิบัติเสมอ คือ ต้องล้างมือให้สะอาดตลอด ไม่ว่าหยิบจับอะไร รวมทั้งเงิน จะด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ก็ตาม

“เราก็หวังว่าวิถีอย่างนี้ในไทยก็ยังเดินหน้าได้ถ้าพวกเราร่วมมือกัน ทั้งผู้ขายอาหารและผู้บริโภค ถ้าออกจากบ้านก็อย่าออกไปไกล ของกินมาใกล้ๆ หน้าบ้านแล้ว ซื้อเสร็จก็กลับเข้าบ้านเรา” พญ.พรรณพิมล เสริม

ถ้าในวิกฤตยังมีโอกาส ในสถานการณ์โควิดก็ยังมีรถเร่พุ่มพวง ที่เป็นทั้งโอกาสของพ่อค้าแม่ขาย และโอกาสที่คนไทยยังสุขกายสบายท้องได้โดยไม่ต้องออกไปเสี่ยงติดเชื้อ