ลูกหาบ กระดูกสันหลังของการเทรคกิ้ง

ลูกหาบ กระดูกสันหลังของการเทรคกิ้ง

การเทรคกิ้งพิชิตเบสแคมป์บนเส้นทางหิมาลัยเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ แต่เดี๋ยวก่อน! ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีเหล่า “ลูกหาบ” กระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมเทรคกิ้งที่เนปาล

ระหว่างการท้าทายตัวเองบนเส้นทางเทรคกิ้งอันแสนงดงามของเทือกเขาหิมาลัย มีบางสิ่งที่สะดุดทิ่มตำใจอยู่เนืองๆ ก็เหล่าลูกหาบ (Porter) ที่กำลังแบกสัมภาระอันหนักอึ้งของพวกเราอยู่นั่นไง กลุ่มคนสำคัญที่ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมเทรคกิ้งของเนปาล แต่มีบทบาทคล้ายทาสยุคใหม่ไม่ปาน

เนปาล ประเทศที่ครอบครองยอดเขาสูงสำคัญระดับโลกไว้ถึง 8 -9 ยอด ยอดเอเวอร์เรสต์ที่สูงที่สุดในโลกก็อยู่ที่นี่ เส้นทางเทรคอันหลากหลายบนเทือกเขาหิมาลัยได้เป็นต้นธารของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแนวผจญภัย เดินป่า ปีนเขา สำรวจภูเขาสูง

8568

ภาพโดย May.is.May

เสน่ห์ของกิจกรรมเหล่านี้อยู่ที่การพาตัวเองไปพิชิตความงดงามที่เข้าถึงยากในระดับต่างๆ แต่การเดินเท้าต่อเนื่องหลายวันในภูมิประเทศสูงชัน ไม่มียานพาหนะใดเป็นตัวช่วยในการขนสัมภาระของเหล่านักเดินป่าได้ดีเท่า 2 เท้าของมนุษย์ เพราะในหลายที่ ม้า ลา ล่อ ก็ไม่สามารถไปถึงได้ มีแต่เหล่าลูกหาบนี่แหละ การเทรคกิ้งบนภูเขาสูงทั่วโลกแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีลูกหาบ

ลูกหาบส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจนที่ส่วนมากทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ เราเคยคิดว่าลูกหาบก็คือลูกหลานของคนภูเขาที่คุ้นเคยกับภูมิประเทศภูเขาสูงเท่านั้น แต่ลูกหาบจำนวนมากส่วนหนึ่งก็มาจากเมืองในที่ราบซึ่งไม่ได้คุ้นกับทางเดินอันยากลำบากและอากาศเบาบางบนที่สูง งานที่หนักหน่วงอยู่แล้วจึงยิ่งโหดมากขึ้น

แบกหามยิ่งกว่าสัมภาระ

เวลาเห็นเหล่าลูกหาบแบกของ นักเดินป่าเดินเขาทุกคนสงสัยมากว่าพวกเขาทำได้อย่างไรกัน ต่อให้ฝึกร่างกายมาอย่างนักกีฬาแต่นักท่องเที่ยวก็ไม่มีทางทำได้เหมือนลูกหาบ ซึ่งควรจะแบกของน้ำหนัก 15 - 20 กิโลกรัม แต่ในความเป็นจริง ลูกหาบคนหนึ่งต้องแบกของบนหลังถึง 30 – 40 กิโลกรัมเลยทีเดียว คนทั่วไปสามารถแบบของได้หนักมากที่สุดราว 70 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว แต่ลูกหาบบางคนบางครั้งสามารถแบกของได้มากกว่าน้ำหนักตัวเองด้วยซ้ำ เขาทำได้อย่างไร?

IMG_20180403_125857_431

มีงานวิจัยเมื่อปีที่แล้ว โดย Norman Heglund นักสรีรวิทยากล้ามเนื้อ ของ University de Louvain ประเทศเบลเยี่ยมทำการวิจัยว่าทำไมลูกหาบชาวเนปาลถึงสามารถแบกของหนักเช่นนั้นได้ เขาทดสอบทั้งกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว โดยมีสมมติฐานว่าลูกหาบชาวเนปาลน่าจะมีการเคลื่อนไหวเฉพาะที่ช่วยชดเชยแรงเหมือนการเคลื่อนไหวของหญิงชนเผ่า Kikuya ในประเทศเคนยาที่สามารถเทินของหนักบนศีรษะได้

แต่อันที่จริงแล้วไม่ได้มีเทคนิคพิเศษในการเคลื่อนไหวของลูกหาบเลย พวกเขาแค่ผูกผ้าเหนี่ยวสัมภาระไว้บนหน้าผากและพาดน้ำหนักที่เหลือบนสะโพกแล้วก็ “เดินไปเรื่อยๆ” เท่านั้น มีข้อพิเศษเพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างกายของลูกหาบชาวเนปาลที่ว่าพวกเขาสามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนแล้วนำมาใช้ได้เร็วกว่าคนทั่วไป ความสามารถพิเศษนี้เกิดจากความเคยชินในการแบกของเดินขึ้นลงเขาตั้งแต่เด็กๆ ในชีวิตประจำวันสะสมมาจนยากจะลอกเลียนแบบ

20180405_104957

และความสามารถซึ่งนำมาแลกเป็นเงินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ก็ต้องแลกด้วยปัญหาสุขภาพระยะยาว อย่างอาการปวดหลัง เพราะต้องเดินแบกหามยาวถึง 20 – 30 กิโลเมตรต่อวัน อาการแพ้ความสูง ซึ่งหากเป็นหนักจะมีอาการน้ำท่วมปอด สมองบวม ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งใช่ว่าจะไม่เกิดกับคนท้องถิ่น อาการหิมะกัดเมื่อไม่มีถุงมือป้องกันอย่างเหมาะสม (อย่างนักท่องเที่ยว) ประสบอุบัติเหตุจนพิการ หรือเสียชีวิต  และที่สำคัญสิทธิของลูกหาบกับลูกทัวร์ไม่เท่ากันโดยสิ้นเชิง นักเดินเขาที่ซื้อทัวร์มาพร้อมประกันการเดินทางหากป่วยไข้รุนแรงก็จะมีการช่วยเหลือโดยมีเฮลิคอปเตอร์มารับ หรือไม่ลูกหาบคนใดคนหนึ่งก็ต้องช่วยกันแบกหามลงไป  แต่กับลูกหาบแล้ว ถ้าใครเกิดล้มป่วยบาดเจ็บขึ้นมา เขาก็ต้องดูแลตัวเอง ถูกปล่อยทิ้งไว้ หรือให้เงินแล้วเดินทางกลับไปเอง แล้วถูกแทนที่ด้วยลูกหาบคนอื่น

“การเป็นลูกหาบเป็นงานที่โหดมาก ผมเห็นลูกหาบด้วยกันตายเป็นจำนวนมาก แต่การตายของลูกหาบก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร สัมภาระบนหลังเขาก็ถูกเปลี่ยนมาสู่หลังของอีกคน ส่วนร่างของเขาก็ถูกทิ้งไว้ให้เป็นเหยื่อของสัตว์ป่าไป” Krishna Manandhar ลูกหาบอายุ 51 ปีบอกในบทความของ My Republica

แต่พวกเขาก็ยอมแลก เพราะงานนี้ได้เงินมากกว่างานใช้แรงงานทั่วไป ลูกหาบจะได้ค่าตอบแทนประมาณ 1,000 เนปาลีสรูปีต่อวัน หรือราวเกือบ 300 บาทไทย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทที่จะจ้างเท่าไหร่ สิ่งที่ลูกหาบคาดหวังก็คือทิปส์จากลูกทัวร์นั่นเอง

35150

ภาพโดย May.is.May

ที่นำเรื่องขมๆ มาเล่าให้ฟัง ไม่ใช่ต้องการให้คนเลิกเทรคกิ้ง เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า และลูกหาบก็ยังคงต้องการงานเพื่อยังชีพ สิ่งสำคัญคือการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบก็ต้องถูกกระตุ้นขึ้นมา

แม้การดูแลสุขภาพและสวัสดิการของลูกหาบยังไม่เกิดขึ้นเป็นระบบโดยรัฐบาล แต่ในระยะหลายปีมานี้เริ่มมีองค์กรอิสระที่ทำงานเรียกร้องสิทธิของลูกหาบมากขึ้น อย่าง IPPG (International Porter Protection Group) ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อปรับปรุงเรื่องการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของเหล่าลูกหาบ โดยเผยแพร่ข้อมูลสร้างการตระหนักรู้ในกลุ่มบริษัทนำเที่ยว ไกด์ และตัวนักท่องเที่ยวเอง โดยทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ IPPG ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 ปีที่มีลูกหาบเนปาลอายุ 20 ปีเกิดอาการแพ้ความสูงขึ้นระหว่างทาง เขาก็ได้รับเงินค่าจ้างและถูกปล่อยให้กลับลงไปเพียงลำพัง 30 ชั่วโมงต่อมาเขาก็เสียชีวิต ลูกหาบคนนี้ทิ้งภรรยาและลูกเล็ก 2 คน ไว้เบื้องหลัง เขาคนนี้ไม่ใช่เพียงคนเดียวที่ประสบชะตากรรมนี้ยังมีลูกหาบอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องสังเวยร่างกายและชีวิตบนภูเขาสูง

สถิติการเสียชีวิตของลูกหาบมีมากเป็น 4 เท่า ของนักเดินเขา การไม่เพิกเฉยเหล่านี้นำมาสู่การเรียกร้องให้มีการดูแลความเป็นอยู่ระหว่างทำงานของลูกหาบให้ได้มีเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับสภาพอากาศและภูมิประเทศต่างๆ ได้มีที่หลับนอนที่เหมาะสม อาหารอุ่นๆ ที่เพียงพอต่อการใช้แรง เข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ มีประกัน และได้ทิปส์ตอบแทนสมควรแก่การทำงาน

บริษัทท่องเที่ยวที่มีจริยธรรมก็จะจัดการดูและสิ่งเหล่านี้ให้ลูกหาบ อย่างตอนที่ผู้เขียนไปเทรคกิ้งสู่อันนาปุรณะ เบส แคมป์ ก็ได้สังเกตเห็นถึงการดูแลลูกหาบที่เหมาะสม พวกเขามีที่พักผ่อน มีอาหารร้อนๆ และได้รับการดูแลจากไกด์เหมือนเป็นพี่น้องกัน ส่วนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มพวกเขาดูแลตัวเอง เพราะเส้นทางนี้แม้จะเจออากาศครบ 4 ฤดูในเดือนเมษายน ก็ยังนับว่าไม่มีอากาศที่รุนแรงแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังทราบมาว่าหากมีการจ้างไกด์กึ่งลูกหาบเป็นการส่วนตัว โดยไม่ผ่านบริษัท ลูกค้าต้องเป็นผู้ซื้อประกันให้ เป็นกฎพื้นฐานที่เข้ามาดูแลสิทธิของลูกหาบมากขึ้น แม้ว่าจะยังมีบริษัทที่จ้างลูกหาบอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม และเราไม่อาจรู้ได้ว่าเงินที่เราจ่ายให้บริษัททัวร์จะไปถึงลูกหาบกี่มากน้อย ต้องอาศัยจริยธรรมของแต่ละองค์กรจริงๆ นอกจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของลูกทัวร์ด้วย ที่ควรท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบต่อคนสำคัญที่ทำให้ทริปพิชิตภูเขาสูงสำเร็จได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่รณรงค์เรื่องนี้อย่าง Responsible Travel ของประเทศอังกฤษที่เผยแพร่ข้อมูลการท่องเที่ยวที่ไม่เห็นแต่ความสุขของตัวเองเท่านั้น ยังต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้ม ชุมชน ผู้คน เพื่อยังคงระบบนิเวศแห่งการท่องเที่ยวที่เกื้อกูลกัน อยู่กันไปได้นานๆ

เส้นทางไปต่อของลูกหาบ

ลูกหาบอาจจะเป็นลูกหาบไปตลอดชีวิต แต่หลายคนก็ไม่ เราได้คุยกับ Ras Dhan Rai ไกด์วัย 29 ปีของ Adventure Geo Treks บริษัทนำเที่ยวเนปาลซึ่งเปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2009 Ras ร่วมงานกับบริษัทนี้มาตั้งแต่ต้น โดยทำงานเป็นลูกหาบอยู่หลายปี จากนั้นเขาก็เข้าอบรมและสอบเป็นไกด์ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ไกด์นำเที่ยวในเมือง ไกด์เทรคกิ้ง และไกด์ปีนยอดเขาซึ่งมีความสูงไม่เกิน 7,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งต้องใช้ทักษะแตกต่างกัน ในแต่ละคอร์สจะได้ฝึกทั้งทักษะของตัวเอง การดูแลความปลอดภัยของลูกทัวร์ และการช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ที่ผ่านมา Ras เคยนำทัวร์ทั้งในเมือง เทรคกิ้ง และการปีนยอดเขาสูง ซึ่งเขายังไม่เคยประสบเหตุอันตรายใดๆ เลย เขาบอกว่าสำคัญที่ลูกทัวร์ต้องไม่ดื้อด้วย

20180405_102307

Ras Dhan Rai ระหว่างทางลงจาก Annapurna Base Camp

Ras บอกว่าการไต่เต้าจากลูกหาบสู่ไกด์นั้น ขึ้นอยู่กับความขวนขวายของแต่ละคนเอง แน่นอนว่าการเป็นไกด์แต่ละแบบนั้นมีการอบรมก่อนเพื่อให้ได้ใบอนุญาตทำงาน แต่ลูกหาบไม่ต้องเทรนอะไรเลย มีแต่ความอึดแข็งแรงเท่านั้นที่เป็นคุณสมบัติ

35136

ลูกหาบหนุ่มทั้ง 7 ของทริปเทรคกิ้งสู่ Annapurna Base Camp หนุ่มเสื้อน้ำเงินซ้ายมือคือ Sanjok Rai, ภาพโดย May.is.May

Sanjok Rai หนุ่มอายุ 17 ปีหมาดๆ ในเดือนเมษายนนี้ เราเจอเขามาทำงานพิเศษเป็นลูกหาบในทริป หนุ่มคนนี้เรียนจบมัธยมในหมู่บ้านต่างจังหวัด ก่อนจะเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกาฐมานฑุ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้วที่เขามารับจ้างเป็นลูกหาบเพื่อหารายได้เพิ่ม เขาบอกว่างานนี้รายได้ดีกว่างานพิเศษอื่น แน่นอนเขาไม่ได้อยากเป็นลูกหาบตลอดไป เพราะงานนี้มันเหนื่อยยากมาก ถึงแม้ว่าเขาจะทำได้ เพราะเติบโตมาในหมู่บ้านในเขต Solukhumbu ซึ่งแวดล้อมด้วยภูเขาสูง การแบกของหนักขึ้นลงภูเขาคือชีวิตประจำวัน Sanjok ทำได้อยู่แล้ว แต่มันก็เป็นงานที่หนัก อาชีพในฝันของหนุ่มน้อยอยากเป็นไกด์นำเที่ยว แต่ก่อนอื่นเขาก็ต้องสอบเป็นไกด์เพื่อได้ใบรับรองจากรัฐเสียก่อน

ลูกหาบก็ยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ต่อไป เส้นทางเทรคกิ้งชื่อดังหลายแห่งถูกพัฒนามาหลายสิบปีจนมีระบบอย่างดีภายใต้ความเป็นธรรมชาติแบบเดิมๆ สวัสดิการพื้นฐานของลูกหาบก็ควรได้รับการพัฒนาขึ้นด้วย เริ่มจากตัวของชาวเทรคเกอร์เองนั่นแหละ

///////////////

18 เมษายน ครบ 4 ปี ความสูญเสียที่เอเวอร์เรสต์

เชอร์ปา ชนเผ่าเร่ที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาหิมาลัยในเนปาล จีน ทิเบต เป็นชนเผ่าที่เชี่ยวชาญการนำทางในภูเขาสูงมาก จนคำว่าเชอร์ปากลายเป็นแสลงของไกด์ทัวร์ภูเขาสูงไปแล้ว เพราะคนจากชนเผ่านี้คือคนที่นำทางชาวตะวันตกให้พิชิตในการสำรวจเทือกเขาหิมาลัย โดยเฉพาะยอดเอเวอร์เรสต์ เชอร์ปาไม่เท่ากับลูกหาบ เพราะมีสถานะเป็นไกด์บวกลูกหาบมากกว่า แต่คนตะวันตกหลายคนก็เรียกเหมารวมลูกหาบว่าเชอร์ปาไปเลย

ในวันนี้เมื่อปี 2014 ได้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ในการปีนยอดเขาเอเวอร์เรสต์ เกิดหิมะถล่มจากการทลายของ Khambu Icefall ระหว่างทางที่เหล่าเชอร์ปากำลังนำนักปีนเขาปีนขึ้นเอเวอร์เรสต์ ภัยพิบัตินี้ได้คร่าชีวิตไกด์ชาวเนปาลซึ่งส่วนใหญ่คือชาวเชอร์ปาไปถึง 16 คน ไม่มีชาวต่างชาติคนใดเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ การดูแลผู้เสียชีวิตของรัฐบาลอันบกพร่อง นำมาสู่การประท้วงของเหล่าเชอร์ปาที่จะไม่ขึ้นเอเวอร์เรสต์อีกตลอดปี ทำให้ปีต่อมา 2015 ไม่มีผู้พิชิตเอเวอร์เรสต์ได้เลย รัฐบาลเพิ่มเงินชดเชยให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากรายละ 40,000 รูปี เป็น 500,000 รูปีแม้จะเป็นไปอย่างล่าช้า และมีการติดตั้งเครื่องป้องกันและพยากรณ์การถล่มของหิมะขึ้น

///////////////

อ้างอิงเพิ่มเติม:

www.ippg.net

goo.gl/nvfnyW

maptia.com/emilybrown/stories/porter-welfare-in-nepal

www.myrepublica.com/archive/42628/Porters:-Tourism-industry%27s-backbone