บุญที่แท้เกิดจากการไม่เบียดเบียน
ในช่วงเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ คนจำนวนมากคงนึกถึงการเข้าวัดทำบุญเพื่อเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความเป็นศิริมงคล
ในช่วงเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ คนจำนวนมากคงนึกถึงการเข้าวัดทำบุญเพื่อเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความเป็นศิริมงคล แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าการทำบุญของเรานั้นเป็นบุญอย่างแท้จริง
ท่ามกลางยุคสมัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสภาพสังคมอย่างซับซ้อน การทบทวนความหมายของการทำบุญให้ทาน จะช่วยให้เราเข้าใจที่มาของหลักคำสอนและสามารถปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ดีขึ้นโดยไม่เสียหลักการทางธรรม
ผู้เขียนได้รับคำถามชวนคิดจากเจ้าหน้าที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) ว่าควรจะมีหลักในการคิดอย่างไรเกี่ยวกับการนำวัตถุทานที่ทำจากงาช้างมาถวายพระ เรื่องนี้จะต่างจากการนำอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์มาถวายพระหรือไม่ เพราะทั้งสองอย่างนี้มาจากการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นเหมือนกัน
การทำความเข้าใจเรื่องนี้คงไม่สามารถทำได้ด้วยการอ้างอิงพระวินัยในส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษร (พยัญชนะ) อย่างเดียว แต่จะต้องทำความเข้าใจจุดมุ่งหมายของพระวินัยในส่วนที่เป็นเนื้อหา (อรรถะ) ด้วย
แม้ในศีลข้อแรกสำหรับฆราวาส จะเป็นการละเว้นปาณาติบาตหรือการเบียดเบียนชีวิตอื่น แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงห้ามพระภิกษุรับอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ ดังในสมัยพุทธกาล พระเทวทัตเคยกราบทูลขอให้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระภิกษุห้ามฉันเนื้อสัตว์ แต่พระพุทธองค์ก็ทรงปฏิเสธ เนื่องจากการดำรงชีวิตของพระภิกษุนั้นขึ้นอยู่กับญาติโยม หากญาติโยมบริโภคเนื้อเป็นปกติแล้ว การฉันมังสวิรัติก็จะกลายเป็นภาระที่ต้องจัดหาเป็นพิเศษเพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติของญาติโยม ทำให้กลายเป็นการสร้างความลำบากแก่ผู้อื่น ผิดจากหลักการที่พระภิกษุควรทำตัวให้เป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย
อย่างไรก็ตาม ทรงมีพุทธบัญญัติห้ามพระภิกษุฉันอาหารจากเนื้อสัตว์ที่รู้ว่าญาติโยมฆ่าเพื่อนำมาทำอาหารถวายพระ เพราะเท่ากับพระภิกษุกลายเป็นต้นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนสัตว์โดยตรง ต่างจากการทำอาหารจากเนื้อสัตว์ที่มีขายอยู่ก่อนแล้วในตลาด หรือฆ่าด้วยเหตุอื่น เนื่องจากเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาถวาย ไม่ได้จัดหามาเป็นพิเศษ
คำอธิบายทั้งสองด้านที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงมุ่งเน้นให้การดำเนินชีวิตของพระภิกษุสอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ได้ยึดอยู่กับอุดมคติที่เป็นไปได้ยาก และทรงคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่เกื้อกูลกันระหว่างพระกับชุมชนด้วย จะเห็นได้ว่า โดยนัยแห่งพระวินัยนั้น หากญาติโยมทั้งหลายยินดีพอใจกับอาหารมังสวิรัติกันเป็นปกติ พระภิกษุย่อมยินดีพอใจในอาหารเช่นนั้นด้วย และจะไม่เรียกร้องให้ถวายทานที่ทำจากเนื้อสัตว์เช่นกัน
หากพิจารณาเชื่อมโยงจากหลักที่อธิบายข้างต้น การที่ญาติโยมเอาวัตถุทานที่ทำจากงาช้างที่มีอยู่แต่เดิม หรือจากช้างที่ล้มโดยธรรมชาติ ไม่ได้มาจากการฆ่าช้างเพื่อเอางามาถวายพระ ก็ไม่ผิดหลักการทางพระวินัย สามารถจัดเข้าอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับคำอธิบายเรื่องอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่างาช้างนั้นได้มาอย่างบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ เพราะในปัจจุบันมีการล่าช้างเพื่อเอางาเกิดขึ้นทั่วทุกบริเวณที่มีช้างป่าอาศัยอยู่ ช้างจำนวนมากในทวีปแอฟริกาถูกฆ่าทิ้งเพียงเพื่อตัดเอางามาขาย ในกรณีนี้ย่อมชัดเจนว่าเป็นการฆ่าและเบียดเบียนสัตว์อื่น
ในแง่หลักการนั้น การฆ่าสัตว์ทุกชนิดถือเป็นปาณาติบาตเสมอกัน ไม่มีข้อแตกต่าง แต่ในทางปฏิบัตินั้น การฆ่าสัตว์ป่ากับสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารมีน้ำหนักต่างกัน เพราะในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินั้น เราได้นำสัตว์ป่าหลายชนิดมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์จนกระทั่งกลายเป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมกับคนได้ และกลายเป็นการเพาะเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาหารในที่สุด ในแง่นี้ย่อมต่างจากสัตว์ป่าที่เกิดและเติบโตโดยธรรมชาติ ไม่มีการยุ่งเกี่ยวจากมนุษย์โดยตรง การพรากชีวิตสัตว์ป่าโดยไม่ได้มีเจตนาตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานในชีวิตจึงถือว่าเป็นเรื่องที่โหดร้ายทารุณกว่าการฆ่าสัตว์ที่เป็นอาหารโดยปกติ
ดังนั้น หากวัตถุทานที่ทำจากงาช้างนั้นได้มาด้วยวิธีการที่ทารุณโหดร้าย วัตถุทานนั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ ไม่อาจส่งผลให้เกิดบุญได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะมีมูลค่ามากมายเพียงใดก็ตาม เพราะอันที่จริงแล้ว ผลบุญจากการให้ทานนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับมูลค่าของวัตถุทาน แต่ขึ้นอยู่กับเจตนา ความบริสุทธิ์ของวัตถุทาน ตลอดจนความถูกต้องเหมาะสมของผู้รับและผู้ให้
อนึ่ง ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า วัตถุทานที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของพระภิกษุควรเป็นอย่างไร
เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงวางรูปแบบชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาให้เป็นไปด้วยความเรียบง่าย เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางจิตใจ วัตถุทานที่มีมูลค่ามากมายแต่ไม่ได้เอื้อให้เกิดความเจริญทางสมณธรรมจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แม้ว่าจะเป็นวัตถุทานที่มั่นใจได้ถึงความบริสุทธิ์ในการจัดหามาก็ตาม ในส่วนของวัตถุทานที่เป็นอาหาร ย่อมถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่เกื้อกูลต่อการดำรงชีวิตโดยตรง หากญาติโยมนำเนื้อสัตว์ที่มีขายอยู่แล้วในตลาด ไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่าเพื่อนำมาถวายพระโดยตรง ก็ยังถือว่าเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ในแง่ของเจตนา สามารถนำมาทำบุญได้โดยไม่ขัดแย้งกับหลักการทางพระวินัย
นอกเหนือจากการทำบุญให้ทานแล้ว บุญอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ควรจะละเลย คือ บุญจากการรักษาศีลภาวนา เพราะบุญในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่าเป็นการปฏิบัติบูชา และเป็นบุญที่มั่นใจได้ว่าปราศจากการเบียดเบียนอย่างแท้จริง ในช่วงเทศกาลปีใหม่ หากเราตั้งต้นด้วยการทำจิตใจให้ผ่องใส มีความสุขภายในใจจากการรักษาศีลและเจริญสมาธิภาวนา จนไม่มีที่ว่างให้กับความโกรธเกลียดและเศร้าหมอง ก็นับว่าเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ที่เราสามารถมอบให้กับตัวเราเองได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยจากภายนอกเลย