ตายคาอก"ไม่ใช่"เรื่องตลก
ปรากฎการณ์ ตายคาอก หรือเสียชีวิตขณะมีเพศสัมพันธ์ คงไม่ใช่เรื่องตลกสำหรับคนเป็นโรคหัวใจ
ปรากฎการณ์ ตายคาอก หรือเสียชีวิตขณะมีเพศสัมพันธ์ คงไม่ใช่เรื่องตลกสำหรับคนเป็นโรคหัวใจแต่มิวายมีอารมณ์ทางเพศ เพราะข้อจำกัดต่างๆนาๆที่หากฝืนขึ้นมาอาจจะดับในสภาพสุดอนาถ แต่ความจริงแล้วเซ็กซ์จะเป็นเรื่องที่ต้องงดสำหรับคนเป็นโรคหัวใจหรือไม่
นพ.ปัญเกียรติ โตพิพัฒน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า สมาคมแพทย์โรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (AHA) ได้แนะนำผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดว่า ควรจะได้รับการประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะกลับมามีกิจกรรมทางเพศ โดยที่คุณสามารถผ่านการทดสอบการออกกำลังกายด้วยการเดินสายพานหรือหากเดินขึ้นบันไดสองชั้นอย่างสบายๆ หรือเดินเร็วๆเป็นเวลา 6 นาที โดยไม่พักและไม่มีอาการอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจเหนื่อยหอบ คุณสามารถที่จะมีกิจกรรมทางเพศได้อย่างปลอดภัย
สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีเซ็กซ์ แนะนำว่า ควรมีเมื่อร่างกายและจิตใจพร้อม ควรเลือกท่าที่ไม่ใช้แรงมาก เช่น ตะแคงเข้าหากัน หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่ด้านล่าง ไม่ควรตื่นเต้นมาก หรือพลิกแพลงท่า จนต้องออกแรงมาก จากงานวิจัยพบว่า คนที่หัวใจวายจนเสียชีวิตขณะมีเซ็กซ์ มักจะมีเซ็กซ์กับหญิงคนอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตนเอง เมื่อมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยขณะมีเซ็กซ์ควรหยุด และหากยังไม่หายควรรีบปรึกษาแพทย์
นพ.ปัญเกียรติ กล่าวต่อว่า ข้อหลีกเลี่ยงก่อนการมีเพศสัมพันธ์สำหรับผู้ป่วยหัวใจ ควรงดอาหารมื้อหนัก โดยเฉพาะงานเลี้ยงที่มีการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือหากต้องการหลังมื้ออาหารควรรอเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง อย่ามีเพศสัมพันธ์หลังออกกำลังกายมาจนเหนื่อยหรือมีความเครียดมาก่อน หลีกเลี่ยงการร่วมเพศกับบุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรสหรือคู่ขาที่มีอายุแตกต่างกันมากๆ อย่าร่วมเพศในท่าผิดธรรมชาติ เช่น ท่าทางทวารหนัก จะเพิ่มความเครียด ความตื่นเต้นแก่หัวใจมากเกินไป รวมถึงความรีบร้อนบรรยากาศไม่ดี สถานที่ไม่ดี อุณหภูมิร้อน หรือหนาวเกินไป
นพ.ปัญเกียรติ กล่าวถึงความผิดปกติของผู้ป่วยหัวใจระหว่างหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ว่า ควรมีการสังเกตอาการของตนเองขณะหรือหลังการร่วมเพศ แล้วแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อช่วยเหลือ ป้องกันอาการผิดปกติที่อาจก่อให้เกิดอันตราย
ซึ่งอาการดังต่อไปนี้มักเกิดหลังการร่วมเพศใหม่ๆ
1.หัวใจเต้นเร็ว หรือรู้สึกใจสั่นอยู่นานกว่า 10 นาที
2.หายใจหอบเร็ว หรือหายใจลำบาก อยู่นานกว่า 10 นาที
3.มีอาการเจ็บแน่นกลางอกเหมือนอย่างที่เคยเป็น พักแล้วอาการไม่ดีขึ้น
4.นอนหงายไม่ได้ เพราะมีอาการต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น
5.อ่อนเพลียมาก เวียนหัวจะเป็นลม เหงื่อออกมาก ตัวชื้น เป็นต้น
สำหรับข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการผิดปกติ นพ.ปัญเกียรติ แนะนำว่า ผู้ป่วยควรนอนพักอยู่กับเตียงอย่ารีบลุกเดินหรือถ้าจำเป็นก็ค่อยๆเคลื่อนไหว หากพอจะมีออกซิเจนอยู่กับบ้านก็ใช้ดมทันที ควรใช้ยาอมใต้ลิ้น หรือยาพ่นใต้ลิ้น และนอนพัก แต่หากอาการต่างๆเหล่านั้นไม่ดีขึ้น ควรอมหรือพ่นยาซ้ำอีกครั้งในทุก 5-10 นาที แต่หากดมหรือพ่นยาซ้ำแล้วติดกัน 2-3 ครั้งไม่ดีขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาล ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ที่รักษาโรคเพื่อขอคำแนะนำทันที