รู้ทัน 'โรคภูมิแพ้เรื้อรัง'
แพทย์ แนะวิธีปรับพฤติกรรม สร้างความเข้าใจ พร้อมแนวทางการป้องกันและแนวทางรักษาโรคภูมิแพ้เรื้อรัง โรคฮิตของคนเมือง
แพทย์ แนะวิธีปรับพฤติกรรม สร้างความเข้าใจ พร้อมแนวทางการป้องกันและแนวทางรักษาโรคภูมิแพ้เรื้อรัง โรคฮิตของคนเมือง
พญ. เอวริน ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ ศูนย์ภูมิแพ้และหอบหืดกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย โดยในปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีคน ไทยมากกว่า 18 ล้านคนเป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งในจำนวนนี้ กว่า 10 ล้านคนเป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก โดย 20% พบในผู้ใหญ่ และ 40% พบในเด็ก ส่วนอีกกว่า 5 ล้านคนเป็นโรคหืด โดยโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดขึ้นจาก การที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้บางอย่าง และภูมิต้านทานผู้นั้นตอบสนองผิดไปจากคนทั่วไป ทำให้เกิดโรคและอาการต่าง ๆ ขึ้น เช่น คนทั่วไปที่สูดฝุ่นละอองภายในบ้าน ซึ่งมีไรฝุ่นจะไม่เกิดอาการผิดปกติ
แต่ถ้าผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น สูดเอาฝุ่นละอองเข้าไปจะเกิดอาการน้ำมูกไหล คันจมูก คันตา หรือมีอาการหอบเกิดขึ้น ซึ่งการที่พบโรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจเพิ่มขึ้นในประเทศไทยเพราะวิถีของคนไทยเปลี่ยน ไป จากการอยู่อาศัยตามไร่นา พบปะกับเชื้อโรคในดิน คอกสัตว์ ทำให้ภูมิต้านทานแข็งแรงเปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น อยู่ในเมือง มีสุขอนามัยที่ดีทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ เพดานเตี้ย ใช้พรมซึ่งเป็น แหล่งสะสมไรฝุ่น เลี้ยงสุนัข แมวในบ้าน ทำให้พบปะกับสารก่อภูมิแพ้มากขึ้น ปัจจัยอื่นมาร่วมด้วย เช่น มลพิษในอากาศ ฝุ่นละอองตามถนน ควันจากท่อรถยนต์ และจากโรงงานอุตสาหกรรม และควันบุหรี่ ล้วนเป็นปัจจัยทำให้อุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้ในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น
โรคภูมิแพ้มีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ กรรมพันธุ์ ซึ่งโรคภูมิแพ้หลายโรคจะเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้ามีพันธุกรรม เช่น โรคหืด โรคแพ้อากาศ และผื่นภูมิแพ้ในเด็ก ยิ่งถ้ามีประวัติว่าทั้งพ่อและแม่เป็น จะยิ่งมีโอกาส มากกว่าพ่อหรือแม่เป็นฝ่ายเดียว โรคภูมิแพ้บางอย่าง สาเหตุจากพันธุกรรมไม่ค่อยเป็นปัจจัยสำคัญมากนัก เช่น ลมพิษ แพ้อาหาร แพ้ยา หรือแพ้จากการสัมผัส เช่น แพ้เครื่องประดับ แพ้เครื่องสำอาง เป็นต้น
ปัจจัยที่ 2 คือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมาก เพราะสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้าร่างกายเราเกิดจากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ไม่ว่าสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าร่างกายโดยการหายใจ หรือจากการรับประทาน หรือจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้บางอย่างสังเกตได้ง่าย เช่น อาหาร หลังจากการรับประทานอาหารทะเล อาจเป็นลมพิษภายในเวลาครึ่งชั่วโมง หรือกินยาแล้วมีผื่นขึ้น ผู้ป่วยกวาดบ้าน เล่นกับแมว หรือสุนัขแล้วเกิดอาการจาม คัดจมูกหรือหอบ สารก่อภูมิแพ้บางอย่างสังเกตได้ยาก เพราะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น เกสรหรือเชื้อราในอากาศ หรือไรฝุ่นในบ้าน ซึ่งมีมากตามที่นอน หมอน โซฟา ห้องรับแขก พรม ฯลฯ นอกจากนี้สารระคายเคืองยังมีปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อากาศหนาว อากาศเปลี่ยน มลพิษในอากาศจากควันรถ ควันโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นละอองตามท้องถนน ภายในบ้าน หรือในสำนักงาน ก็มีควันบุหรี่ กลิ่นฉุนจากน้ำหอม สเปรย์ฉีดผม หรือน้ำยาทำความสะอาดเป็นตัวการสำคัญ
แพทย์ชี้ว่าสารก่อภูมิแพ้ 5 อย่างที่พบบ่อย ได้แก่ ไรฝุ่น, แมลงสาบ เศษโปรตีนจากไรฝุ่นและแมลงสาบที่หลุดจากเปลือกหุ้มรอบตัว ลำตัว ขา น้ำลาย และอุจจาระ ล้วนเป็นสารก่อภูมิแพ้ เมื่อได้รับโปรตีนเหล่านี้เข้าไปจะทำให้อาการกำเริบได้ เกสรหญ้า เนื่องจากละอองเกสรมีขนาดเล็กมากจึงปลิวไปตามลมได้หลายกิโลเมตร และพบว่ามีทั่วไปในอากาศ เชื้อรา ซึ่งชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่เรียกว่า สปอร์ แพร่กระจายในอากาศ และ เข้ามาในเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ที่แพ้ อาจทำให้เกิดโรคแพ้อากาศ หรือโรคหืดได้ และสัตว์เลี้ยงเช่น สุนัข แมว ซึ่งกระตุ้นจากการสัมผัส การสูดหายใจเอาขน หรือรังแคของสัตว์เหล่านี้เข้าไป หากมีอาการบ่งชี้ 3 ข้อคือ เป็นหวัด คัดจมูกเรื้อรัง นานกว่า 1เดือน ไอ หอบ หรือหายใจมีเสียง เรื้อรังนานกว่า 1เดือน หรือเป็นผื่นคันเรื้อรังนานกว่า 1เดือน ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
โดยแพทย์จะทำการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ แบบ Skin Test ซึ่งเป็นการทดสอบทางผิวหนัง ว่ามีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ตัวใด อันเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ซึ่งจะทดสอบตัวใดบ้างนั้นขึ้นอยู่กับแพทย์จะ เป็นผู้พิจารณาตามประวัติความเจ็บป่วย เพื่อให้ทราบว่า แพ้สารก่อภูมิแพ้ตัวไหน จะได้หลีกเลี่ยงและจัดการกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นต้นเหตุของโรคภูมิแพ้และหอบหืดได้อย่างถูกต้อง ควบคู่ไปกับการรักษาทางยา การทดสอบสารก่อภูมิแพ้ แบบ Skin Test เป็นการทดสอบโดยแพทย์จะทำการหยดน้ำยาที่ต้องการจะทดสอบประมาณ 10-20 จุด ลงบนแขนด้านใน แล้วใช้ปลายเข็มสะกิดเพื่อให้น้ำยาซึมผ่านลงใต้ชั้นผิวหนัง ทิ้ง ไว้ประมาณ 15 นาที การสะกิดนั้นจะไม่มีบาดแผลใด ๆ หากมีการแพ้เกิดขึ้น บริเวณที่สะกิดจะบวมนูน-แดง-คัน คล้ายตุ่มยุงกัด จะมีโอกาสแพ้มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของตุ่มที่บวม เมื่อทราบสาเหตุของ ภูมิแพ้ แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการให้ยากิน การปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นภูมิแพ้ หรืออาจใช้วิธีการรักษาใหม่ ด้วยวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้
รูปแบบการรักษาโรคภูมิแพ้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการภูมิแพ้ที่เป็น โดยขั้นต้นวินิจฉัยว่าถ้าผู้ป่วยมีอาการเป็นนานๆ ครั้ง ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน สามารถรักษาได้โดยการกินยาแก้แพ้ ยาลดอาการคัดจมูก เฉพาะเวลาที่มีอาการ ขั้นที่ 2 มีอาการบ่อยขึ้นหรือเกือบทุกวัน ต้องกินยาบ่อยมาก จะให้รักษาโดยการใช้ยาพ่นจมูกที่มีสเตียรอยด์ร่วมด้วย หรือใช้น้ำเกลือล้างจมูกเสริม สามารถหยุดการใช้ยาเป็นช่วงๆ ได้ ขั้นที่ 3 คือมีอาการแบบไม่สามารถหยุดใช้ยาได้ ต้องใช้ยาเพื่อระงับอาการอยู่ตลอด ในคนไข้กลุ่มนี้ แพทย์จะพิจารณาการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ให้กับผู้ป่วย ซึ่งวัคซีนภูมิแพ้นั้น เป็นวิธีการรักษาโดยการฉีดสารที่ก่อภูมิแพ้เข้าใต้ ผิวหนัง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการทนต่อสิ่งที่แพ้ได้ดีขึ้น โดยการเริ่มจากปริมาณวัคซีนขนาดน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มปริมาณวัคซีนทีละน้อย ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยจะสามารถทนต่อสิ่งที่แพ้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้เคียง คนปกติมากที่สุด ซึ่งโรคภูมิแพ้ที่เหมาะกับการฉีดวัคซีน เช่น เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ มีอาการคันตา เคืองตา น้ำตาไหล ตาสู้แสงไม่ได้ โรคหอบหืดที่มีสาเหตุจากภูมิแพ้ที่สามารถควบ คุมอาการของโรคได้ดีแล้ว โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง ฯลฯ โดยสารภูมิแพ้ที่ใช้ฉีดบ่อยๆ เช่น ไรฝุ่น, แมลงสาบ, เกสรหญ้า, ขนแมวและเชื้อรา
การรักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป แพทย์ต้องทำ skin test เพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ในผู้ป่วยรายนั้นๆ และดูความรุนแรงของการแพ้ก่อน แล้วจึงฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่ตรวจ พบในผู้ป่วยรายนั้นๆ เข้าใต้ผิวหนัง บริเวณต้นแขน ในระยะ 6 เดือนแรก จะฉีดสัปดาห์ละครั้งโดยประมาณ สามารถฉีดคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย และจะปรับปริมาณวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และฉีดห่างขึ้นเป็น2 สัปดาห์/ครั้ง, 3 สัปดาห์/ครั้ง และ 4 สัปดาห์/ครั้ง โดยแพทย์จะเพิ่มปริมาณวัคซีนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยทนต่อสิ่งที่แพ้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ อาการภูมิแพ้ที่เคยเป็นจึงมีลดลง หรืออาจไม่แสดงอาการเลย ระยะเวลาที่ฉีด โดยประมาณ 3-5 ปี เพื่อให้ผลของการทนต่อสารภูมิแพ้ของผู้ป่วยอยู่ยาวนานต่อไปอีกหลายๆ ปี หลังจากหยุดฉีดวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีนนั้น จะช่วยให้ผู้ป่วยทนต่อสารก่อภูมิแพ้ในสภาพแวดล้อมได้ดีมาก จนอาจไม่แสดงอาการเลย ไม่ต้องใช้ยา ซึ่งให้ผลลัพธ์สูงถึง 80-90% ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากบางภาวะที่ร่างกายอ่อนเพลีย อดนอน หรือเจอกับสารก่อภูมิแพ้ที่มากกว่าในภาวะปกติ เช่น ในรายที่แพ้ไร ฝุ่น แล้วทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ อาจเกิดอาการแพ้ขึ้นมาในช่วงสั้นๆ ก็ใช้ยาแก้แพ้ช่วยในช่วงระยะนั้น
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนภูมิแพ้มีโอกาสเกิดการแพ้ชนิดรุนแรงได้ ซึ่งอาการจะคล้ายกับคนที่แพ้อาหารหรือแพ้ยาฉีดชนิดรุนแรง มีอาการเช่น ผื่นคันลมพิษ คันคอ ไอ หายใจอึดอัด หอบ คันตา อาเจียน ปวดท้อง ซึ่งมักเกิดขึ้นภายใน ครึ่งถึง 1 ชั่วโมงหลังฉีดยา ดังนั้นหลังฉีดยา ผู้ป่วยควรนั่งพักรอดูอาการก่อน เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาได้ถ้าเกิดอาการแพ้ขึ้น ถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำจะมีโอกาสของการเกิดแพ้ยาชนิด รุนแรงน้อยมาก และไม่ควรฉีดวัคซีนในขณะที่ร่างกายอ่อนเพลีย ป่วยหรืออดนอน หลังฉีดวัคซีน 2 ชั่วโมง ไม่ควรไปออกกำลังกายหนักๆ ในระหว่างที่ฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ผู้ป่วยควรต้องจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้ มีสารก่อภูมิแพ้ให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ ใช้ผ้าปูที่นอนกันไรฝุ่น ดูแลทำความสะอาดอยู่เสมอ และควรออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง