สมิติเวชใช้เทคนิคกล้องESD ตัดติ่งเนื้อออกจากลำไส้ใหญ่ ไร้แผล
สมิติเวชใช้เทคนิคกล้อง ESD จากรพ.ซาโน ประเทศญี่ปุ่น ตัดติ่งเนื้อขนาดใหญ่ออกจากลำไส้ใหญ่-กระเพาะอาหาร ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบเดิม ไร้แผล ลดค่าใช้จ่าย ฟื้นตัวเร็ง ลดระยะเวลานอนพักที่โรงพยาบาล เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
พญ.ปิตุลักษณ์ อัศวกุล แพทย์ทางอายุรกรรมทางเดินอาหาร รพ.สมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า รพ.สมิติเวช สุขุมวิทได้มีความร่วมมือกับรพ.ซาโน ประเทศญี่ปุ่นในการถ่ายทอดเทคนิคการส่องกล้องตัดติ่งเนื้อขนาดใหญ่จากลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารผ่านกล้อง ESD(Endoscopic Submucosal Dissection) ซึ่งจะเป็นเหมือนการฝานเอาผิวของตัวเยื่อบุลำไส้ที่เป็นติ่งเนื้อออก ไม่ทำให้ลำไส้ทะลุ โดยการตัดติ่งเนื้อจะใช้มีดขนาดเล็กๆเข้าไปในช่องที่ใส่อุปกรณ์ ฉีดสารน้ำช่วยให้ผิวของเยื่อบุนูนขึ้นให้มีช่องสำหรับเอามีดเข้าไปค่อยๆฝานตัดจนกระทั่งหลุดออกมาเป็นชิ้นเดียว ขณะที่การตัดติ่งเนื้อแบบเดิมจะใช้ขดลวดในการตัดสามารถตัดติ่งเนื้อใหญ่สุดได้เพียง 3 เซนติเมตรเท่านั้น แต่เทคนิคESDสามารถตัดติ่งเนื้อได้ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่เท่าวงรอบลำไส้ได้
“ เทคนิคนี้ทำให้โอกาสที่จะส่งคนไข้ไปผ่าตัดใหญ่เอาติ่งเนื้อออกก็จะลดลง ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการฝานติ่งเนื้อด้วยเทคนิคESD ขึ้นอยู่กับขนาดของติ่งเนื้อ เช่น ติ่งเนื้อขนาด 2 เซนติเมตรใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และความยากง่ายของผู้ป่วยแต่ละกรณีจะไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ใช้ได้เฉพาะในกรณีที่ต้องเป็นติ่งเนื้อหรือมะเร็งในระยะต้นๆที่อยู่ในระดับเยื่อบุเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่าหากเป็นมะเร็งลำไส้ระยะ 0 เมื่อตัดฝานเรียบร้อยแล้ว คนไข้สามารถที่จะหายได้เกือบจะ 100 % ดังนั้น การใช้เทคนิคESD เข้ามาเสริมจะช่วยให้คนไข้ไม่ต้องไปผ่าตัดใหญ่ ค่าใช้จ่ายลดลง และระยะเวลาการนอนรพ.สั้นลง”พญ.ปิตุลักษณ์กล่าว
นพ.สุรศักดิ์ เอกพงศ์ไพสิฐ อายุกรรมสาขาโรคระบบทางเดินอาหารและตับ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท กล่าวเสริมว่า ปัญหาของการตัดติ่งเนื้อแบบเดิม คือ ตัดออกได้ไม่หมดทำให้เมื่อมีการติดตามคนไข้ต่อเนื่องจะพบติ่งเนื้อเกิดขึ้นใหม่ แต่เทคนิคESD จะช่วยหลีกเลี่ยงคนไข้ที่จะต้องไปตัดลำไส้ออก และสามารถตัดติ่งเนื้อออกได้ทั้งหมด โอกาสกำเริบก็จะน้อยลง นอกจากนี้ การตัดติ่งเนื้อแบบเดิม หากพบติ่งเนื้อขนาด 3 เซนติเมตร เมื่อต้องตัดออกไม่ใช่ตัดแค่ 4 เซนติเมตร เพราะตำแหน่งของติ่งเนื้อสัมพันธ์กับการจะตัด เพราะการตัดลำไส้ต้องตัดตามแนวของเส้นเลือด บางคนต้องตัดทั้งวงลำไส้ด้านที่เจอติ่งเนื้อออกไป ทำให้ลำไส้สั้นลง เป็นการรบกวนการทำงานของลำไส้ ส่วนเทคนิคESD ไม่ได้รบกวนการทำงานของลำไส้เพราะจะเลาะเฉพาะด้านบนเท่านั้น
ศ.นพ.ยาซูชิ ซาโน่ ผู้อำนวยการ รพ.ซาโน ประเทศญี่ปุ่น และผู้อำนวยการสถาบันการผ่าตัดส่องกล้อง กล่าวว่า สมิติเวชมีชื่อเสียงมากและเป็นหนึ่งในรพ.เอกชนที่ชาวญี่ปุ่นให้ความเชื่อถือและใช้บริการมาก จากความร่วมือในปีทีผ่านมา ได้นำความรู้ด้านการผ่าตัดส่องกล้องเข้ามาเพื่อช่วยให้สถาบันโรคตับและทางเดินอาหารสมิติเวชสามารถให้บริการและช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งมีอาการหรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับตับและทางเดินอาหารได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย เชื่อว่าจะช่วยให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้นและช่วยให้ความอุ่นใจกับผู้ป่วยชาวญี่ปุ่น ชาวไทยและชาวต่างประเทศ