ยันปรับปรุง 'ตึกตู้ปลา' เป็นไปตามกติกา ไม่ทุจริต
พาณิชยศาสตร์และบัญชี มธ.ยันปรับปรุง "ตึกตู้ปลา" ไม่มีทุจริต เป็นไปตามกฎกติกา ชี้แจ้งทำความเข้าใจกับประชาคมมธ.มาตลอด ระบุเอกชนเข้ามาช่วยจัดการพื้นที่ชั้นล่าง เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาไม่ใช่พื้นที่ธุรกิจ
จากกรณีกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) จำนวนหนึ่งได้ออกมาคัดค้านการปรับปรุงตึกตู้ปลาของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ท่าพระจันทร์ เนื่องจากการรื้อถอนพื้นที่ส่วนสำนักงานในชั้น 1 ของ ‘ตึกตู้ปลา’ ของมหาวิทยาลัย โดยผู้บริหารให้ธนาคารไทยพาณิชย์และร้านกาแฟชื่อดังเข้ามาใช้พื้นที่ โดยไม่ได้ชี้แจงถึงรายละเอียด
วันนี้ (18 ก.พ.62 )ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีตึกตู้ปลา โดยมีรศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.กล่าวว่า การปรับปรุงตึกตู้ปลาที่ท่าพระจันทร์ เป็นไปตามนโยบายของคณะ ในการสร้าง TBSStartup Ecosystems โดยจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่ส่วนล่างของตึกให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพราะขณะนี้ นักศึกษาต้องไปอาศัยการทำงานในสถานที่ต่างๆ เช่นร้านกาแฟนอกมหาวิทยาลัย หรือต้องทำตามระเบียง ริมทางเดิน ต้องประสบกับปัญหาไม่มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำงานร่วมกัน ทั้งที่การเรียนรูปแบบใหม่ต้องให้นักศึกษาเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ และตามแนวทางการสร้างผู้ประกอบการ ดังนั้น การที่คณะได้ปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างตึกตู้ปลาในครั้งนี้ จะเป็นการคืนพื้นที่ให้นักศึกษา ด้วยการสร้าง iLab และ iSpac เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันประมาณ 1,120 ตารางเมตร ให้นักศึกษาได้ใช้พื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้อย่างเต็มที่
รศ.ดร.พิภพ กล่าวต่อว่า สำหรับการอนุมัติงบประมาณ และโครงการดังกล่าวนั้น ที่ผ่านมาได้มีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาคมชาวธรรมศาสตร์ตลอดเวลา เพื่อทำความเข้าใจถึงการดำเนินการและชี้แจงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนการสอนสมัยใหม่ และเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ของนักศึกษา อีกทั้งได้ชี้แจงถึงกระบวนการในแต่ละขั้นตอน แต่ยอมรับว่าการรับฟังแต่ละครั้งมีข้อคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้ได้ใช้เวลากว่า 2 ปีถึงจะได้ข้อสรุปและดำเนินการ ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร นำพาคณะและมหาวิทยาลัยไปข้างหน้า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเชื่อว่าฟังมากเพียงพอ แต่คงจะไม่ถูกใจทุกคน ดังนั้น จะขอยึดตามประโยชน์ของนักศึกษา ผู้เรียน ผู้ที่จะเข้ามาอบรมกับคณะ และการทำงานร่วมกับชุมชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ สำหรับการปรับปรุงพื้นที่ข้างล่างตึกตู้ปลานั้น จะปรับพื้นที่กว่า 800 ตร.ม. เป็นที่นั่ง 300 ที่นั่ง มีห้องประชุม 5 ห้องใหญ่ รองรับได้ห้องละ 12 คน และห้องประชุมย่อย 9 ห้อง รองรับได้ห้องละ 6คน มีพื้นที่กิจกรรมให้นักศึกษาได้ทำงานกลุ่ม งานเดี่ยวโดยยุงไม่กัด ไฟไม่ปิดอย่างที่ผ่านมา หรือจะซ้อมพรีเซนท์ด้วยอุปกรณ์ที่ครบครัน และพื้นที่ติวหนังสือ อ่านหนังสือ ไม่ต้องระเห็จไปไกล โดยการใช้งานในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน หรือ 24 ชั่วโมง ภายใต้ระบบความปลอดภัยสแกนคนเข้าออก และมีกล้องวงจรปิดทุกตารางนิ้ว เพื่อความปลอดภัยของนักศึกษา ฉะนั้น พื้นที่ที่ปรับปรุงเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ทำกิจกรรมของนักศึกษา พื้นที่ทำธุรกิจมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเมื่อภาคเอกชนเข้ามาช่วยการบริหารจัดการในพื้นที่ส่วนชั้นล่าง สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของคณะลงได้ และทำให้การปรับปรุงตึกตู้ปลาครั้งนี้ ใช้งบประมาณเพียง 28 ล้านบาท เท่านั้น ส่วนงบของภาคเอกชนไม่สามารถระบุได้ เพราะไม่ทราบ ภาคเอกชนดำเนินการเองทั้งหมด คณะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องของงบในการดำเนินการของภาคเอกชน
“เรายืนยันว่าไม่มีการรับเงินรับทอง ไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกการปรับเปลี่ยนพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาเป็นหลัก ขณะเดียวมธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่มีกฎกติกา มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน ซึ่งเมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องนี้ ก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาทันที โดยตั้งเมื่อประมาณวันที่ 11 ก.พ.2562 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิคณะนิติศาสตร์เป็นกรรมการตรวจสอบ เพราะต่อให้ไม่มีการทุจริต การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง ตั้งแต่การขออนุมัติการปรับปรุงจากคระกรรมการที่เกี่ยวข้องทุกชุด ทั้งในระดับคณะ และมหาวิทยาลัย เมื่อได้รับอนุมัติก็มีการประชุมกับประชาคมมากกว่า 8 ครั้ง รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แต่เมื่อมีข้อร้องเรียนก็พร้อมให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะออกมาในรูปแบบใด ก็คงไม่กระทบต่อโครงการดังกล่าว ” คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.กล่าว และว่า
อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงตึกตู้ปลาครั้งนี้ อยากให้คิดถึงอนาคต นักศึกษาต้องถูกปลูกฝังในรูปแบบใหม่ สิ่งที่พวกเขาเรียนในห้องเรียนอาจไม่เพียงพอ ต้องมีเทคโนโลยีจากภายนอก และพันธมิตรที่มาช่วยปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่าง เพื่อเป็นพื้นที่เอื้อต่อประโยชน์ของนักศึกษา อยากให้มองข้ามความเป็นตึกแต่ให้มองว่าเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของนักศึกษา
รศ.ดร.พิภพ กล่าวต่อไปว่า พันธมิตรของคณะในโครงการนี้ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB และToo fast to sleep โดยทั้งสององค์กรเข้ามาช่วยปรับปรุงพื้นที่ให้กว่า 1,000 ตร.ม. โดยคณะให้ SCB เช่าพื้นที่ประมาณ 30 ตร.ม. เพื่อให้บริการนักศึกษาและบุคลากร และอีก 20 ตร.ม. สำหรับ Too fast to sleep เพื่อให้บริการธุรกิจธรรมศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็มีการดำเนินการในเรื่องเช่นนี้ เป็นความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาและมหาวิทยาลัย
“ที่มีการกล่าวอ้างเรื่องการนำที่ราชพัสดุมายกให้เอกชนนั้น ก็ไม่มีมูลทั้งสิ้น เรื่องนี้เป็นการปรับปรุงจัดการพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 14(10) ของพ.ร.บ. ซึ่งมีข้อบังคับกำหนดวิธีดำเนินการชัดเจน และมีคณะกรรมการที่ราชพัสดุรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ เรื่องนี้ไม่มีประเด็นผิดกฎหมายใดๆ โดยเด็ดขาด”รศ.ดร.พิภพ กล่าว
คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กล่าวอีกว่าสาเหตุที่ทำให้โครงการนี้กลายเป็นกระแส เนื่องจากเป็นการมองคนละมุม ซึ่งอาจารย์ที่ออกมาร้องเรียนมองเรื่องตึก เรื่องทรัพย์สินเป็นสำคัญ แต่ผู้บริหารเน้นการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่มากกว่า ซึ่งก็ทำให้เกิดความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ทีมบริหารก็จะเดินหน้าทำเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาต่อไป
รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า การจะดำเนินการใดๆ ของฝ่ายบริหาร นั้น จะไม่ให้ประชาคมรับรู้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะธรรมชาติของมธ.เรื่องเสรีภาพและการเปิดให้ประชาคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การจะทำอะไรโดยพลการจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งกว่าจะได้ข้อสรุป มีการปรับแก้ตลอดเวลา เพราะถ้าประชาคมไม่เห็นด้วยก็ต้องปรับแก้ แต่การประชุมอาจารย์แต่ละครั้งจะหาข้อสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวที่บอกว่าประชาคมไม่รับทราบนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีการดำเนินการเป็นขั้นตอน และทำอย่างโปร่งใสชัดเจน โปรเจคใหญ่ขนาดนี้คงไม่สามารถแอบทำได้ แต่เพียงข้อสรุปอาจจะไม่ถูกใจประชาคม และที่กล่าวว่าเป็นการกระทำโดยอย่างรวดเร็วเกินวิสัยธรรมดานั้น คงไม่ใช่ เพราะที่เลือกดำเนินการใน พ.ค. นั้นคำนึงไม่ให้กระทบต่อการเรียนการสอนของนักศึกษา ทั้งเรื่องเสียง ฝุ่น การเข้าออกของรถที่ต้องขนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนกรณีที่ไม่ได้เปิดให้มีการประมูล ต้องขอชี้แจงว่า พื้นที่ของคณะไม่ใช่พื้นที่พาณิชย์ แต่ก่อนจะตัดสินใจเลือกพันธมิตรได้มีการพูดคุยหารือกับหลายๆ แห่ง เพื่อให้ได้พันธมิตรที่เข้าใจตรงกันว่าพื้นที่ดังกล่าว ไม่ใช่พื้นที่การค้า แต่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ ต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม พร้อมถ่ายทอดให้นักศึกษา ซึ่งพันธมิตรทั้ง 2 แห่งก็มีเจตนาที่ดี ทำประโยชน์เพื่อนักศึกษา
ด้าน ผศ.อานนท์ มาเม้า ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มธ. กล่าวว่า ที่ดินใน มธ.ท่าพระจันทร์ ถือเป็นที่ราชพัสดุอยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์ แต่ก็มีข้อยกเว้นว่ากฎหมายอาจกำหนดให้หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐอื่นๆสามารถจัดการดูแลได้ ซึ่งในพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558 มาตรา 14 (10) ระบุว่าให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจปกครอง ดูแล บำรุงรักษา จัดการ ใช้และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยและที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ เพราะฉะนั้น มธ.จึงสามารถใช้สอยพื้นที่ราชพัสุดได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตกรมธนารักษ์ก่อนเป็นคราวๆไป ภายในกรอบการบริการต่อการศึกษาหรือเรื่องเกี่ยวเนื่อง เช่น เพื่อประโยชน์ต่อนักศึกษา บุคลากร เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีของคณะพาณิชย์ฯที่ตกลงกับภาคเอกชนมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของคณะนั้นก็เป็นอำนาจของมหาวิทยาลัย ผ่านการกลั่นกรองให้ความเห็นชอบโดยคณะกรรมการจัดหารายได้และผลประโยชน์ในพื้นที่ราชพัสดุของ มธ.แล้วตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.2561
"ในฐานะส่วนกลางรับผิดชอบกฎหมายและข้อร้องเรียนต่างๆ ปัจจุบันการปรับปรุงตึกของคณะพาณิชย์ก็ได้รับข้อร้องเรียนทั้งจากผู้บริหารและคณาจารย์คณะพาณิชย์ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ความจริง และรักษาธรรมาภิบาลของมหาวิทยา โดยกรรมการเป็นผู้คุณวุฒิและเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียแต่อย่างใด"ผศ.ดร.อานนท์ กล่าว