คนเลี้ยงช้างในประเทศไทยรวมตัวแถลงข่าว ตอบโต้สื่อนอก หลังถูกตีข่าวทรมานช้าง ชวนนักท่องเที่ยวคว่ำบาตรเที่ยวช้างไทย ด้านประธานปางช้างแม่แตง เตรียมฟ้องกลับสื่อแดนกีวี -ททท. หลังออกข่าวทำการท่องเที่ยวเสียหาย
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ดร.บุญทา ชัยเลิศ ประธานบริหารปางช้างแม่แตง ได้แถลงข่าวกับสื่อมวล ตอบโต้กรณีที่สื่อต่างประเทศคือนิวซีแลนด์ เฮรัลด์ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนในประเทศนิวซีแลนด์ มีการนำภาพของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียชื่อว่าอาบัง ดา บา ที่เป็นภาพของหัวช้างที่มีแผลเหวะหวะที่เกิดจากการใช้ตะขอของควานช้าง ที่แชร์ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว นำไปเสนอข่าวพร้อมระบุให้นักท่องเที่ยวคว่ำบาตรปางช้างในประเทศไทย
ดร.บุญทา กล่าวว่า ในขณะนี้ปางช้างและคนเลี้ยงช้างในประเทศไทย กำลังได้ความเดือดร้อนจากข่าวที่มีการนำเสนอไป ซึ่งเป็นการทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของ ประเทศไทยและปางช้าง โดยการใช้ตะขอไม่ใช่การทรมานช้างแต่อย่างใด แต่เป็นการฝึกช้าง ไม่ใช่การใช้ความรุนแรงและการฝึกแบบนี้ก็ฝึกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งต่างชาติไม่เข้าใจจุดนี้
ขณะนี้คนเลี้ยงช้าง ปางช้างต่างๆ ในไทยได้รวมตัวกันเพื่อฟ้องกลับสื่อต่างชาติดังกล่าว และสื่อไทยที่มีการนำเสนอข่าว พร้อมเตรียมฟ้อง รองผอ.ททท. ที่มีการไปให้สัมภาษณ์ เพราะไม่ได้ปกป้องการท่องเที่ยวแต่เป็นการทำลาย ตนอยากจะขอถามททท. ทุกวันนี้ได้ช่วยอะไรทางกลุ่มผู้เลี้ยงช้างบ้าง มีแต่มาขอความช่วยเหลือ เราก็ช่วยเต็มที่ พอเกิดปัญหากลับไม่ปกป้องหรือชอธิบายให้ต่างชาติฟัง เจอแบบนี้พวกเราก็น้อยใจและพวกเราพร้อมดำเนินการทุกอย่างเพื่อตอบโต้
ด้านนายทองเหรียญ มีพันธุ์ ประธานมูลนิธิพระคชบาล กล่าวว่า ข่าวแบบนี้มีมาประจำ ตั้งแต่ผมเข้าวงการมา ผมคิดว่าการที่เขาไม่ได้มาอยู่กับสัตว์จริงๆหรือมาเลี้ยงช้างจริงๆ อาจทำให้เขาเข้าใจผิดได้ ช้างไทยเป็นสัตว์สงคราม เราพึ่งจะพ้นจากช้างขอทานมาแล้ว 4 ปีทุกวันนี้ไม่มีช้างขอทานแล้ว ตลอด 4 ปีเราได้สะสมความแข็งแรงของปางช้างต่างๆ และวางระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ไปข้างหน้า ฝรั่งไม่ต้องสอนเพราะคนไทยรักช้างอยู่แล้ว และเรามีเป้าหมายที่ดีต่อช้างอยู่แล้ว โดยเฉพาะการควบคุมการทำงาน เศรษฐกิจต่างหากที่บีบให้เราเป็นแบบนี้ เราอยากจะเลี้ยงช้าง ให้เหมือนเลี้ยงสุนัข เราอยากจะเข้าไปกอดช้าง แต่ช้างบางเชือกไม่ใช่แบบนั้น ช้างบางเชือกก็ทำแบบนั้นไม่ได้ ทุกวันนี้รัฐก็ไม่ได้ช่วย เราดิ้นรนกันมาเอง 20 กว่าปี
“การเลี้ยงช้างเหมือนอยู่ในห้องเรียนห้องนึง ช้างแต่ละเชือกไม่เหมือนกัน จะให้เหมือนโรงเรียนดังๆที่คัดแต่เด็กเก่งๆไปสอนมันก็ง่าย แต่โรงเรียนที่ไม่มีโอกาสคัดต้องสอนเด็กไม่เก่ง ช้างช่วงแก่ๆ ก็จะเป็นช้างที่สอนยากอาจต้องมีใช้ตะขอ แต่ช้างรุ่นใหม่ๆที่เกิดในคอก ในปางช้างเราก็สอนมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ตะขอ อนาคตการใช้ขอก็จะหมดไปหากช้างรุ่นเก่าๆผ่านไป”นายทองเหรียญ มีพันธุ์ กล่าว