ชี้ไทยลงทุนกับการศึกษามาก แต่ขาดคุณภาพ แนะเน้นสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์

ชี้ไทยลงทุนกับการศึกษามาก แต่ขาดคุณภาพ แนะเน้นสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์

​ชี้ ประเทศไทยลงทุนกับการศึกษาเยอะแต่ยังให้บริการการศึกษาไม่ทั่วถึง พบปัญหาความยากจน สังคม และคุณภาพสู้ต่างประเทศไม่ได้ วิธีการสอน หลักสูตร แม้จะเขียนดีเน้นวิเคราะห์ แต่ประเมินผลสอบยังต้องท่องจำ แนะควรเน้นสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ มากกว่ามนุษย์เศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 6 ส.ค.62 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นรายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี 2561/2562 ซึ่งเป็นการดำเนินการศึกษาต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อศึกษา วิเคราะห์ สภาวการณ์และแนวโน้มการจัดการศึกษาให้สนองความต้องการตามทิศทางการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สมรรถนะการศึกษาเทียบกับต่างประเทศ และสภาพการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของไทยให้สูงขึ้น

​ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวในฐานะประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นรายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี 2561/2562 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ ว่า สังคมยุคปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในทุกด้าน ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งส่งผลต่อการจัดการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หน่วยงานจัดการศึกษาต้องเตรียมศึกษา วิเคราะห์สภาวการณ์และแนวโน้มทางการศึกษาเพื่อสะท้อนให้เห็นความเคลื่อนไหว และสภาพการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งข้อมูลในการพยากรณ์แนวโน้มและทิศทางการจัดการศึกษาในอนาคต

ทั้งนี้ เนื้อหาสาระหลักของรายงานสภาวะการศึกษาไทยฉบับนี้ คือ การสรุปวิเคราะห์ ประเมินการดำเนินการจัดการศึกษาในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันและสมรรถนะทางการศึกษาของไทยในเชิงเปรียบเทียบ บทเรียนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศอื่น แนวทางในการปฏิรูปการศึกษาในด้านครู ผู้บริหาร หลักสูตร วิธีการสอน และวิธีวัดผล รวมถึงโครงสร้างการบริหารจัดการ แนวทางการปฏิรูปการศึกษาในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล การปฏิรูปทางการเมืองและสังคม เพื่อสนับสนุนปฏิรูปการศึกษา เป้าหมายการศึกษาเพื่อชีวิตอยู่ดีมีความสุข

10343779160844

ดร.วิทยากร เชียงกูล ที่ปรึกษาโครงการสภาวะการศึกษาไทย ปี 2561/2562 กล่าวว่า ใจความสำคัญ 8 ด้าน ของรายงานสภาวะการศึกษาไทย ได้แก่ ด้านสภาวะการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยในปี 2561 - ครึ่งปีแรก 2562 คือ ช่วงต่อเนื่องของการปกครองโดยรัฐบาลทหาร ทีมเศรษฐกิจที่เน้นการส่งเสริมการลงทุนและการค้า กระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือน เกิดความเหลื่อมล้ำคนรวยกับคนจน แม้จะมีโครงการแก้ปัญหาคนจนแต่ก็ตาม คนที่มีเงินฝากธนาคาร 10 ล้านบาทขึ้นไป 1 แสนบัญชี คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของบัญชีทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่เด็กและเยาวชนยังมีปัญหา เนื่องจากการเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม ขณะที่การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจการเมืองต้องมองเป็นเรื่องเดียวกัน

สำหรับ ด้านสภาวะการจัดการศึกษาไทย ที่ผ่านมา มีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ประชากรวัยเรียน 3-21 ปี ไม่ได้เรียนกว่าร้อยละ 13 หรือราว 2.08 ล้านคน นักเรียนที่ออกกลางคันช่วง ม.ปลายสูง สัดส่วนเด็กที่ไม่ได้เรียนม.ปลายกว่า ร้อยละ 30 ของประชากรวัยเดียวกัน แม้ว่าการลงทุนด้านการศึกษาจะยังคงสูง ขณะที่แรงงานร้อยละ 45.27 มีการศึกษาแค่ชั้นประถมและต่ำกว่า (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2561) ซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพของแรงงานไทยที่ค่อนข้างต่ำ

ด้านความสามารถในการแข่งขัน และสมรรถนะทางการศึกษาของไทย แม้ไทยจะมีความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่คะแนนโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จาก สถาบัน International Institute for Management Development: IMD พบว่า สมรรถนะการศึกษาไทยอยู่ลำดับที่ 56 จาก 63 ประเทศ รวมถึงผลการทดสอบแบบสุ่มตัวอย่างนักเรียนอายุ 15 ปี ใน 3 วิชา โครงการ PISA ของกลุ่มประเทศ OECD ไทยยังคงได้คะแนนเฉลี่ยและลำดับ 57 จาก 70 ประเทศ (ปี 2558) ขณะที่ การวัดดัชนีพัฒนามนุษย์ United Nations Development Programme : UNDP 2018 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับ 83 จาก 200 ประเทศ

​“นอกจากเศรษฐกิจแล้ว ต้องดูดัชนีการพัฒนามนุษย์และดัชนีการพัฒนาของเด็กและเยาวชนด้วย ซึ่งจากการจัดอันดับของไทยอยู่ที่ 83 แย่กว่าคิวบา ซึ่งยากจนกว่าเรา แต่มีระบบสาธารณสุขดีกว่า ดังนั้น จะมองเพียงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างคนที่มีคุณภาพ”
ดร.วิทยากร กล่าว

10343779291079

​สำหรับ ด้านปัญหาหลักของการศึกษาไทยแบ่งได้ 3 เรื่อง คือ 1. โครงสร้างการบริหารแบบราชการรวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงกลาง ใหญ่โตแต่ขาดประสิทธิภาพ กลายเป็นทำงานเพื่ออำนาจผลประโยชน์ของข้าราชการมากกว่าผลสัมฤทธิ์นักเรียน 2. ครูอาจารย์ได้รับการอบรมมาแบบเก่า จดจำข้อมูลเพื่อสอบ สอนตามหลักสูตรแบบเก่า และ 3. หลักสูตรการเรียนการสอน ควรเปลี่ยนเป็นแนวใหม่ มุ่งให้ผู้เรียนวิเคราะห์เป็น เรียนรู้ด้วยตัวเอง รู้จักแก้ปัญหา ฝึกปฏิบัติ เรียนรู้จากโลกของการทำงานจริง

​“การศึกษาขึ้นอยู่กับครูอาจารย์ ประเทศฟินแลนด์ หรือ สิงคโปร์ ทำไมเขาคัดคนเก่งๆ ไปเรียนครู เพราะเขามองว่าครูสำคัญ เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ไม่ใช่เอาแต่ปริมาณ เพื่อให้เห็นว่าลงทุนเรื่องการศึกษาเยอะ แต่ต้องมีคุณภาพ” ดร.วิทยากร กล่าว

​ด้านบทเรียนการปฏิรูปการศึกษาจากประเทศอื่น ประเทศและเขตเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา เช่น ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ผู้นำและประชาชนให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ มีการกระจายทรัพย์สิน รายได้ เป็นธรรม กระจายทั้งงบประมาณ อำนาจการบริหารจัดการ ความรับผิดชอบไปสู่ท้องถิ่น รวมถึงการฝึกอบรมครู ประเทศญี่ปุ่น ครูใหม่มีครูพี่เลี้ยงดูแล ฝึกการทำงานเป็นทีม ด้านหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผล เน้นการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา เพื่อให้ออกไปทำงานในโลกจริง รวมถึงพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น

​“การสอนเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ถูกละเลย การศึกษาไม่ใช่เพื่อสร้างมนุษย์เศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ต้องเป็นภาพรวมการศึกษาทั้งหมด ไม่ใช่เน้นการทำมาหากินเพียงอย่างเดียว”

​ด้านการปฏิรูปการศึกษาในโลกยุคดิจิทัล สิ่งที่น่ากลัว คือ การสร้างหุ่นยนต์ทำงานแทนคน เกิดคำถามว่าจะมาแย่งงานคนหรือไม่ ดังนั้น ต้องปรับตัวเรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ว่าจะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้อย่างไร หรือทำงานส่วนที่หุ่นยนต์ทำได้ไม่ดีพอ ต้องเรียนรู้ 2 ด้าน คือ ด้านเทคนิค และ พัฒนาความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความฉลาดทางอารมณ์และสังคม

​ในส่วนของ ปัจจัยด้านการเมืองและสังคมที่จะสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล การศึกษาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ อยู่ที่ฝีมือ ความเข้าใจ ดังนั้น ต้องพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการผลักดันด้านการศึกษา ต้องผลักดันการพัฒนาสังคมทั้งระบบ ให้ได้ผู้นำที่มีคุณภาพในทุกระดับ ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม กระจายรายได้ บริการทางสังคม ไปสู่ชุมชนทุกหมู่เหล่าอย่างเป็นธรรม

​ทั้งนี้ ภาพรวมการปฏิรูปการศึกษาไทยที่ควรเป็น ดร.วิทยากร ให้ความเห็นว่า ควรมีเป้าหมายกว้างไกล มากกว่าการสร้างมนุษย์ทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งแข่งขันหาเงินและบริโภค ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งความรู้ ทักษะการทำมาหากิน ความฉลาด ทักษะด้านอารมณ์ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่สุด เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพื้นฐานวัฒนธรรมในการรวมหมู่เข้มแข็ง

ด้าน ดร.พรชัย อินทร์ฉาย รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้การศึกษาดีขึ้นเกี่ยวข้องกับทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ จะทำอย่างไรให้ภาคเอกชนร่วมมือกับรัฐบาล โรงเรียนประถมเอกชนทำดีกว่ารัฐบาลมาก ดังนั้น รัฐต้องสนับสนุนเอกชนให้เติบโต

“ขณะที่ มาตรฐานการผลิตครูเราจริงจังกันแค่ไหน หากไม่พร้อมอย่าเป็นครู เลิกพูดได้แล้วว่าผิดเป็นครู เพราะครูต้องพร้อม 100% สิงคโปร์ ฟินแลนด์ เกาหลี เขาให้ความสำคัญมาก เราไปหลอกเด็กไม่ได้ เพราะเด็กจะเก่งกว่า การเป็นโค้ช ต้องมีความรู้ดี วิพากษ์ได้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องมีทักษะเพียงพอ มีจิตวิทยาเข้าใจเด็ก ต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้ครูใหม่ที่จะไปเป็นครูในอนาคตมีศักยภาพ” ดร.พรชัย กล่าวเพิ่มเติม

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องมองสภาวะการศึกษาเชื่อมโยงกับตลาดแรงงาน เด็กหลังจากออกจากสถานศึกษาไปแล้วความพร้อมของเขาเป็นอย่างไร ความพร้อมสู่โลกของงานหรือความพร้อมในการเรียนต่อเพื่อดูการสัมฤทธิ์ผล เพราะคนจบมาก ไม่ใช่ว่าตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ปัจจุบัน ตลาดแรงงาน 100 คน มีแค่ 14 คนที่เป็นแรงงานฝีมือ ขณะที่สิงคโปร์ มีกว่า 45-50 % ดังนั้น ต้องดูว่าเราจะไปอย่างไร รวมถึงการเตรียมพร้อมเด็กเชื่อมโยงสู่โลกเทคโนโลยีในอนาคต