มูลนิธิสืบฯ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง สทนช. คัดค้านเส้นทางผันน้ำผ่านเขตรักษาพันธุ์ฯ สลักพระ
พร้อมเสนอให้ศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เฉพาะแนวทางเลือกที่อยู่นอกเขต
โดยสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการนำเสนอโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563
ภายใต้การศึกษาฯ สทนช. ได้นำเสนอ 6 แนวทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งสองทางเลือกจะต้องตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งเป็นเขตรักษาพันธุ์ฯ ที่ตั้งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ที่ตั้งของมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศ
โดยหนึ่งในสองทางเลือกนั้น คือ การก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ ผ่านเขตรักษาพันธุ์ฯ ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซูด้วยแรงโน้มถ่วง พร้อมทั้งระบบกระจายน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ และอีกแนวทางคือ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ พร้อมวางระบบท่อส่งน้ำผ่านเขตรักษาพันธุ์ฯ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ได้กล่าวว่า จากการเสวนา ผู้นำชุมชนในพื้นที่เสนอให้ทบทวนแนวทางเลือกการผันน้ำเนื่องจากเห็นว่า แนวทางทางเลือกการผันน้ำแนวทางที่ 1 คือการทำอุโมงค์ผันน้ำระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตรจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซูด้วยแรงโน้มถ่วงเป็นทางเลือกที่ควรดำเนินการ เนื่องจากเป็นระยะทางผันน้ำที่สั้น สามารถก่อสร้างเสร็จใช้งานได้เร็วกว่า และผันไปลงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่อยู่ในพื้นที่สูงเหมาะแก่การกระจายน้ำ
อย่างไรก็ดี ดร. สมเกียรติ กล่าวว่า สทนช. ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าศึกษาวิจัยในพื้นที่ ซึ่งในเรื่องนี้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยผู้ตรวจราชการจะเชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมและลงพื้นที่หาข้อสรุปต่อไป
ทางมูลนิธิสืบฯ โดยนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิ จึงได้ออกจดหมายเปิดผนึกคัดค้านในวันนี้
โดยกล่าวระบุในจดหมายว่า มูลนิธิฯ ขอคัดค้านแนวทางเลือกดังกล่าว เนื่องจากจะตัดผ่านกลางพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระโดยตรง ซึ่งมีการสำรวจพบทั้งเสือโคร่ง เลียงผา เก้งหม้อ ละองละมั่ง และแมวลายหินอ่อน ฯลฯ
หากมีการศึกษา จะต้องทำการขุดเจาะสำรวจระดับความลึกดิน ซึ่งผ่านลุ่มน้ำชั้น 1A นอกจากนี้ ยังต้องมีการขุดเจาะพื้นที่ที่มีชั้นหิน ซึ่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งจากเครื่องจักรและคนที่เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่
การดำเนินการสำรวจจะเป็นการรบกวนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีปัญหาการเข้าบำรุงรักษาในพื้นที่ ทางมูลนิธิฯ จึงขอเสนอให้พิจารณาเส้นทางผันน้ำเส้นทางอื่นโดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด นายศศินกล่าว
ภาพ เสือโคร่งที่เคยถ่ายได้ในเขตรักษาพันธุ์ฯ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา/ เครดิต: เขตรักษาพันธุ์ฯ สลักพระ