พ.ร.บ.คู่ชีวิตปล่อยไปตามกระแสสังคม

พ.ร.บ.คู่ชีวิตปล่อยไปตามกระแสสังคม

“สมศักดิ์” ไม่เบรค-ไม่หนุน ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตชี้ให้เป็นไปตามความต้องการสังคม ย้ำขั้นตอนออกกฎหมายใหม่ต้องรัดกุม

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากก่อนหน้านี้คณะระฐมนตรีในสมัยรัฐบาลคสช.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.61 และต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยขอเน้นสาระสำคัญใน 7 ประเด็น เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ก่อนจะนำผลสรุปส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาภายในเดือนกันยายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้มีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) นำโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะตัวแทนนักการเมืองเข้ายื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยถอดคำจำกัดความที่เป็นกรอบแบ่งแยกทางเพศ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ขณะที่นายสมศักดิ์กล่าวกับนายธัญวัจน์ว่า “กระทรวงยุติธรรมพร้อมรับข้อเสนอต่างๆไว้ประกอบการพิจารณา เรื่องกฎหมายในสภาฯต้องทะนุถนอมผมไว้ ห้ามด่า”

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระบวนการจัดทำร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. ..มีพัฒนาการต่อเนื่องมาเป็นลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ การสร้างครอบครัวอันเป็นพื้นฐานที่ดีของสังคม ความรักไม่มีข้อจำกัดทางเพศ โดยที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมและภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันศึกษากฎหมายของประเทศต่างๆ ที่มีความใกล้เคียงกัน เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามภูมิภาคต่างๆ สำหรับตนมองว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นขั้นตอนการสร้างกฎหมายใหม่ในการส่งเสริมให้บุคคลที่มีความหลายหลายทางเพศ ได้เข้าถึงสิทธิเหมือนกับชายหญิงทั่วไป แต่ยังตอบไม่ได้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาจากสภาฯหรือไม่ เพราะตนเป็นส.ส.เพียงเสียงเดียว ขณะที่ร่างกฎหมายต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ ยอมรับว่าขั้นตอนการพิจารณากฎหมายหลังจากนี้ อาจทำได้ไม่เร็วนัก และกระทรวงยุติธรรมก็คงไม่ไปเร่งผลักดัน เพราะการสร้างกฎหมายใหม่จะต้อฝมีขั้นตอนที่รัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เข้าใจผิดจนนำไปสู่ความวุ่นวายในภายหลัง

“กระทรวงยุติธรรมจะไม่เบรกหรือผลักดัน ปล่อยให้ร่างกฎหมายเป็นไปตามความคิดที่แท้จริงของสังคม ส่วนประเด็นที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้ายื่นหนังสือขอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้ถอดคำที่เป็นกรอบของเพศชาย เพศหญิง เช่น กฎหมายสมรส ให้เปลี่ยนจากคำว่าชาย หญิง มาเป็นบุคคล เพื่อแก้ไขได้ทีเดียวจบเลย ไม่ต้องมีพ.ร.บคู่ชีวิต แต่อาจมีผลกระทบอื่นๆตามมา จึงต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความเห็น เรื่องนี้ต้องฟังไปนานๆจะเอาเร็วไม่ได้”นายสมศักดิ์กล่าว

ขณะที่นายธัญวัจน์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฯไม่ใช่กฎหมายสำหรับชาย หญิง ทั่วไป แต่เป็นการขยายสิทธิให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีความรัก ไม่ใช่กำหนดกรอบเฉพาะชาย หญิงเท่านั้น การเป็นคู่ชีวิตไม่ได้มีเฉพาะสามี ภรรยา หรือมีความหมายแค่”โรแมนติก เลิฟเวอร์”แต่หมายถึงการอยู่ร่วมเป็นครอบครัวที่ไม่จำกัดเพศซึ่งในประเทศไทยส่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การสร้างครอบครัว คือการสร้างชีวิตที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและไม่ถูกเลือกปฎิบัติ นอกจากนี้ ยังเสนอให้แก้ประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของบุคคลโดยไม่จำกัดเพศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต 7 ประเด็นหลักที่คณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้ปรับแก้ประกอบด้วย การกำหนดอายุในการจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องมีอายุขั้นต่ำ 17 ปี ภายใต้ความยินยอมของบิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม การกำหนดเงื่อนไขสัญชาติของผู้จดทะเบียนคู่ชีวิต ยังมีความเห็นต่าง การรับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตตามกฎหมายต่างประเทศในประเทศไทย การรับบุตรบุญธรรม การกำหนดสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันของคู่ชีวิต และกำหนดสิทธิประโยชน์ต่อบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ การกำหนดสิทธิการรับบุตรบุญธรรม สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต และการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบด้วย เรื่องการจดทะเบียนซ้อน การสิ้นสุดสิทธิในการรับค่าเลี้ยงดู และเหตุฟ้องเลิกเป็นคู่ชีวิต