2 ศาสตราจารย์คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 62
"ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์"ศึกษาเจอชิ้นส่วนโปรตีนไวรัสตับอักเสบซี นำสู่พัฒนายาต้านไวรัส ช่วยรักษาผู้ป่วยเรื้อรังหายได้ถึง 95% "ศ.นพ เดวิด เมบี"ค้นพบสาเหตุตาบาดจากโรคริดสีดวงตา ส่งผล 13 ประเทศกำจัดโรคสำเร็จ
วันนี้(21 พ.ย.) ที่อาคารสยามินทร์ รพ.ศิริราช ในการประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2562 โดย น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าวว่า มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 ทั้งสิ้น 66 ราย จาก 35 ประเทศ
คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี2562, 2561, 2560 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2562
โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.ดร. ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ (Professor Dr.Ralf F.W. Bartenschlager) จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เดวิด เมบี (Professor David Mabey)จากสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 ม.ค.พ.ศ.2563 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
สำหรับสาขาการแพทย์ ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ อณูไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก และหัวหน้าหน่วยไวรัสที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งเยอรมนี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีผลงานที่โดดเด่นคือการศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus หรือ HCV) นำไปสู่องค์ความรู้ในการพัฒนายาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง มีความจำเพาะ และปลอดภัย โดยหลังการค้นพบเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในปี พ.ศ.2532 เป็นเวลากว่า 10 ปีที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแยกเชื้อดังกล่าวด้วยเซลล์เพาะเลี้ยง
ศ.บาร์เทนชลากเกอร์และคณะ ค้นพบวิธีเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสนี้ในเซลล์เพาะเลี้ยง และสร้างแบบจำลองชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัสได้ ทำให้เปิดโอกาสในการค้นหาสารจำนวนมากที่สามารถเป็นยาต้านไวรัสชนิดนี้ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังค้นพบชิ้นส่วนของโปรตีนที่ไม่มีโครงสร้าง (เอนเอส 3) ซึ่งสร้างเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัส และพบว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของยาที่สามารถต้านเชื้อนี้ได้ ผลการศึกษานี้ นำไปสู่การพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบซีรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า ดีเอเอ (DAA : direct acting antiviral) ที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง ให้หายได้ถึง 95% โดยมีผลข้างเคียงน้อยลง
การศึกษานี้ทำให้สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ทำให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 71 ล้านคนทั่วโลกที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง และนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวประมาณ 4 แสนคนในแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวยังมีราคาสูง แต่ด้วยเป้าหมายที่จะลดการแพร่ระบาดของไวรัสตับอักเสบซี จึงได้มีความช่วยเหลือสำหรับประเทศยากจน ทำให้มีประชากรเข้าถึงการรักษาด้วยยาดีเอเอ ได้เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านคน ถึง 1.5 ล้านคนในช่วงปีพ.ศ. 2558-2559 และขณะนี้มีอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่มีโครงการให้การรักษาด้วยยาดีเอเอแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ สำหรับประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพได้ต่อรองราคายาลงกว่า 70% และบรรจุยานี้ใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้คนไทยทุกสิทธิประกันสุขภาพและประกันสังคมใช้สิทธิการรักษาได้
สาขาการสาธารณสุขศ.นพ.เดวิด เมบี ศาสตราจารย์สาขาโรคติดต่อ และภาควิชาวิจัยคลินิก วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงตา มากว่า 30 ปี เป็นการติดเชื้อของตาที่ทำให้ตาบอดได้บ่อยที่สุด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามิเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งทำให้ตาบอดหรือเกิดความพิการทางสายตาได้มากถึงปีละ 1.9 ล้านคนทั่วโลก การติดเชื้อแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากตาหรือจมูกของผู้ที่ติดเชื้อ
โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีสุขอนามัยไม่ดี ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และไม่มีแหล่งน้ำสะอาดที่เข้าถึงได้เพียงพอ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เป็นต้นมา ศ.นพ.เมบีและคณะ ได้ศึกษาในพื้นที่ของประเทศแกมเบียและแทนซาเนีย และค้นพบว่าการตาบอดจากโรคริดสีดวงตาเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย ในปีพ.ศ.2536 ได้แสดงว่าการให้ยาเอซิโทรมัยซิน (azithromycin) เพียง 1 ครั้งสามารถรักษาโรคริดสีดวงตาอย่างได้ผล
จึงได้มีการศึกษาแบบพหุสถาบัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการให้ยาดังกล่าวในชุมชนแบบประจำปี สามารถลดการแพร่กระจายของโรคนี้ได้ ดังนั้นจึงค้นพบว่าการให้ยาเอซิโทรมัยซิน แบบครอบคลุมประชากรจำนวนมาก สามารถช่วยกำจัดโรคนี้ให้หมดไปได้ในถิ่นที่เป็นแหล่งระบาดของโรค นำไปสู่นโยบายขององค์การอนามัยโลก ที่จะกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปด้วยโปรแกรมเซฟ (SAFE)
โดยมีการให้ยาเอซิโทรมัยซิน ถึง 700 ล้านโดส สำหรับประชาชนใน 40 ประเทศ ระหว่างปี พ.ศ.2542-2560 ขณะนี้ มี 13 ประเทศ ที่รายงานว่าสามารถกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปได้สำเร็จแล้ว องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายที่จะกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดไปจากปัญหาทางสาธารณสุข และไม่เป็นสาเหตุของตาบอดในทุกประเทศทั่วโลกภายในปีพ.ศ.2568
ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ