แนะปชช.ป้องกันก่อนเจ็บป่วย เพราะสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร
กรมควบคุมโรค เผยอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร แนะประชาชนป้องกันก่อนเจ็บป่วย ตามหลัก “เกษตรกรปลอดภัย อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง”
ดร.พญ.ชุลีกร ธนธิติกร นักวิชาการ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวถึงอันตรายของสารเคมีทางการเกษตร ทั้งสารที่ใช้สำหรับฆ่าแมลง ฆ่าหญ้า กำจัดเชื้อรา และกำจัดวัชพืชอื่นๆ รวมถึงสารฆ่าหนูและสัตว์กัดแทะต่างๆ สารเหล่านี้มีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพืชที่เกษตรกรปลูก ทำให้เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร ทำให้เกิดการเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน เช่น ผื่นคัน ผื่นแดง ปวดศีรษะ มึนงง แสบตา น้ำตาไหล อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนการเจ็บป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในระยะยาว ได้แก่ การเกิดโรคมะเร็ง และโรคทางระบบประสาท
สำหรับสารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) มีผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้ 1.พาราควอต เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง ไม่มียาต้านพิษ มีการยกเลิกการใช้ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งพิษทำให้ระคายเคืองทางตา หากผิวหนังมีบาดแผลจะซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็วเกิดแผลจากการกัดกร่อนได้ และมีผลระยะยาวต่อระบบประสาททำให้เกิดโรคพาร์กินสัน 2.คลอร์ไพริฟอส งานวิจัยในต่างประเทศ ตรวจพบว่ามีผลต่อความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองของเด็กที่แม่ได้รับสารระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เด็กพัฒนาการช้า ความจำสั้น IQ ต่ำ เป็นสารที่รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ส่งผลต่อระบบไทรอยด์ กระตุ้นการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งลำไส้ และ 3.ไกลโฟเซต สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ ภายใต้องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งได้ เป็นสารที่รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมที่อาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจน ก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรัง และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิดเพิ่มมากขึ้น เช่น เบาหวาน โรคอ้วน อัลไซเมอร์ รวมทั้งพบการตกค้างในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดา
ดร.พญ.ชุลีกร ยังกล่าวอีกว่า สารเคมีไม่ว่าจะเป็นชนิดใดๆ ก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังได้ ประชาชนจึงไม่ควรใช้หรือสัมผัสสารเคมีใดๆ และควรป้องกันตนเองก่อนที่จะเจ็บป่วย แต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีก็ขอให้ระมัดระวัง ตามหลัก “เกษตรกรปลอดภัย อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง” ดังนี้ ก่อนการใช้ 1) อ่านฉลาก ทำตามคำแนะนำก่อนใช้งาน 2) ตรวจสอบอุปกรณ์ ก่อนใช้งานทุกครั้ง 3) ห้ามเปิดขวดและซองสารเคมีด้วยปาก 4) ห้ามใช้มือเปล่าผสมสารเคมี ระหว่างการใช้ 1) ใส่เสื้อผ้าอุปกรณ์ป้องกันให้มิดชิด 2) ยืนเหนือลมขณะฉีดพ่น 3) ห้ามสูบบุหรี่/กินอาหาร/ดื่มน้ำ 4) หากสารเคมีหกรด ให้รีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด หลังการใช้ 1) ถอดเสื้อผ้าแยกซัก 2) อาบน้ำทันที หลังฉีดพ่นเสร็จ 3) ไม่ทิ้งบรรจุภัณฑ์รวมกับขยะทั่วไป 4) หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422