แนะนำ 9 วิธีรับมือ เมื่อลูกโดน ‘บูลลี่’ ที่โรงเรียน
มีข้อมูลว่าเด็กไทยโดนเพื่อนรังแกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก! เมื่อการ ‘บูลลี่’ ในโรงเรียนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ชวนผู้ปกครองมารู้จัก 9 วิธีรับมือเมื่อลูกโดนกลั่นแกล้งที่โรงเรียน
การรังแก กลั่นแกล้ง หรือการบูลลี่ในโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย จากสถิติของกรมสุขภาพจิตชี้ว่า ในปี 2561 มีจำนวนนักเรียนไทยโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนสูงถึง 600,000 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 40% มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น ปัจจุบันระดับความรุนแรงของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งและปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี
ปัญหาใหญ่ระดับประเทศขนาดนี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่จะรอการช่วยเหลือจากภายนอกอย่างเดียวก็อาจจะไม่ทันการ สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้เลยทันที เพื่อช่วยลูกหลานไม่ให้ต้องเผชิญปัญหาโดนบูลลี่เพียงลำพัง คือการศึกษาหาความรู้และหาวิธีที่จะช่วยจัดการปัญหานี้ให้ได้ อย่างเช่นการเข้าร่วมกิจกรรมอบรมในหัวข้อ “คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่ ไม่บูลลี่ในเด็ก” ที่จัดโดยกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เพื่อให้ความรู้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู สามารถเข้าใจปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนได้อย่างชัดเจนและเข้าใจ ทำให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
กิจกรรมนี้เป็นการรณรงค์ให้ลดการทำร้ายจิตใจผ่านคำพูด สนับสนุนการส่งต่อคำพูดสร้างสรรค์ในสังคมไทย ลดปัญหาการล้อเลียนชื่อพ่อแม่หรือการเรียกชื่อสมมติ ลดการล้อเลียนปมด้อยของเพื่อน ต่อต้านการไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มเล่นหรือทำกิจกรรมด้วยกัน และการตบหัวหรือการชกต่อยกัน เป็นต้น
นายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ หนึ่งในผู้ร่วมบรรยายในการอบรมครั้งนี้ ให้ความรู้เกี่ยวกับการโดนบูลลี่ของเด็กไทยว่า ในมุมของผู้ใหญ่มักจะมองว่าการกลั่นแกล้งกันในเด็กเป็นเรื่องเด็กเล่นกัน เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในมุมของเด็กที่ถูกกระทำหรือถูกกลั่นแกล้งนั้น เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขา เพราะเด็กต้องเจอกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกๆ วัน ดังนั้นผู้ใหญ่จึงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กได้ในระยะยาว ดังนั้นในฐานะพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู จึงไม่ควรนิ่งเฉย ควรเฝ้าสังเกตพฤติกรรม อารมณ์ และดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
นายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล
นอกจากนี้นายแพทย์กมลก็มีคำแนะนำ 9 วิธีรับมือ เมื่อเด็กๆ ถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน นำมาบอกต่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูนำวิธีการเหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลเด็กๆ ได้ต่อไป ดังนี้
1. ทำความเข้าใจ “การบูลลี่” ให้จริงจัง
การทำความใจว่าการกลั่นแกล้งคืออะไร คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหาของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำมากขึ้น แท้จริงแล้วการกลั่นแกล้งคือนิสัยที่เรียนรู้และเลียนแบบมาจากการเห็นหรือได้ยิน เช่น การพบเจอปัญหาคนในครอบครัวทะเลาะกัน หรือพบเจอคนในชุมชนด่าทอกันด้วยคำพูดหยาบคายทุกวัน จนมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ผู้กระทำบางราย อาจจะเป็นบุคคลที่ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกอิจฉาริษยาผู้อื่น รวมถึงผู้กระทำบางรายอาจจะเคยเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน
2. กล้าแสดงความไม่พอใจต่อผู้กระทำ
หลายครั้งที่ปัญหาการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ถูกกระทำไม่กล้าที่จะพูด หรือแสดงความไม่พอใจออกมา ทำให้ผู้กระทำไม่รับรู้ว่าผู้ถูกกระทำนั้นมีความรู้สึกอย่างไร จึงกระทำการกลั่นแกล้งซ้ำๆ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ การแสดงออกหรือการพูดสื่อสารออกมาว่าผู้ถูกกระทำนั้นไม่พอใจ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้กระทำมีแนวโน้มที่จะกลั่นแกล้งลดน้อยลง หรือหยุดการกระทำนั้นๆ ลงได้ เนื่องจากผู้กระทำได้รับการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของผู้ถูกกระทำว่า “ไม่พอใจ” และรับรู้ว่าการกระทำของตนนั้นสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง
3. ถ้าโดนแกล้งต้องบอกครูและพ่อแม่
ส่วนใหญ่แล้วปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เกิดจากผู้ถูกกระทำไม่ได้บอกเล่าเรื่องถูกกลั่นแกล้งให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูได้ทราบ จึงทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้งยังคงเกิดขึ้นและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด ดังนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องสอนเด็กและลูกหลานของคุณ “ไม่ให้เงียบ” หรือ “เพิกเฉย” ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ให้กล้าที่จะบอกเล่าปัญหาของตนกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูที่โรงเรียน เพราะปัญหาการถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนเพื่อหาวิธีการรับมือ และหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
4. การกลั่นแกล้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
รู้หรือไม่? ในบางสถานการณ์การกลั่นแกล้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากว่าผู้ถูกกระทำถูกกลั่นแกล้งทางร่างกายหรือทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดด่าทอเชื้อชาติหรือเพศสภาพ ใช้กำลังและความรุนแรงรังแกผู้อื่น หรือแม้แต่การแชร์เรื่องส่วนตัวของผู้อื่นในอินเทอร์เน็ต ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น หากว่ามีการพบเจอการกลั่นแกล้งที่รุนแรงเช่นนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูสามารถรายงานเรื่องนี้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายได้
5. อย่ามองว่าตัวเองเป็นปัญหา
การมีอัตลักษณ์ที่ต่างจากผู้อื่น เช่น เพศสภาพ เชื้อชาติ รูปร่างหน้าตา ที่ต่างจากผู้อื่นไม่ใช่ปัญหาของผู้ถูกกระทำเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นเพราะทัศนคติของผู้กระทำที่มีต่อผู้อื่นต่างหาก ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก หากลูกของคุณเป็นผู้ถูกกระทำ จงสอนเขาว่า เขาไม่ได้ทำอะไรผิด และมันไม่ใช่ปัญหาของเขาเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวผู้กระทำเองทั้งสิ้น
6. หาวิธีจัดการกับความเครียด
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การถูกบูลลี่สามารถสร้างความเครียดให้แก้ผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก นอกจากการบอกเล่าปัญหาต่อผู้ที่ไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พ่อแม่ หรือครูแล้ว ควรลองมองหากิจกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ มาทำเพื่อช่วยลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หรือออกไปเที่ยว เพื่อจัดการกับความเครียดของตนเอง และทำให้สภาพจิตใจไม่หมกมุ่นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
7. อย่าแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว
การอยู่คนเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือทำให้เราจัดการกับการกลั่นแกล้งได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อยๆ การอยู่คนเดียวเงียบๆ จะทำให้ลดความมั่นใจและความภาคภูมิใจของผู้ถูกกระทำได้ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ที่จะคอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กๆ ไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเงียบหรือปลีกตัวมาอยู่คนเดียว
8. ดูแลสุขภาพกายและจิตใจสม่ำเสมอ
สุขภาพคือสิ่งสำคัญที่เราควรใส่ใจ การกลั่นแกล้งนั้นสามารถสร้างบาดแผลและปมในใจให้กับผู้ถูกกระทำ ซึ่งสามารถส่งผลต่อสภาพร่างกายได้ เช่น อาการเบื่ออาหาร เครียดจนนอนไม่หลับ เป็นต้น หากลูกหลานของคุณถูกกลั่นแกล้งมานานจนกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและจิตวิทยา เพื่อช่วยให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาได้อย่างดีและตรงจุด
9. มองหาบุคคลต้นแบบที่ดี
เมื่อโดนบูลลี่ ผู้ถูกกระทำจะเกิดความสับสนและไม่ชอบในตัวเอง แต่ถ้าหากผู้ถูกกระทำมีบุคคลต้นแบบที่ดีก็จะสามารถทำให้เห็นได้ว่า มีอีกหลายคนที่เคยพบเจอกับปัญหาเดียวกัน แต่พวกเขาก็สามารถก้าวข้ามผ่านการโดนกลั่นแกล้งจนสามารถประสบความสำเร็จได้ การมีบุคคลต้นแบบที่ดีนั้น จะทำให้ผู้ถูกกระทำมองเห็นคุณค่าของตัวเองและรักตัวเองมากขึ้น
ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นเพียงคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ เพียงบางส่วนเท่านั้น ที่ผู้ปกครองสามารถนำเอาไปปรับใช้ หรือสอนลูกหลานให้เข้าใจถึงปัญหาและการหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด แต่อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนเจอกับประสบการณ์การบูลลี่ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ของเด็กแต่ละคนด้วย เอาเป็นว่าพ่อแม่และครูในโรงเรียนควรร่วมมือกันตรวจสอบ และหมั่นดูแลเด็กๆ ให้มากขึ้นกว่าเดิม