ดึงเด็กข้ามชาติ2แสนเข้าระบบการศึกษา ติดอาวุธป้องกันตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

ดึงเด็กข้ามชาติ2แสนเข้าระบบการศึกษา  ติดอาวุธป้องกันตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

แม้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 และมติคณะรัฐมนตรี 2548 ที่กำหนดให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรี 15 ปี ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือไม่มีก็ตาม อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กข้ามชาติอีกกว่า 2 แสนคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเด็กข้ามชาติ 164,259 คนที่กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนรัฐ ศูนย์กศน. และศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กข้ามชาติกว่า 2 แสนคนที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา แม้ว่าประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 และมติคณะรัฐมนตรี 2548 ที่กำหนดให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรี 15 ปี ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือไม่มีก็ตาม

การอพยพย้ายถิ่นของเด็กเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก เด็กเหล่านี้ย้ายถิ่นจากบ้านเกิด เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น สงครามขัดแย้ง ความยากจน และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเข้าไม่ถึงการศึกษา

157677845970

“การศึกษา” คือ ปัจจัยสำคัญในการปกป้องพวกเขาให้รอดพ้นจากภัยคุกคามเหล่านี้ การปกป้องและคุ้มครองสิทธิของเด็กข้ามชาติ เป็นเรื่องที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าเด็กข้ามชาติจะอยู่ในสถานะใด เด็กเหล่านี้ต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกับเด็กอื่นๆ เราจะไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง ดังนั้น การลงทุนด้านการศึกษาให้กับเด็กข้ามชาติจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากลับคืนมา"  ดร.จูเซปเป บูซีนี รองหัวหน้าคณะผุ้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย กล่าวในงาน เปิดตัวรายงานความท้าทายในการจัดการศึกษาเด็กข้ามชาติ ไร้เส้นกั้นการศึกษา : แนวปฏิบัติที่ดีและการถอดบทเรียนจากการจัดการศึกษา สำหรับเด็กข้ามชาติในประเทศไทยที่กระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 19ธ.ค.ที่ผ่านมา

  • เด็กข้ามชาติ 2 แสนคนไม่อยู่ในโรงเรียน

ทั้งนี้ ในรายงาน ไร้เส้นกั้นการศึกษา : แนวปฏิบัติที่ดีและการถอดบทเรียนจากการจัดการศึกษา สำหรับเด็กข้ามชาติในประเทศไทย ปี 2562 จัดทำโดย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และ สหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ซึ่งได้รวบรวมการสัมภาษณ์ผู้แทนหน่วยงานรัฐบาลและองค์กรภาคประชาสังคม ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู นักเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครอง ระหว่างวันที่ 29 ม.ค.-13 ก.พ. 62 ในโรงเรียนรัฐบาล 16 แห่ง พื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ระนอง สมุทรสาคร ตาก และตราด เพื่อศึกษาความท้าทายในการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติ ซึ่งมีความซับซ้อนหลายรูปแบบ

157677846130

ระบุว่า การเข้าโรงเรียนของเด็กข้ามชาติในระบบการศึกษาในประเทศไทย ในโรงเรียนรัฐบาล 145,379 คน ศูนย์ กศน. 2,562 คน ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ 16,350 คน รวม 164,259 คน แต่มีเด็กข้ามชาติที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนกว่า 2 แสนคน หรือคิดเป็น 50% ของเด็กข้ามชาติวัยเรียนที่อาศัยในไทย ซึ่งประมาณการณ์ว่ามีอยู่ราว 3- 4 แสนคน

ปีเตอร์ โฟเบล รักษาการผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเปิดโอกาสทางด้านการศึกษาให้แก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ยังต้องก้าวข้าม ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ คือ การไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักทำให้ไม่เข้าใจภาษาดีพอ ต้นทุนด้านโอกาส ความไม่รู้ของนโยบายการเข้าถึงการศึกษา และในแง่ของผู้ให้บริการการการศึกษา ก็อาจจะยังไม่รู้ว่าจะช่วยเหลืออย่างไร และครอบครัวข้ามชาติบางครอบครัวมองว่าไม่จำเป็นต้องเรียน เพราะความรู้ในโรงเรียนยังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องใช้จริง

157677858774

“การศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการคุ้มครองเด็กข้ามชาติไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ และความเสี่ยงต่างๆ นำไปสู่ลักษณะนิสัย การดูแลสุขภาพอนามัยดียิ่งขึ้น และทำให้เด็กไทยและเด็กข้ามชาติเรียนรู้การอยู่ร่วมกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม และมีทักษะการเป็นพลเมืองโลก นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ประเทศไทยมีผลิตภาพที่มากขึ้นเพราะครอบครัวแรงงานไม่ต้องกังวลว่าตอนไปทำงานลูกจะอยู่อย่างไร เด็กจะมีความรู้ อ่านอออกเขียนได้ มีศักยภาพในการทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศ ปัญหาที่เด็กข้ามชาติเจอ เป็นปัญหาเดียวกับเด็กด้อยโอกาสของไทย คือ ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทย หรือกลุ่มรายได้น้อย ดังนั้น การช่วยเด็กข้ามชาติก็เป็นการช่วยเด็กไทยที่ด้อยโอกาสเช่นเดียวกัน” ปีเตอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน มีโรงเรียนหลายแห่งในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ ในการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง แก่เด็กทุกคนทั้งเด็กไทยและเด็กข้ามชาติ โดย 5 องค์ประกอบของความสำเร็จ 5 ประการ คือ 1. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการวางแผนและการนำนโยบายไปปฏิบัติ 2. การมีผู้นำที่เข้มแข็งมีแรงจูงใจและมีความสามารถในการสนับสนุนเด็กข้ามชาติ 3. การใช้กลยุทธ์การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ 4. การปรับปรุงการจัดการศึกษาให้สอดคล้อง 5.การมีส่วนร่วมของชุมชน

  • ไร้เส้นแบ่งทางการศึกษา

กิชสณพนธ์ เฉลิมวิสุตม์กุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าอาจ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งสอนในระดับอนุบาล – ประถมศึกษา มีนักเรียนจำนวน 603 คน ครู 33 คน เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนให้ทั้งเด็กไทยและเด็กข้ามชาติ ระบุว่าโรงเรียนติดแนวตะเข็บชายแดน มีแม่น้ำเมยกั้นไทยกับเมียนมา เด็กส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กข้ามชาติโดยเฉพาะเมียนมากว่า 90% และเด็กไทยราว 10% ทางโรงเรียนให้เด็กเรียนรวมกันอย่างเท่าเทียม 

157677846027

นอกจากนี้ยังสอนภาษาเมียนมาให้กับเด็กไทยอาทิตย์ละ 1 ครั้งตั้งแต่ ป.1 เพื่อให้เด็กเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน มีหอพักให้กับเด็กๆ ที่บ้านไกล หรือพ่อแม่ไม่มีเวลาสามารถอยู่อาศัยฟรี เมื่อจบการศึกษาชั้นประถม จะเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมใกล้เคียงมากถึง 90-100% มีบางส่วนที่ออกมากลางคันเนื่องจากพ่อแม่ต้องการให้ช่วยทำงาน ขณะเดียวกัน บางคนยังไม่เห็นความสำคัญของการส่งลูกเข้าสู่ระบบการศึกษา

มะเอ่เจ่ตู ชั้น ป. 5 โรงเรียนบ้านท่าอาจ เด็กสาวจากเมียนมา วัย 16 ปี ที่ติดตามพ่อแม่เข้าอยู่ในประเทศไทยเมื่อ 5 ปีก่อน เล่าว่า เดิมพ่อมีอาชีพขับรถรับจ้างที่ประเทศเมียนมา และครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ในประเทศไทย โดยพ่อทำอาชีพส่งน้ำ แม่เป็นแม่บ้าน ได้เริ่มเรียนป. 1 แรกๆพูดไทยไม่ได้เลย จนป.3 จึงเริ่มอ่านออกเขียนได้ เรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ยังมีเพื่อนๆ ชาวเมียนมาบางส่วนที่ไม่ได้เข้าเรียน เพราะพ่อแม่มองว่าอยากให้ทำงานมากกว่า จึงอยากให้เพื่อนๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาเช่นเดียวกัน

157677846043

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรร่วมมือกับประเทศต้นทาง เพื่อส่งต่อนักเรียน ปรับปรุงคู่มือและแนวทางปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติให้อ่านง่ายขึ้น "ดร.รับขวัญ ธรรมาภรณ์พิลาส เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย" เสนอว่า ควรจัดทำชุดสื่อข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิด้านการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติ ให้แก่ผู้ปกครองที่ต้องย้ายถิ่น พัฒนาทักษะผู้สอน และพัฒนากลไกความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ สำรวจวิธีการเข้าถึงเด็กที่ไม่ได้เรียน รณรงค์กับเอกชน ผู้ประกอบการ ในการให้การศึกษากับเด็กข้ามชาติ รวมถึงสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกคอรง เพื่อลดการออกกลางคัน