'หน้ากาก' ยังมีขาย (แต่ถ้า)อยากได้ต้องควักเงินเพิ่ม ?
เสียงสะท้อนจากประชาชน ที่ต้องเผชิญกับการหาซื้อหน้ากากอนามัย ในสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 แน่น ไวรัสโคโรน่าระบาด และราคาที่เจ็บปวด
หลังปัญหามลภาวะทางอากาศ อย่าง PM2.5 ตามมาด้วยการ เฝ้าระวังไวรัสโคโรน่า ที่แพร่ระบาดจากอู่ฮั่น ประเทศจีน คือ “ภารกิจตามหาหน้ากากอนามัย” จึงเริ่มต้นขึ้น
แม้ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน จะออกมาชี้แจงหลังการประชุมร่วมผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ประกอบการหน้ากากอนามัยรวม 9 บริษัท เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ว่า
“สต๊อกและกำลังการผลิตขอผู้ประกอบการในขณะนี้สามารถให้บริการและจำหน่ายให้กับประชาชน หน่วยงานที่ต้องการใช้ได้เพียงพออย่างไม่ขาดแคลนไปจนถึง 4 เดือนนับจากนี้ โดยปริมาณสต๊อกปัจจุบันอยู่ที่ 100 ล้านชิ้น ส่วนกำลังการผลิตของโรงงานที่ผลิตภายในประเทศไทยหลายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 ล้านชิ้นต่อเดือน ดังนั้น เชื่อว่าหน้ากากอนามัยทุกชนิด ทุกระดับราคา สามารถผลิตออกมาสู่ตลาดเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน”
แต่เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นจริงจากประชาชนส่วนใหญ่คือ..."หน้ากากยังมีขาย ถ้าอยากได้ต้องควักเงินเพิ่ม" เนื่องจากความต้องการใช้ที่มากขึ้น บวกกับสถานการณ์ที่เริ่มรุนแรงทำให้ความยากในการหาซื้อก็ยากขึ้นตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจำเป็นต้องใช้เป็นจำนวนมาก
ความยากไม่ใช่แค่การตระเวนหาซื้อหน้ากากอนามัยจากห้างร้านต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยความโชคดีเข้าช่วย เช่น ไปซื้อตรงจังหวะสินค้าล็อตใหม่เข้า หรือไม่เจอใครเหมาไปเสียก่อน
หากใครหาซื้อหน้ากากอนามัยในช่วงนี้ ก็คงเจอเหตุการณ์ที่ไม่ต่างกันนัก ชั้นวางหน้ากากอนามัยในร้าน Drug Store พื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงร้านสะดวกซื้อมีสินค้าประปราย ส่วนใหญ่เหลือแต่หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาที่เน้นป้องกันเชื้อโรคและฝุ่นละอองขนาดใหญ่ ขณะที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าหัวใสส่วนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าถึงสินค้าได้มากกว่าในบางพื้นที่ก็อาศัยจังหวะนี้กักตุนสินค้าไว้เพื่อโก่งราคา
ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงหันไปหาทางเลือกอย่างอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) แต่ก็มีสถานการณ์ที่ไม่ต่างกันนัก หลายร้านขึ้น “สินค้าหมด” หรือเปิดให้สั่งล่วงหน้า (pre-order) ขณะเดียวกันหน้ากากอนามัยที่เห็นในท้องตลาดบางส่วน ถูกชุบตัวในราคาใหม่ ด้วยเหตุผลสินค้าขาดตลาดบ้าง เรื่องต้นทุนจากต้นทางพร้อมชี้แจง “งดดราม่า ของแต่ละรอบทุนไม่เท่ากัน”
จากการสำรวจร้านค้าหน้ากากจากผู้ค้าออนไลน์ในแพลตฟอร์มซื้อขายต่างๆ พบว่า มีทั้งร้านที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาตามท้องตลาด และขยับราคาขึ้นมาเล็กน้อย ขณะที่ส่วนหนึ่งปรากฏราคาที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หรือเกินหลายเท่าตัวอย่างน่าตกใจ
ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ติด #ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ #ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่2020 #ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่2019 #หน้ากากอนามัย #ฝุ่นกรุงเทพ ฯลฯ ที่รวบรวมทวิตฯ จากประสบการณ์การในการตามหาหน้ากากอนามัยของแต่ละคนแบบเรียลๆ ที่พบได้มากที่สุดคือการบรรยายถึงความยากลำบากในการหาซื้อหน้ากากอนามัยที่ไม่ใช่แค่หายาก แต่ยังแพงมากอีกด้วย เช่น
“ในขณะที่โรคระบาดและฝุ่นนั้น ราคาหน้ากากอนามัยสูงพอๆ กับผู้ติดเชื้อเลย”
“แก ถามจริง 3 อัน 1,500 บาท หน้าเลือดไปไหมอะ ใครขายราคาไม่แพงมากแปะไว้หน่อย เราต้องการจริงๆ”
“สั่งหน้ากากอนามัยไปวันก่อน 6 กล่อง ราคา 1,650 บาท โดนกดยกเลิก วันต่อมาราคาขึ้นมาเป็น 7,980 บาทร้านเดียวกัน ไอ้___ คิดคำด่าไม่ออก”
“หน้ากากอนามัย 50 ชิ้น 999 บาท”
และอีกหลายๆ ก็กรณีที่สะท้อนว่าท้ายที่สุดแล้วประชาชนที่มีกำลังซื้อสูง จึงจะเข้าถึงผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยในช่วงที่มีโรคระบาด และฝุ่นพิษได้ และเป็นโอกาสให้คนที่ต้องการหยิบฉวยผลประโยชน์ได้แบบเต็มที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: โซเชียลโวย หน้ากากอนามัยขาดตลาด แถมแพงสิบเท่า
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนต้องเผชิญสภาวะนี้ ช่วงต้นปี 2562 ที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 รุนแรง และมีการกักตุนสินค้าเกิดขึ้นคล้ายๆ กัน
ด้าน บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาระบุว่า หากพบการกักตุนสินค้า และฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่ผู้บริโภค พบเห็นการฉวยโอกาสขึ้นราคาโดยไม่เป็นธรรม หรือพบเห็นผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้ทางสายด่วน 1569 หรือร้องเรียนได้โดยตรง ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายทันที
หากพบการกักตุนสินค้า และฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: พาณิชย์ สั่งการพาณิชย์จังหวัดคุมเข้มขายหน้ากากอนามัย
แม้จะมีไม้แข็งในการรับมือกับคนที่ฉวยโอกาสในสภาวะแบบนี้แล้ว แต่เหมือนว่ายังไม่สามารถจัดการได้อย่างจริงจัง และเรื่องราวเหล่านี้ก็ยังจะวนเวียนกลับมาซ้ำเติมสถานการณ์ลักษณะเดียวกันอีก
ทำให้เกิดคำถามว่า “หน้ากากอนามัย” ควรได้รับการควบคุมที่เข้มข้นกว่านี้ได้หรือยัง หรือควรมีสิ่งใดบ้างที่จะให้คนไทยทุกคนเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพื่อป้องกันตัวเองให้พ้นสภาวะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงกว่าที่เป็นอยู่