ศาลปกครองสั่งเบรค โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ของ กทม. จนกว่ามีคำพิพากษา
ชี้น่าจะเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยศาลปกครองได้ออกคำสั่งและส่งให้มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ในฐานะผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีวานนี้ แจ้งคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่สั่งห้ามมิให้กรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฉพาะในส่วนของแผนที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ทางผู้ฟ้องคือ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคมและพวก ได้ฟ้องศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งยกเลิกโครงการและขอให้มีมาตรการชั่วคราวระงับการดำเนินการเอาไว้
โดยศาลปกครองกลางระบุว่า การดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยการก่อสร้างทางเดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่กรมเจ้าท่าอนุญาตได้ภายใต้กฏหมายการเดินเรือในน่าน้ำไทย หรืออนุญาตได้ภายใต้กฏหมายผังเมือง
สิ่งก่อสร้างดังกล่าว มีลักษณะเป็นอาคารภายใต้หฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งไม่ปรกฎว่ากรุงเทพมหานครได้มีการขออนุญาตแบบแปลน จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรุงเทพมหานครยังมีการดำเนินการมาโดยลำดับ จึงเป็นการละเมิดผู้ฟ้อง การที่ศาลจะมีคำสั่งห้ามไม่ให้ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฉพาะส่วนของแผนงานทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้กระทบต่อการจัดทำบริการสาธารณะของกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด ศาลจึงมีคำสั่งห้ามมิให้กรุงเทพมหานครดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนของแผนที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทางมูลนิธิฯ อธิบายว่า การดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย คือ การจะขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่กรมเจ้าท่าจะอนุญาตได้ ผู้ขออนุญาตจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีสิทธิครอบครอง หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินที่ติดต่อกับแม่น้ำเท่านั้น และการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ล่วงล้ำลำน้ำทำได้เท่าที่จำเป็นและสมควรเฉพาะตามวัตถุประสงค์ของการใช้อาคารหรือสิ่งที่ล่วงล้ำลำน้ำเท่านั้น
แต่ปรากฏว่า การก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไว้เป็นทางสัญจรการเดินทางด้วยจักรยาน ชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ อันเป็นการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มิใช่เป็นการก่อสร้างเพื่อประโยชน์ของทางราชการที่เจ้าท่าจะพึงอนุญาตได้
มูลนิธกล่าวว่า มีรายงานผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยมรดกเจ้าพระยาด้านโบราณคดี สำรวจมรดกวัฒนธรรมบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฯ จัดทำโดย ผศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่สรุปอัตลักษณ์ของวิถีบางกอก คือ บางกอกที่เป็นดินแดนที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่อยู่กับสายน้ำบนพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนหลายชาติต่างภาษาอาศัยอยู่ร่วมกัน
ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครให้การยอมรับว่า มีโบราณสถานขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ อยู่ใกล้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า จำนวน 24 รายการ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยาในฐานะเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางน้ำทั้งอดีตและปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาประกอบกับการบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ที่กำหนดเรื่อง "ที่โล่ง" เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณริมแม่น้ำไว้ หากมีความว่าตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ให้มีที่ว่างปลูกต้นไม่ตามแนวขนานข้างละไม่น้อยกว่า 6 เมตร แม้จะเป็นข้อห้ามสำหรับเจ้าของที่ดิน ไม่ได้ห้ามกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครก็ตาม แต่เนื่องจากการก่อสร้างมีความกว้างประมาณ 6-10 เมตร ที่มีเสาสองต้นปักลงไปในแม่น้ำ รวมระยะทาง 57 กม. เพื่อเป็นสะพานยกสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด และใช้เป็นทางสัญจรด้วยจักรยาน เพื่อชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ ไม่ใช่เพื่อการคมนาคมและขนส่งทางน้ำ ตามเจตนากฎหมายผังเมือง แม้จะอ้างว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ก็ต้องเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบต่อการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำสาธารณะของประชาชน
แต่โครงการจะส่งผลให้เกิดการแออัดทางทางจราจรทางน้ำ ซึ่งกระทบมากที่สุดต่อกลุ่มเรือเล็กที่ปกติเดินชิดตลิ่ง ต้องระมัดระวังมากขึ้นและต้องลดความเร็ว
การดำเนินการ ไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการตามพรบ.ควบคุมอาคาร ที่ต้องแจ้งและส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้แก่เจ้าพนักงานก่อนการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่ปรากฏว่า กรุงเทพมหานครได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา คดีจึงมีมูลว่าการดำเนินการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย มูลนิธิกล่าว
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครได้จัดทำสัญญาจ้างกลุ่มสถาบันการศึกษาเป็นที่ปรึกษางานจ้างที่ปรึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บท ระยะดำเนินการ 210 วัน วงเงิน 119,513,000 บาท
คณะรัฐมนตรีได้ประชุมเมื่อ 14 มีนาคม 2560 เห็นชอบและอนุมัติให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการเงินช่วยเหลือ ซึ่งสำรวจได้ 272 หลัง ปัจจุบันประชาชนที่ปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้รื้อย้ายออกไปแล้ว 171 หลัง และรื้อสิ่งปลูกสร้างอีก 10 รายการ ผู้ถูกรื้อย้ายได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันพัฒนาองค์ชุมชน ดำเนินการสร้างบ้านมั่นคงให้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง
จึงเห็นได้ว่า กรุงเทพมหานครตั้งใจที่จะกระทำต่อไปซึ่งการละเมิด หรือกระทำที่ถูกฟ้องร้อง มูลนิธิอธิบาย