พัฒนาเครื่องบำบัดอากาศลดมลพิษ ฝุ่นละอองPM2.5
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ผนึกจีซี พัฒนาเครื่องบำบัดอากาศลดมลพิษ-ฝุ่นPM2.5 แก้ปัญหาฝุ่นพิษ นำร่อง 7 เครื่อง ติดตั้งใน2 พื้นที่วัดราชบพิตร เขตพระนคร และบริเวณรอบวังสระปทุม เขตปทุมวัน ติดตามผล 6 เดือน เล็งนำข้อมูลมาพัฒนาวิจัยต่อยอดให้เครื่องมีประสิทธิ
วันนี้ (13 ก.พ.2563) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็กPM2.5 ร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี โดยมีพลเรือเอกพงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ และมี ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน)เป็นผู้ลงนาม
พลเรือเอกพงษ์เทพ กล่าวว่ามูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เล็งเห็นถึงปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ และฝุ่นละอองขนาดเล็กPM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน และเป็นปัญหาสำคัญที่ทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว ได้มีการจัดสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษ และการสร้างเครื่องบำบัดจะยั่งยืนถาวร และทำให้องค์กรและหน่วยราชการนำไปเป็นต้นแบบในการสร้างได้เอง
“ทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้น้อมนำพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชน ซึ่งกรณีฝุ่นละอองPM 2.5 ทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ร่วมมือกับกรมอู่ทหารเรือ และทางบริษัทจีซี สร้างเครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ขึ้น เพราะการจัดสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มลพิษ และฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ใช้งบประมาณไม่เกิน 300,000 บาท ต่อเครื่อง ถูกกว่าครั้งที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯช่วยเหลือประชาชน ด้วยการแจกหน้ากากอนามัย N95 ดังนั้น การลงนามครั้งนี้ จะเป็นการศึกษาวิจัย พัฒนาต่อยอดตัวเครื่องที่มีอยู่ในขณะนี้ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น คาดว่าอีก 6 เดือนจะได้เห็นเครื่องบำบัดรูปแบบใหม่ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น”พลเรือเอกพงษ์เทพ กล่าว
ดร.คงกระพัน กล่าวว่า ทางจีซีมีความยินที่มีโอกาสมาร่วมสนับสนุน ทำงานร่วมกับทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งที่ผ่านมาทางบริษัทซีจี ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยในด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ดูแลแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมามีเพียงการสนับสนุนในบางเรื่อง
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะสนับสนุนสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ทั้งหมด 7 เครื่อง แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ทางบริษัท จีซี จะสนับสนุนในการสร้าง ติดตั้งทดลองในพื้นที่นำร่อง 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณโดยรอบวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เขตพระนคร และบริเวณรอบวังสระปทุม เขตปทุมวัน หรืออาจจะเป็นพื้นที่ตามที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ กำหนด
ส่วนระยะที่ 2 เมื่อมีการติดตั้งตั้งแล้วจะร่วมมือกับทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ในการติดตามพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทางบริษัทจีซี มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และวิศวกร ในการออกแบบดีไซต์พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าวให้กลายเป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ และคาดว่าจะมีการขยายผลไปทุกพื้นที่ในประเทศต่อไป
“หลังจากติดตั้งในพื้นที่ 6 เดือนแล้ว เราจะนำข้อมูลทั้ง 7 เครื่องมาใช้พัฒนาให้เครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 มีประสิทธิภาพในการใช้งาน และลดปัญหาฝุ่นละอองPM 2.5 ให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่นำร่องที่เลือกในส่วนของบริเวณเขตปทุมวัน เพราะมีทั้งห้างสรรพสินค้า สยาม พารากอน เป็นพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น หากทดลองในพื้นที่ที่ยากแล้วมีประสิทธิภาพ จะได้พัฒนาต่อไปว่าควรจะเสริมเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือมีโปรแกรมอะไรที่เหมาะสมต่อไป”ดร.คงกระพัน กล่าว
ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวในส่วนของระดับชั้นเพื่อทำการบำบัดนั้น สามารถเลือกกำหนดได้ตามความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ เช่น วัตถุประสงค์ของการบำบัดที่ออกแบบไว้ครั้งนี้ เพื่อคืนสภาพอากาศที่ปลอดภัยสำหรับใช้ในวิถีการดำรงชีวิตเป็นปกติสุขให้กับประชาชนทั่วไปสามารถปฏิบัติภารกิจพื้นฐาน เดินทางสัญจรไปมา ค้าขาย ทำงาน ได้ตามปกติ เป็นต้น
ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว ระดับความสูงชั้นอากาศเพื่อการบำบัดจึงถูกเลือกกำหนดที่ 3-5 เมตร จากพื้นดิน เครื่องที่ออกแบบสร้างครั้งนี้มีขีดความสามารถดูดอากาศเข้าได้ 2.2. ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาตรอากาศที่ปล่องปล่อยออกคำนวณจากค่าความเร็วอากาศขาออกที่วัดได้เท่ากับ 2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประสิทธิภาพในการบำบัด PM 2.5 จากการทดสอบอยู่ระหว่าง85-90% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับโมเดลการบำบัดที่คิดขึ้นได้พัฒนารูปแบบทิศทางและจุดของการดูดอากาศที่จะบำบัดและการปล่อยอากาศที่บำบัดแล้วให้เหมาะสมกับสภาวะเงื่อนไขทางกายภาพของพื้นที่ที่จะบำบัด เช่น พื้นที่ในเมือง เขตโรงพยาบาล โรงเรียน สนามบิน พื้นที่แอ่งกระทะมีภูเขาล้อมรอบ เป็นต้น
การเลือกกำหนดรูปแบบการดูดและปล่อยออกนี้สามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพการบำบัดได้อย่างมาก เครื่องขนาดเล็กแต่เมื่อนำหลักการของโมเดลไปประยุกต์ใช้จะทำให้สามารถบำบัดอากาศได้ในพื้นที่เปิดที่มีเงื่อนไขทางภาพที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี และสามารถรวมกำลังเครื่องจากเขตหรือจังหวัดต่าง ๆ มาบูรณาการร่วมกันปฏิบัติงานในกรณีเกิดวิกฤติที่รุนแรงในที่ใดที่หนึ่งได้