โมเดลสร้างเด็กให้เก่งนวัตกรรม
มารู้จักโปรแกรม TKS การเรียนรู้ตามสภาพแวดล้อมการทำงานของบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ สัมผัสเทคโนโลยี และนวัตกรรมล้ำยุค เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ในโลกยุค 4.0 เราพูดกันมากถึงการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะแห่งอนาคต ทั้งทักษะด้านวิชาการ ทักษะด้านนวัตกรรม และทักษะด้านสังคม
ดังรายงาน The Future of Job ของ WEF ชี้ให้เห็นถึงทักษะที่ต้องการในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะการบริหารจัดการคน และทักษะการร่วมกันทำงานกับผู้อื่น เป็นต้น การมีทักษะดังกล่าวก็เพื่อร่วมมือกันสร้างและขับเคลื่อนนวัตกรรมทางธุรกิจและนวัตกรรมทางสังคม
ดังนั้น เพื่อให้ทำงานสร้างนวัตกรรมได้ นักเรียนและนักศึกษารุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทักษะดังกล่าว ข้างต้น แต่เราจะเรียนรู้ทักษะเหล่านั้นได้จากวิชาอะไร? การเรียนการสอนตามปกติอย่างที่เป็นอยู่พร้อมสำหรับการบ่มเพาะทักษะดังกล่าวได้หรือไม่?
เพื่อสร้างทักษะแห่งอนาคต ได้มีโปรแกรมการศึกษาออกมาในหลายรูปแบบ ตัวอย่างที่น่าสนใจที่เข้าไปบ่มเพาะนักเรียนตั้งแต่อยู่ในช่วงนักเรียนเลย คือโปรแกรม TKS หรือ The Knowledge Society ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษานอกหลักสูตรที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ.2016 ในเมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา สำหรับเพิ่มทักษะทางนวัตกรรมให้นักเรียนอายุ 13-17 ปี หรือในช่วงมัธยมปลาย
โปรแกรม TKS เป็นโปรแกรมที่เน้นการสร้างทักษะแห่งอนาคต ทั้งด้านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ นักเรียนที่เรียนหลักสูตร TKS นี้จะใช้เวลาประมาณ 3-10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงเปิดเทอมเป็นเวลา 3 ปีโดยนักเรียนไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก่อน
ที่น่าสนใจก็คือ TKS ออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้ตามสภาพแวดล้อมการทำงานของบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำยุคอย่างกว้างขวางเพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
นอกจากนี้ เพื่อตอบโจทย์โลกแห่งความเป็นจริงโปรแกรม TKS ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนชั้นนำ เช่นบริษัท Walmart บริษัท Airbnb บริษัท Microsoft บริษัท Zappos เป็นต้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสกับปัญหาและความท้าทายในโลกที่เป็นจริง โดยบริษัทเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนได้พบกับความท้าทายจริงของบริษัท ช่วยเป็นพี่เลี้ยงและเปิดโอกาสให้เข้าถึงสัมมนาด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง และนักเรียนจะได้รับการสอนให้ใช้เครื่องมือการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนตามวิธีของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกอย่าง Mckinsey & Company เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการแก้ไขปัญหาความท้าทายที่ซับซ้อน
ตัวอย่างโจทย์จากบริษัทชั้นของโลกสำหรับนักเรียน TKS เช่น โจทย์ของบริษัท Airbnb เราจะจัดหาที่พักระยะสั้นแก่ผู้อพยพจากวิกฤตผู้ลี้ภัยได้อย่างไร โจทย์จากบริษัท Nestle เราจะลดขยะอาหารทั่วโลกลง 30% ได้อย่างไร โจทย์จากบริษัท Google เราจะสร้างที่อยู่อาศัยราคาประหยัดโดยลดต้นทุนลง 40% ได้อย่างไร และโจทย์จากบริษัท Microsoft เราจะขยาย Microsoft AI School ไปสู่นักเรียน 50,000 คนได้อย่างไร เป็นต้น
การเรียนรู้ใน 3 ปีนี้ จะแบ่งเป็น 3 ธีม คือ Innovate-Activate-Disrupt
ในปีที่ 1 เป็นธีม Innovate นักเรียนจะได้เรียนรู้พื้นฐานทักษะด้านเทคนิคทักษะการสื่อสาร และจะได้เรียนรู้สำรวจเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างกว้างขวางกว่า 40 เทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ สกุลเงินคริปโต ควอนตัมคอมพิวติ้ง บล็อกเชน จีโนมิกส์ นาโนเทคโนโลยี รถยนต์ไร้คนขับ ไฮเปอร์ลูป พลังงานไร้สาย หุ่นยนต์เป็นต้น เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับนำมาประกอบการสร้างนวัตกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมต่อไป
ในปีที่ 2เป็นธีม Activate นักเรียนจะเรียนรู้เชิงลึกกับเทคโนโลยีที่ตนเลือกและฝึกหัดใช้ทักษะทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง เรียนรู้ปัญหาที่สำคัญของสังคมและโลก และร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อทำการ แฮคโจทย์ หรือ Hackathon เพื่อฝึกหัดแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุดของสังคมร่วมกัน
ในปีที่ 3 เป็นธีม Disrupt นักเรียนจะได้รับโอกาสในการสร้างต้นแบบบริษัทนวัตกรรมของตนเอง ทั้งนี้ การเรียนรู้ในโปรแกรมนี้ถูกออกแบบมาให้เป็นการเรียนรู้ตามจังหวะการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน ที่จะใช้เวลาประมาณ 3-10 เดือนเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีหนึ่งๆ อย่างลึกซึ้ง และโปรแกรมได้ออกแบบแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดเวลาและเป็นแพลต์ฟอร์มกลางสำหรับแลกเปลี่ยนไอเดียและเชื่อมต่อเรียนรู้ร่วมกับกับนักเรียนคนอื่น
ที่ผ่านมา เมื่อนักเรียนได้สร้างบริษัทนวัตกรรมของตนเอง หลายโครงการได้แปลงไปเป็นบริษัทจริง เช่นโครงการ G-nome ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับการอัพโหลดข้อมูลพันธุกรรมจากผู้ใช้ โดยเก็บรักษาความลับให้ผู้ใช้แลกกับค่าตอบแทน เพื่อการเพิ่มคลังข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมสำหรับห้องทดลองการตัดแต่งจีโนม หรือการตั้งบริษัทที่ใช้การเรียนรู้โดยเครื่องจักร (Machine learning) เพื่อปรับปรุงวัคซีน และการตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่ได้เพื่อตรวจเลือด เป็นต้น
นักเรียนโปรแกรม TKS ยังได้รับโอกาสฝึกงานช่วงฤดูร้อนภายหลังจบโครงการด้วย เช่นร่วมฝึกงานกับบริษัท IBM บริษัท Microsoft บริษัท Deloitte เป็นต้น รวมถึงได้รับเชิญไปบรรยายในงานเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Web Summit, งาน TEDx เป็นต้น
สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากโปรแกรมของ TKS คือการออกแบบการเรียนรู้เสมือนกับองค์กรนวัตกรรมชั้นนำที่เน้นการเสริมสร้างทักษะนวัตกรรมที่เหมาะสม จากโจทย์ที่เป็นจริงจากภาคเอกชนหรือตามความสนใจของผู้เรียน พร้อมกับเรียนรู้เทคโนโลยีชั้นนำในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกระทบทางบวกให้แก่สังคม โดยเชื่อมั่นว่านักเรียนอายุเพียงสิบกว่าปีก็การสามารถสร้างทักษะและสร้างโอกาสจนเป็นนวัตกรตัวจริงให้สังคมได้