ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าและโรคอุบัติใหม่เตรียมตรวจหาโคโรน่าไวรัส 2019 ในค้างคาวในไทย

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าและโรคอุบัติใหม่เตรียมตรวจหาโคโรน่าไวรัส 2019 ในค้างคาวในไทย

แนะรัฐวางนโยบายป้องกันโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คน เฝ้าระวังการระบาดของไวรัสที่มีศักยภาพ

ดร.สุภาภรณ์ วัชราพฤกษดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมเสวนาในเวที จากเนื้อสัตว์มาสู่ไวรัส: ถึงเวลาต้องร่วมมือต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์พระราม 9 จังหวัดปทุมธานี เนื่องในวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าและไวรัสวิทยา รวมทั้งศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลีนิก จากคณะเดียวกัน และ ดร. ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วม

โดย ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ทางผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในการติดตามเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่าจะเริ่มสำรวจโคโรน่าไวรัส 2019 ในค้างคาวมงกุฏเทาแดง หลังจากพบว่าไวรัสดังกล่าวที่กำลังก่อให้เกิดโรคระบาดในคนในเวลานี้ ถูกพบในค้างคาวสปีชีเดียวกันนี้ในจีน ทั้งนี้ เพื่อยืนยันผลการค้นพบสำหรับในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา งานศึกษาและเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่าในประเทศไทย เคยมีการตรวจหาไวรัสในค้างคาวชนิดดังกล่าวเป็นจำนวนที่น้อย ราว 20 กว่าตัวเท่านั้น เนื่องจากจะเน้นหนักไปที่ค้างคาวชนิดอื่นๆที่มีอยู่ในประเทศกว่า 23 ชนิด

ในค้างคาวมงกุฎเทาแดง 20 กว่าตัวดังกล่าว ดร. สุภาภรณ์กล่าวว่าเคยตรวจพบไวรัสตระกูลที่สามารถระบาดสู่คนคืออัลฟ่า แต่ยังไม่มีระบาดสู่คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังติดตามต่อไป

ทั้งนี้ ไวรัสโคโรน่าที่สามารถระบาดมาสู่คนมีอยู่ด้วยกัน 2 ตระกูลคือ อัลฟ่าและเบต้า โดยการตรวจติดตามไวรัสในค้างคาวในช่วงปี 2010_2014 ภายใต้โครงการ Predict ที่ได้รับการสนับสนุนจาก USAID พบเชื้อไวรัสทั้งเก่าและใหม่ถึง 115 ตัว โดยโคโรน่าไวรัสมีสัดส่วนที่มากที่สุด

158322994153

นอกจากนี้ ยังมีไวรัสบางตัวที่พบในค้างคาวที่ต้องติดตามเฝ้าระวังคือไวรัสนิปป้า ซึ่งเคยเกิดการติดต่อจากหมูสู่คนในประเทศมาเลย์เซีย และแพร่ระบาดในประเทศบังคลาเทศและอินเดียด้วย ซึ่งไวรัสชนิดนี้มีอัตราการตายในสองประเทศดังกล่าวค่อนข้างสูงคือ 70% และ 40%, ดร.สุภาภรณ์กล่าว

ดร.สุภาภรณ์กล่าวอีกว่า ในประเทศไทย ไวรัสชนิดนี้ ถูกพบในค้างคาวแม่ไก่ ซึ่งมักพบอยู่อาศัยในพื้นที่ภาคกลาง และตามเกาะต่างๆ โดยจากการตรวจรหัสทางพัมธุกรรมพบว่า มีความเหมือนกับเชื้อที่พบในผู้ป่วยในบังคลาเทศถึง 99%

ดร.สุภาภรณ์ได้แนะนำให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมอุทยานฯ ทำนโยบายการติดตามเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คน เพื่อค้นหาเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ และเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ และอัตราการติดเชื้อสู่คน โดยเฉพาะในตัวที่มีศักยภาพ อาทิ ไวรัสนิปป้า

ทางด้านนายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า ทางกรมฯ ได้ดำเนินมาตรการติดตามเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าสู่คน และมีการจัดตั้งกลุ่มงานที่มาดูแลเรื่องนี้คือกลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่าที่จะทำงานร่วมกับกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า โดยยังมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกด้วย รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ

นายสัตวแพทย์ภัทรพลกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้รับความสำคัญและได้รับการบรรจุไว้ในแผนยุทธศาตร์ชาติ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นายสัตวแพทย์ภัทรพลได้เรียกร้องให้ประชาชนทั่วไปงดค้าและบริโภคสัตว์ป่า ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นแหล่งรังของหลายๆโรค ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

นพ.ยงค์ ได้บรรยายสรุปชี้ให้เห็นถึงความเขื่อมโยงระหว่างโรคอุบัติใหม่ ไม่ว่าจะเป็น SARS MERS หรือ COVID-19 ที่ต่างมีที่มาจากสัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งค้างคาวสู่คน แม้กรณีล่าสุด ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบถึงต้นตอที่แท้จริงว่าเป็นสัตว์ชนิดใด แต่ก็พบว่า อาจมีความเกี่ยวข้องจากการสัมผัสในตลาดที่มีการค้าสัตว์ป่าในหวูฮั่นในประเทศจีน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดงานได้กล่าวย้ำจุดยืนของกระทรวงฯ ในการรณรงค์ให้ประชาชนไม่กินเนื้อสัตว์ป่า รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนทั้งประเทศไทยและนานาชาติ ร่วมมือกันต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอันเป็นภัยคุกคามส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นตัวกลางในการแพร่กระจายเชื้อโรคร้ายจากสัตว์สู่คนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ทำให้เกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ดังเช่นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้เขาได้กล่าวย้ำว่าทางกระทรวงฯ พร้อมจะให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการทำงานเรื่องดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการรณรงค์ลดความต้องการบริโภคสัตว์ป่าในหมู่ประชาชน

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก หรือ World Wildlife Day มีที่มาจากการที่ประเทศไทยได้เสนอในที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ครั้งที่ 16 เมื่อปี พ.ศ. 2556 ให้วันที่ 3 มีนาคมของทุกปี ตรงกับวันลงนามรับรองอนุสัญญา CITES เป็น“วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก” (World Wildlife Day) 

ต่อมา ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 68 ในปีเดียวกัน ได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็น “วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nation World Wildlife Day) พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัฐสมาชิกและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั่วโลก ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญดังกล่าว โดยปีนี้ มีแนวคิดหลัก คือ “Sustaining all life on Earth, ร่วมสร้างความยั่งยืน เพื่อทุกชีวิตบนผืนโลก” ที่มุ่งให้เห็นว่า สัตว์ป่าและพืชป่าตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คน ล้วนเป็นองค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนถือเป็นแนวทางที่สำคัญ ที่จะช่วยสนับสนุนให้บรรลุถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 

ในการจัดงานในครั้งนี้ ทส.เน้นย้ำการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนว่า การใช้ประโยชน์ที่ขาดความสมดุล จะนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของทรัพยากร และปัญหาที่ทั้งโลกต้องร่วมมือกันแก้ไข อาทิ กรณีของการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อันเกิดจากการบริโภคสัตว์ป่าที่ไม่เหมาะสม

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ  ต้องการสร้างความตระหนักแก่สังคมโดยถอดบทเรียนจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มาช่วยอธิบายให้เห็นว่าเชื้อโรคร้ายแพร่จากสัตว์สู่คนได้อย่างไร การบริโภคเนื้อสัตว์ป่าอย่างไม่เหมาะสมนั้น ก่อให้เกิดโรคระบาดที่ร้ายแรงได้อย่างไร และการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เป็นเหมือนพาหะที่นำโรคร้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งจนกระทั่งกระจายไปทั่วโลกได้