สถานะ 'พ่อ' ใน 'อุษาคเนย์'

สถานะ 'พ่อ' ใน 'อุษาคเนย์'

ทำความเข้าใจสถานะ และการเป็นอยู่ของพ่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“มีการกล่าวขานมาเป็นเวลาช้านานว่าอุษาคเนย์เป็นดินแดนที่ผู้หญิงมีบทบาทและสถานภาพสูง ทั้งๆ ที่ทุกสังคมตั้งแต่พม่าจนจรดหมู่เกาะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ล้วนถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมและประเพณีที่มีลักษณะตรงกันข้ามที่ยกย่องเพศชายเป็นใหญ่จากจีนและอินเดีย”

แต่ว่าจะมีบทบาทสูงส่งหรือมีอำนาจมากกว่าผู้ชายแค่ไหนนั้น ไม่รู้ได้

ที่แน่ๆ คือ ในภาษาไทยเมื่อต้องการให้หมายถึงผู้เป็นหลักหรือประธานของกลุ่มหรือของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มักใช้เพศหญิงคือคำว่า “แม่” นำหน้านามนั้น เช่น แม่น้ำ, แม่เหล็ก, แม่แรง ฯลฯ  แม้แต่กระทั่งผู้เป็นใหญ่ในกองทหารซึ่งเป็นผู้ชายทั้งแท่งก็ยังเรียกว่า “แม่ทัพ" ขณะที่การใช้คำว่า “พ่อ” นำหน้ากลุ่มหรือเป็นประธานนั้น เป็นคำที่พบในสมัยหลังๆ เช่น พ่อบ้าน, พ่อเมือง, พ่อครัว ฯลฯ

นักประวัติศาสตร์อธิบายเทอมของคำว่า “แม่” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า, ประธาน ฯลฯ อย่างในภาษาตระกูลไทย-ลาว ก็ยกย่องลำน้ำใหญ่เป็น “แม่”  และในภาษาไทยเองนั้นคำว่า แม่ยังใช้เป็นคำนำหน้าในความหมายที่เกี่ยวกับเพศหญิงและความเป็นใหญ่ เช่น ใช้เรียกผู้หญิงที่มาอายุน้อยกว่าด้วยความสนิทสนม

ใช้นำหน้านามเพศหญิงผู้เป็นหัวหน้าหรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น แม่ยก  ใช้เรียกคนที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายโดยไม่จำกัดเพศ เช่น แม่กอง ใช้เรียกสิ่งที่เป็นประธานหรือเป็นหลักใหญ่สำคัญของสิ่งต่างๆ ในพวกเดียวกัน เช่น แม่สี,  แม่แบบ, แม่แรง  หรือใช้เรียกสิ่งที่เป็นชิ้นใหญ่กว่าในของที่เป็นคู่ เช่น แม่กุญแจ – ลูกกุญแจ

ในอุษาคเนย์มีตำนานโบราณหลายเรื่องแสดงว่าเทพเจ้าสตรีและผู้หญิงมีความสำคัญกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบการผลิต เพราะผู้หญิงมีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในฐานะเป็นแรงงาน รวมทั้งสำคัญต่อระบบพิธีกรรมและความเชื่ออันเกี่ยวข้องกับธรรมชาติในฐานะผู้ประกอบพิธีกรรม

อย่าง ตำนานสุวรรณโคมคำ กล่าวถึง นางนาคสามตนได้ไปลักข้าวของชายเข็ญใจ เมื่อบิดาของนางนาคทั้งสามทราบเรื่องจึงสั่งให้นางนาคสามพี่น้องไปหาเลี้ยงมานพเข็ญใจ ด้วยการประกอบอาชีพค้าขาย แล่นเรือสำเภาขายสินค้าผ้าแพรต่างๆ  นางนาคทั้งสามมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้ออกอุบายช่วยเหนือมานพผู้มีแต่ความเชื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้นให้เขารอดพ้นจากความยากจนเข็ญใจ และภัยพิบัติจากศัตรูได้

แม้แต่ในงานวิจัยใหม่ๆ ของตะวันตก เกี่ยวกับจิตวิทยาครอบครัวและการเติบโตของเด็ก พบว่า งานวิจัยเกือบครึ่งหรือมากว่ากว่าครึ่งไม่มีพ่ออยู่ในสารบบงานวิจัยเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวมักเป็นที่สนใจของการศึกษามากกว่าครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยวและพ่อมักจะหายไปจากครอบครัวในลักษณะนี้มากกว่าแม่

หน้าที่ของพ่อตามนิยามความหมายสมัยใหม่ คือ การหาเลี้ยงและคอยเป็นแบ็คให้กับครอบครัวจะมีความจำเป็นอย่างมาก แต่ดูเหมือนว่าผู้ชายกลับมีอิทธิพลน้อยมากในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสุขภาวะทางจิตวิทยาของเด็กๆ  หน้าที่ส่วนใหญ่ตกเป็นของแม่ ผู้ที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกๆ ได้มากกว่า

ทุกวันนี้เราพบกระแสที่ว่า ผู้หญิงมีความพร้อมต่อการเป็น แม่เลี้ยงเดี่ยว มากกว่า ผู้ชายที่จะเป็น พ่อเลี้ยงเดี่ยว ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นต่างก็สนับสนุนประเด็นนี้กันมาก เนื่องจากว่าทุกวันนี้กระแสโลกเปลี่ยนไป มีรายงานว่า ผู้หญิงกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 เป็นต้นมา ผู้หญิงออกทำงานนอกบ้านได้ทัดเทียมความสามารถกับผู้ชาย กระแสดังกล่าวอาจมองดูว่าเป็นกระแสใหม่เพราะที่ผ่านมาเคยรับรู้กันมาว่าในประวัติศาสตร์โลกมีระบบวิธีคิดแบบผู้ชายเป็นใหญ่ (ปิตาธิปไตย) สังคมแบบดังกล่าวจะวางศูนย์กลางแห่งรักของครอบครัวให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้หญิงหรือแม่  ส่วนพ่อจะทำหน้าที่เป็นเพียงเจ้านายหรือผู้แสดงอำนาจในบ้าน

นักสตรีนิยมเสนอว่า อำนาจของพ่อในบ้านในหลายสังคมน่าจะเป็นผลมาจากแนวคิดสังคมพ่อเป็นใหญ่ในสังคมยุควิกตอเรียน (ช่วงศตวรรษที่ 19) และส่งต่อความคิดดังกล่าวสู่สถาบันศาสนา การปกครอง สาธารณสุข เป็นต้น ทำให้เกิดคำนิยามความเป็นพ่อและความเป็นแม่สมัยใหม่ โดยวางอยู่บนฐานความคิดว่าแม่ควรเป็นผู้ดูแลและอบรมลูกตั้งแต่เล็กจนโต

ในภูมิภาคอุษาคเนย์สมัยดึกดำบรรพ์พบข้อมูลว่า ไม่ใช่สังคมแบบพ่อเป็นใหญ่ การศึกษาของนักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยาพบว่า ผู้ชายอุษาคเนย์เมื่อต้องแต่งงานมีเกณฑ์ว่าจะต้องไปอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิง อย่างพวกผู้ไท (ไทดำ-ไทขาว) ในเวียดนามเหนือมีข้อกำหนดให้ผู้ชายคือ “บ่าว” ไปทำงานรับใช้ในบ้านฝ่ายผู้หญิงคือ “สาว” เป็นระยะเวลาหนึ่ง (นับเป็นปีๆ ) เพื่อพิสูจน์ตนเองว่าขยันทำมาหากินจึงจะเป็นที่ยอมรับแล้วสามารถแยกครัวไปอยู่กินกันตามประสาผัว-เมียได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการยอมรับก็ถูกขับไล่แล้วฝ่ายหญิงก็เลือกผู้ชายหรือพ่อคนใหม่เข้ามาเป็น “บ่าว” ทดลองอีก

นัยยะดังกล่าวยังคงซ่อนอยู่ในคำว่า “บ่าว” แปลว่า ขี้ข้า มักใช้คู่กับไพร่ คือ บ่าวไพร่ ในงานแต่งจึงเรียกผู้ชายว่า “เจ้าบ่าว”  และภาษาในชีวิตประจำวันของประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงเรียกผู้ชายว่า “ผู้บ่าว” เพราะผู้หญิงคือ “เจ้าสาว” หรือ “ผู้สาว เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน ผู้ชายต้องไปเป็นขี้ข้าของผู้หญิงคือ “บ่าว” ของ “สาว”  ในขณะที่ในภาษาพม่า ศัพท์คำว่า “ครอบครัว” ไม่มีคำว่า “พ่อ” รวมอยู่ด้วย มีแต่คำว่าแม่และลูก

คลิฟฟอร์ด เกียร์ตซ์ ทำวิจัยภาคสนามที่บาหลีพบว่า ความแตกต่างระหว่างเพศแสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนในกิจกรรมส่วนใหญ่ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ งานต่างๆ ผู้ชาย และผู้หญิงจะกระทำร่วมกันเหมือนเป็นคู่ติดกัน เช่น กิจกรรมทางศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ จนถึงการแต่งกาย แม้บริบทบางอย่างผู้หญิงจะไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก เช่น งานจิตรกรรม ดนตรีและศิลปะ ก็เป็นเพียงความไม่ถนัดของผู้หญิงมากกว่าถูกบีบจากสังคมไม่ให้กระทำ

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เป็นนักวิชาการคนแรกที่ตั้งข้อสังเกตถึงความสำคัญของผู้หญิงในอุษาคเนย์ บทสรุปของเขามักถูกหยิบยกมาโดยนักวิชาการสายสตรีนิยมรุ่นหลังๆ ทำให้ชาวตะวันตกมองว่า ผู้หญิงในอุษาคเนย์มีสถานะสูง และยังเป็นผู้ควบคุมทรัพยากรและระบบการผลิต ผู้หญิงเป็นผู้จัดการ ดูแล และบริหารการเงินของครอบครัวและมักทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เช่น ค้าขาย มีชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในล้านนา และพม่าเคยกล่าวไว้ว่า ไม่พบผู้ชายในตลาดที่นั่นเลย คนขายของมีแต่ผู้หญิง ผู้ชายมักขอเงินจากภรรยา สภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิงแถบนี้จึงดีกว่าผู้หญิงในที่อื่น เช่น อินเดีย ปากีสถาน แม้กระทั่งจีน

ต่อมาสถานภาพของผู้ชายและพ่อเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่สูงขึ้น สถานะของผู้หญิงในภูมิภาคนี้เริ่มสั่นคลอนเมื่ออารยธรรมอินเดียเข้ามามีอิทธิพลเหนือระบบความเชื่อท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนทางศาสนา จนส่งผลให้เกิดคติในสมัยหลังๆ ว่า ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน

ความแตกต่างระหว่างเพศแสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนในกิจกรรมส่วนใหญ่ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ

อ้างอิง:

silpa-mag.com

scientificamerican.com