สธ. ห่วงคนไทยต่างแดน ร่วมมือกรมการกงสุลส่งผ่านข้อมูลสุขภาพสร้างกำลังใจสู้ COVID-19

สธ. ห่วงคนไทยต่างแดน ร่วมมือกรมการกงสุลส่งผ่านข้อมูลสุขภาพสร้างกำลังใจสู้ COVID-19

สธ. ห่วงคนไทยต่างแดน ร่วมมือกรมการกงสุลส่งผ่านข้อมูลสุขภาพสร้างกำลังใจสู้ COVID-19

 ดร.สาธิต  ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ยังคงแพร่อย่างรวดเร็วและกระจายไปหลายประเทศทั่วโลก จนทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องมีมาตรการ คุมเข้มการคัดกรอง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสื่อสารความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนไทยที่พำนักในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการระบาดของโรค นับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขห่วงใยพร้อมที่จะสื่อสารสร้างความรู้ ในการดูแลสุขภาพตนเองให้ปลอดภัยและเป็นกำลังใจในการก้าวผ่านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในครั้งนี้ ซึ่งในเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือกรมการกงสุล ส่งต่อข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพและสุขอนามัยส่วนบุคคลไปยังกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ

           

“ขอฝากถึงพี่น้องคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศให้ตระหนักถึงการป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้มาก ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือต้องเริ่มที่จากตัวเอง สร้างพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพโดยหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากาก เพื่อป้องกันโรค ทั้งนี้ ขอให้ติดตามข่าวสารในประเทศที่พำนักอาศัย หากมีข้อสงสัยในการดูแลสุขภาพตนเองสอบถามได้ที่เว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/ ช่องทาง Twitter, Facebook, Line official, Tik Tok  “ไทยรู้ สู้โควิด” และ Line official ChatBot 1422 “Kor-Ror-OK” กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

สธ. ห่วงคนไทยต่างแดน ร่วมมือกรมการกงสุลส่งผ่านข้อมูลสุขภาพสร้างกำลังใจสู้ COVID-19

ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า ขณะนี้กรมอนามัยได้จัดทำสื่อความรู้สร้างสุขอนามัยด้วยหลัก 3 ล. คือ  1) ลด : ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสด้วยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ให้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะและก่อนกินอาหาร และหากรู้สึก  ไม่สบาย ไอ จาม ให้สวมหน้ากากอนามัย  2) เลี่ยง : เลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค และเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น รวมทั้งเลี่ยงใช้มือสัมผัสหน้า และ 3) ดูแล : ดูแลสุขภาพตนเองและสังคม รักษาสุขภาพด้วยการกินร้อน ใช้ช้อนกลาง ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ต้องแยกและสังเกตอาการไม่น้อยกว่า 14 วัน ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดสื่อความรู้ด้านสุขภาพรูปแบบต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์อนามัยมีเดีย https://multimedia.anamai.moph.go.th