รวมบทเพลงให้ความรู้ สู้ ‘โควิด-19’
รวม 7 เพลงเกี่ยวกับวิธีดูแลตัวเองในช่วงระบาดของไวรัส “โควิด-19” อีกหนึ่งวิธีสื่อสาร ที่พาข้อมูลเข้าถึงคนได้ว่องไว และน่าสนใจมากขึ้น
ในช่วงเวลาที่กำลังมีเรื่องของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 กำลังระบาดและกลายเป็นวาระสำคัญหนึ่งของโลก การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและบอกเล่าถึงแนวปฏิบัติในยามที่จะต้องฝ่าวิกฤติโรคระบาดนี้ไปพร้อมกันให้ได้นั้นเป็นเรื่องสำคัญ
แน่นอนว่าทั่วโลกต่างก็พากันสรรหาวิธีการนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ในรูปแบบต่างๆ มากมาย โดยการสื่อสารข้อมูลที่ผสมปนเปไปด้วยข้อมูลที่อิงกับการแพทย์เช่นนี้ก็จำเป็นจะต้องทำให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ชาวบ้านทั่วไปที่แม้จะไม่ทราบคำศัพท์หรือข้อมูลเชิงลึกสามารถที่จะเข้าใจและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องได้โดยทั่วกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำกราฟิกให้เห็นภาพ การเขียนเรียบเรียงด้วยภาษาหรือการใช้ศัพท์ง่ายๆ คำศัพท์ชาวบ้าน การแต่งคำขวัญ หรือการรณรงค์
และอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือ การแต่งเพลง ที่นอกจากจะฟังเพลิดเพลินแล้ว ยังใส่ข้อมูลและสิ่งที่ควรปฏิบัติไปในเนื้อเพลงให้คนฟังจำได้ง่ายขึ้นจากความคล้องจองกันของท่อนต่างๆ ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ถือว่าเขาถึงได้ง่ายและเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต
กรุงเทพธุรกิจ รวบรวม 7 เพลงจากหน่วยงานหรือศิลปินต่างๆ ที่แต่งขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ รวมถึงบอกวิธีปฏิบัติที่จะทำให้ไม่เป็นการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า หรือ covid-19 ดังนี้
- โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
หมอ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาลจากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำคลิปวิดีโอประกอบเพลงสาธิตการล้างมือให้ถูกวิธี แยกเป็นขั้นตอนอย่างละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ในชื่อเพลง ถูๆ บิดๆ พิชิตไวรัส [covid-19] เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการล้างมือ เพื่อลดการติดต่อของเชื้อไวรัส และเพื่อความสะอาดถูกสุขอนามัย มิวสิควิดีโอถูกปล่อยลงในช่อง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Faculty of Medicine Chiang Mai University ทางยูทูป ในวันที่ 5 มีนาคม 2563
- BTS Sky Train
บีทีเอส สกายเทรน ปล่อยคลิปเจ้าหน้าที่บีทีเอสร้องและเต้นเพลง COVID-19 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโครน่า และวิธีการดูแลตัวเองให้ปลอดเชื้อ พร้อมส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผ่านช่องยูทูป BTSSkyTrainChannel ในวันที่ 5 มีนาคม 2563
“ป้องกันด้วยการล้างมือ ก่อนจับและถือสิ่งของนานา อาหารก็ต้องกินร้อน และต้องมีช้อนไว้เป็นช้อนกลาง ทำให้เป็นประจำ เป็นกิจวัตรในทุกๆ ครั้ง ออกกำลังทุกวัน ร่างกายแข็งขัน ป้องกันโรคภัย”
- ครูโรงรียนเทศบาลนครอุดรธานี
ครูวุฒิ-วรวุฒิ หลักชัย ครูโรงรียนเทศบาล 3 บ้านเหล่า เทศบาลนครอุดรธานี พร้อมด้วยนักเรียนและคนในชุมชน ร่วมกันจัดทำมิวสิควิดีโอและเพลง สู้โคโรน่า(COVID-19) ขึ้นมาเพื่อสรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับ โควิด-19 อย่างง่าย ให้เด็กนักเรียนและคนในชุมชนเป็นภาษาอีสาน โดยเห็นว่าการนำเนื้อหาและข้อมูลมาร้องเป็นเพลงนั้นทำให้น่าสนใจมากกว่าสำหรับเด็กๆ ซึ่งมิวสิควิดีโอก็ได้ถูกปล่อยลงในช่องยูทูป Hug Idea ในวันที่ 15 มีนาคม 2563
“ไอจาม บ่วาหนักเบา น้ำมูกไหลเฮา ต้องใส่หน้ากาก กินฮ้อนช้อนกลางล้างมือ เฮาต้องยึดถือ จำไว้ จำไว้ เนื้อสัตว์ห้ามกินดิบเด็ดขาด ล้างมือสะอาดอยู่ทุกเวลา หายใจเมื่อย ให้ฟ้าวรักษา 37.5 หาหมอโดยด่วน”
- สลา คุณวุฒิ
ครูสลา คุณวุฒิ โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงแนวลูกทุ่งอีสานชื่อดัง แต่งเพลงช้าภาษาอีสานเกี่ยวกับการไม่ได้พบกันในช่วงสงกรานต์ของชายหญิงคู่หนึ่งเพราะการระบาดของไวรัส โควิด-19 ซึ่งแม้จะเป็นเนื้อเพลงที่มีเรื่องราว แต่ก็ยังสอดแทรกวิธีการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยได้อย่างแยบยล เพลงในชื่อ โควิดซา สิมากอด ถูกปล่อยให้ฟังในแชแนลยูทูป Baan KrooSala ทั้งเวอร์ชั่นดนตรีสดและเวอร์ชั่น studio โดยเวอร์ชั่นดนตรีสดปล่อยตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 และเวอร์ชั่น studio ในวันที่ 20 มีนาคม 2563
“เซฟตี้เมืองไทยช้าไปโรคร้ายเล่นงาน ใส่แมสเฮ็ดเวียกอยู่บ้าน อยู่ไผอยู่มันคือทางรอดตาย อย่าอยู่ใกล้ไผ อย่าให้ผู้ใด๋ใกล้เธอ บ่แม่นหวงเด้อ ย่านเจอโควิดจากคนชิดใกล้ ส่วนอ้ายน่ะหรือใช้เจลล้างมือพุ้นเด้ ก่อน line ฮักแฮงแพงปานหัวใจ..ให้เจ้าปลอดภัยเด้อหล้า”
- มิกค์ ทองระย้า-โบว์ เมลดา
มิกค์-ทองระย้า และ โบว์-เมลดา สุศรี นักแสดง ร่วมกันร้องเพลงประกอบมิวสิควิดีโอเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองในสถานการณ์แพร่ระบาด เพื่อให้ความรู้และสร้างความบันเทิง ชื่อเพลง โควิด-19 มะล่องก่องแก่ง โดยมีเนื้อเพลงและมิวสิควิดีโอเตือนให้ดูแลตัวเองทั้งใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และไม่ไปที่ที่คนพลุกพล่าน ซึ่งวิดีโอถูกปล่อยออกมาในวันที่ 18 มีนาคม 2563
“แวะมาบอกให้เธอระวัง ถ้าจะไปที่ใด หน้ากากอนามัยใส่เอาไว้ก่อนนะ อย่าไป...ที่คนเขาพลุกพล่าน อย่าลืม...หมั่นล้างมือด้วยนะ กินต้องกินร้อน ช้อนกลางด้วยนะเธอ มืออย่าจับจมูก ปาก ตา ด้วยนะเออ ระวังจะติดโควิด-19”
- แอ๊ด คาราบาว
แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล และวงคาราบาว แต่งเพลงรณรงค์ให้ความรู้ วิธีดูแลตัวเอง รวมถึงให้กำลังใจบุคลกรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และผู้เกี่ยวข้องในกระทรวงต่างๆ ที่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยแต่งขึ้นมาในชื่อเพลง รวมใจไทยข้ามโควิด-19 ลงที่ช่องทางยูทูป Carabao Official ในวันที่ 19 มีนาคม 2563
“รณรงค์ให้หมั่นล้างมือ กินของร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ป้องกันสัมผัสสารคัดหลั่ง ระวังมือที่เปื้อนไปจับใบหน้า ทิ้งหน้ากากติดเชื้อให้ถูกที่ ถูกทาง ใครที่เสี่ยง ก็ให้อยู่บ้าน 14 วัน”
- แม่ครูนาฎศิลป์ วิทยาลัยนาฎศิลป์
ดร.พรสวรรค์ พรดอนก่อ แม่ครูนาฎศิลป์แห่งวิทยาลัยนาฎศิลป์ หนึ่งในบรมครูด้านหมอลำอีสาน พร้อมด้วยสมาชิก 6 คน จากวงเดอะซัน ร่วมกันแต่งเพลงลำทำนองลำผู้ไทยกาฬสินธุ์ เนื้อหาเกี่ยวกับคำทำนายโรคระบาดและการคลี่คลายปัญหาโรคร้ายจากการร่วมมือร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศ พร้อมทั้งสอดแทรกแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโควิด-19 ในวันที่ 22 มีนาคม 2563 โดยบันทึกสดอันปลั๊กที่สวนดอนธรรม อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
“อย่าได้ตกใจตื่น อย่าเพิ่งตื่นโรคโควิด อย่าเดินทางไป-มา ให้รักษาตัวไว้ ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ อย่าละเลย ยามกินให้กินร้อน ช้อนกลาง อย่าวางเฉย อย่าลืมเลย ช้อนใครให้ถือไว้ มีวิธีป้องกันเวลาไอจาม สวมหน้ากากอนามัย ใส่ป้องกันไว้ อย่าประมาท รีบล้างมือและฆ่าเชื้อ เชื้อโควิดจะห่างหาย”
การแต่งเพลง หรือการเขียนเนื้อใหม่และนำมาประกอบในทำนองเพลงฮิต เพื่อสื่อสารข้อมูลให้กับประชาชนได้ทราบนั้น เป็นวิธีที่มักจะถูกใช้อยู่บ่อยครั้งทั้งในการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ หรือในการสื่อสารข้อมูลสำคัญต่างๆ ซึ่งหลายครั้งวิธีการนี้ก็ประสบความสำเร็จ และทำให้เกิดกระแสบอกกันปากต่อปาก (ไวรัล) ได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับการให้ข้อมูลในรูปแบบการใช้ตัวอักษรธรรมดา
และในกรณีการใช้เพลงเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของ โควิด-19 นี้ก็เข่นเดียวกัน ที่นอกจากจะสามารถเผยแพร่ข้อมูลและแนวทางปฏิบัติออกไปได้ในรูปแบบที่แตกต่างได้แล้ว ยังเป็นวิธีที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ และการประยุกต์ความบันเทิงร่วมกับความรู้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย.