นวัตกรรมช่วยชีวิต ป้องกัน ควบคุมโควิด-19
อุดมศึกษา-โรงพยาบาล ดึงนวัตกรรม เทคโนโลยีช่วยป้องกัน ควบคุมโควิด-19 มจธ.จับมือเอกชนพัฒนา FACO : หุ่นยนต์สู้โควิด-19 ขณะที่จิตเวชโคราช ขานรับโซเชียล ดิสแทนซิ่ง “จ่ายยาแบบไดรฟ -ทรู/ส่งไปรษณีย์” ส่วนรพ.ในเครือบีดีเอ็มเอส นำ Tytocare นวัตกรรมตรวจสุขภาพ
ในสถานการณ์ของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่โควิด-19 หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้จัดหาระบบต่างๆ ที่จะมารับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่นี้
มจธ.จับมือเอกชนพัฒนา FACO : หุ่นยนต์สู้โควิด-19
บริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พัฒนาระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา “FIBO AGAINST COVID-19: FACO”
โดยร่วมกันพัฒนาชุดระบบหุ่นยนต์บนแพลตฟอร์มการควบคุมเพื่อช่วยแพทย์ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ในความร่วมมือ บริษัทได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาชุดระบบหุ่นยนต์ฯ ประกอบด้วย
1. บริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ให้ทุนสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มโดยสนับสนุนทั้งในส่วนของงบประมาณและอุปกรณ์ รวม 3 ล้านบาท และ 1 ล้าน ตามลำดับ
2. บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริจาคอุปกรณ์ Video Conference/High Definition Camera
3. บริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด ส่งทีมนักออกแบบของบริษัทเข้าร่วมในโครงการ FACO โดยร่วมกับทีมวิศวกรและนักวิจัยฟีโบ้ พัฒนาระบบฯ ในฐานะบริษัทผู้มีความชำนาญในแพลตฟอร์ม เพื่อต่อยอดไปเป็น Medical Service Platform
ระบบหุ่นยนต์ FACO ชุดแรก มีแผนนำไปใช้ในโรงพยาบาลแห่งแรก เพื่อช่วยแพทย์ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ในราวต้นเดือนเมษายน 2563 นี้
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ยังได้รับความกรุณาจากผู้มีจิตกุศลให้ทุน (at cost) ในการสร้างระบบหุ่นยนต์ขึ้นมาอีกสองระบบ เพื่อบริจาคให้แก่โรงพยาบาลที่ต้องการภายในกลางเดือนเมษายน 2563 หลังจากนั้น ฟีโบ้จะมอบ Engineering Drawings แก่ 20 บริษัทผู้ผลิต ภายใต้สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics Association: TARA) เพื่อผลิตออกมาในจำนวนมาก (Mass Production) ในราคาเท่าทุน ให้ทันต่อความต้องการของโรงพยาบาล
จิตเวชโคราช “จ่ายยาแบบไดรฟ -ทรู/ส่งไปรษณีย์”
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า รพ.จิตเวชฯ ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินโรคโควิด-19 และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในเขตสุขภาพที่ 9 คือจ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ดำเนินการมาตรการป้องกันควบคุมโรคให้เป็นไปในแนวเดียวกัน
นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า สำหรับการขานรับมาตรการ โซเชียล ดิสแทนซิ่ง ( Social distancing) หรือการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อของโควิด-19 และหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้ได้ผลโดยเร็ว คณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคของรพ.จิตเวชฯได้ปรับแผนบริการลดความแออัดที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งมีผู้ป่วยจิตเวชใช้บริการเฉลี่ยวันละ 320 คน
โดยจัดผู้ป่วยพร้อมญาติ 1 คน เข้ารอตรวจรอบละ 20 คน และผ่านจุดคัดกรองไข้ทุกคน ในส่วนของผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าที่มารับยาเดิมตามนัดที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งมีวันละประมาณ 110 คน ได้ปรับเวลาให้บริการเร็วขึ้นกว่าเดิมคือเริ่มตั้งแต่ 8.00 น.เป็นต้นไป
ขณะนี้ดำเนินการแล้วและได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างดี นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า บริการอีก 2 รูปแบบใหม่ ที่รพ.จิตเวชฯจะนำมาใช้ในการลดความแออัดผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก และลดการเดินทางของผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าและญาติให้น้อยที่สุดหรือให้อยู่ใกล้บ้านที่สุดในช่วง 4 เดือนนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ไปจนถึง 31 กรกฎาคม 2563 เป็นบริการเพิ่มเติมจากโครงการจ่ายยาจิตเวชที่ร้านยาใกล้บ้านซึ่งขณะนี้มีร้านขายยาเข้าร่วมโครงการ 10 แห่งซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา
รูปแบบแรกคือการจ่ายยาให้ผู้ป่วยแบบไดรฟ-ทรู ( Drive- Thru ) ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม และมีอาการทางจิตเป็นปกติ โดยจะใช้ระบบติดตามอาการของผู้ป่วยทางโทรศัพท์ตามเกณฑ์มาตรฐาน จากนั้นเภสัชกรจะจัดยาให้กินที่บ้านนานขึ้นเป็นเวลา 3-6 สัปดาห์ และนัดให้ผู้ป่วยไปรับยาได้ที่ร้านขายยา
รูปแบบที่ 2 คือการจ่ายยาจิตเวชทางไปรษณีย์ ใช้กับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาทุกพื้นที่ โดยผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะรับยาทางไปรษณีย์ จะต้องได้รับการประเมินอาการทางจิตของผู้ป่วยในรูปแบบแอพพลิเคชั่น ซึ่งใช้ง่าย ใช้ได้หลายกลุ่มโรค เช่น โรคจิตเภทซึ่งพบได้บ่อยที่สุด รวมทั้งโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น
รายงานผลแบบปัจจุบันทันที หากผู้ป่วยมีอาการทั่วไปปกติดี ไม่มีปัญหาที่เป็นอันตรายใดๆ เภสัชกรจะดำเนินการจัดยาและส่งไปที่บ้านของผู้ป่วยโดยตรงทางไปรษณีย์ ผู้ป่วยและญาติที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 0-4423-3999 ในวันและเวลาราชการ
รพ.ในเครือบีดีเอ็มเอส นำ Tytocare นวัตกรรมตรวจสุขภาพ
โรงพยาบาลในเครือบีดีเอ็มเอส (BDMS) นำร่องโดย โรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลกรุงเทพ นำนวัตกรรมTytocareอุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น ตัวช่วยเพื่อปรึกษาแพทย์ออนไลน์ (Teleconsultation) ช่วยเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยโดยลดการสัมผัสติดต่อใกล้ชิด โดยเฉพาะในระหว่างรอผลตรวจเชื้อขณะพักอยู่โรงพยาบาลของการตรวจผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค
ลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้มีประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุดซึ่ง Tytocare เป็นการรวมชุดอุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น ในรูปแบบที่พกพาง่าย เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ โดยเทอโมมิเตอร์ชนิดอินฟาเรด ตรวจปอดและหัวใจ ด้วยระบบการฟังเสียงและส่งข้อมูลเสียง
รวมไปถึงหู ช่องคอและผิวหนัง ด้วยระบบรูปภาพและวิดีโอเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยผ่านระบบออนไลน์ ออกแบบให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานได้เองอุปกรณ์Tytocare ได้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา(FDA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ของประเทศไทยแล้ว