“ครูสุเทพ” พัฒนาศูนย์เพิ่มทักษะอาชีพ สร้างรายได้เสริม ลดเด็กออกกลางคัน
“หน้าที่ของครู ไม่ใช่เพียงให้ความรู้แก่เด็กเท่านั้น แต่ต้องทำให้พวกเขามีทักษะอาชีพ มีทักษะชีวิต เอาตัวเองรอด ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เท่าทันในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันสูง ขณะเดียวกันต้องดูแลตัวเองและคนในครอบครัวได้”
คำกล่าวข้างต้นเป็นหลักปฏิบัติในการประกอบอาชีพครู ของ ครูสุเทพ เท่งประกิจ ครูนักพัฒนาของโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส จังหวัดยะลา ที่มุ่งมั่นและพยายามหาแนวทางการเรียนการสอนเพื่อทำให้เด็กจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแล้วสามารถออกไปทำงาน สร้างอาชีพ รายได้ ช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวพึ่งพาได้ในอนาคต
ด้วยบริบทของชุมชน และครอบครัวส่วนใหญ่ในพื้นที่จะมีฐานะยากจน จึงมักจะอยากให้ลูกหลานทำงาน เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาครอบครัวมากกว่าจะส่งเสริมให้มีการศึกษาที่ดี ครูสุเทพ กล่าวว่าตั้งแต่เป็นครูมา 38 ปี ได้เห็นเด็กในทุกช่วงวัย ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีความสามารถ ความเป็นตัวตนแตกต่างกัน บางคนเรียนเก่งเมื่ออยู่ในชั้นเรียนครูให้โจทย์อะไรไปก็จะสามารถตอบได้ทันที แต่เด็กหลังห้องบางคนพวกเขาอาจจะไม่เข้าใจด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันหากครูขอให้เด็กช่วยปลูกต้นไม้ ถางหญ้า เด็กหลังห้องจะจับจอบทำทันทีส่วนเด็กเรียนเก่งพวกเขาจะไม่ทำ ดังนั้น เมื่อเด็กแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน ครูต้องช่วยพวกเขาค้นหาศักยภาพและเติมเต็มในส่วนนั้น
“การเรียนการสอนของครูจะนำหลักการพึ่งพาตนเอง และเปลี่ยนไปตามบริบท ความสนใจ ความถนัดของเด็กในแต่ละกลุ่ม เพราะต้องยอมรับว่าบริบทของชุมชน สังคม เทคโนโลยีที่เข้ามา การใช้ชีวิตของเด็กปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีต ตอนนี้พวกเขาสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตนเอง แต่สิ่งที่เขาขาด คือทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ ซึ่งบริบทของเด็กในพื้นที่ จ.ยะลา และชุมชน โรงเรียนที่อยู่ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซีย เพียง 7 กิโลเมตร เด็กส่วนใหญ่เมื่อจบประถมศึกษาปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะออกไปทำงานเป็นแรงงานที่ประเทศมาเลเซีย ได้รับค่าแรงวันละ 250-300 บาท แต่หากเขามีทักษะด้านอาชีพเพิ่มเติมจะช่วยเพิ่มค่าแรงเป็นวันละ 350-400 บาท ผมจึงได้ร่วมกับเพื่อนครูที่โรงเรียนจัดส่งเสริมทักษะอาชีพผ่านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่และศูนย์ช่างเศรษฐกิจพอเพียง”ครูสุเทพ กล่าว
“ครูสุเทพ” เริ่มอาชีพครูมาตั้งแต่ปี 2531 ตอนนี้เป็นเวลากว่า 32 ปี ที่ได้เป็นครูด้วยความที่เป็นคนจังหวัดยะลา และมีชีวิตวัยเด็กที่ไม่ได้ต่างจากเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ฐานะทางบ้านยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ด้วยความรักในการเรียน และความฝันอยากเป็นครู จึงได้ทำงานไปด้วยเรียนไปได้ด้วยโดยการช่างรับจ้างก่อสร้าง ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้เป็นครู จึงได้นำความรู้และประสบการณ์ความเป็นครูด้านสายช่างเข้ามาบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนตามหลักสูตร เพื่อให้เด็กได้รู้จักพัฒนาตัวเอง เสริมอาชีพยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ครูสุเทพ กล่าวต่อว่าตอนแรกที่ครูไปชวนผู้ปกครองให้ส่งลูกหลานมาเรียน เดินไปคุยตามบ้าน แนะนำเด็กให้เรียนต่อ พวกเขาจะไม่สนใจ เพราะไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไมสู้ออกไปทำงานดีกว่า แต่ก็มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ไปเรียนการศึกษานอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และได้ขอความร่วมมือกับทางโรงเรียนคลองน้ำใส ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเดิมสอนเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 เมื่อได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ให้เป็นโรงเรียนขยายโอกาส
“ได้ตั้งศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่และศูนย์ช่างเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีโครงการฝึกทักษะอาชีพ เป็นการฝึกแบบลงมือทำจริง และมีรายได้เกิดขึ้นจริงกับนักเรียนจริง อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างก่อสร้าง ความรู้ด้านภาษาอังกฤษ เพื่อสามารถเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย หรือที่ต่างๆได้ ส่วนของเด็กผู้หญิง จะส่งเสริมการทำอาหาร งานประดิษฐ์ งานเย็บเสื้อผ้า การตัดเย็บผ้าคลุมผม ผ้าพันคอลูกเสือ ไปจนถึงกระเป๋าผ้าที่ปัจจุบันมีการรณรงค์ไม่ให้ใช้ถุงพลาสติก โดยขอความร่วมมือจากครูผู้หญิงเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนเสริมให้แก่เด็ก ขณะนี้เด็กๆ มีทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตติดตัวมีอาชีพ มีรายได้ มีชีวิตที่ดีขึ้น”ครูสุเทพ กล่าว
ครูสุเทพ กล่าวต่อไปว่า เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมีอาชีพ มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เขาต้องมีการศึกษาที่ดี และการศึกษาที่ดีต้องเกิดจากความร่วมมือของครูทุกคนในโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครอง ชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษา และหน่วยงานภายนอกที่เข้ามาสนับสนุนการศึกษาอย่าง โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และสร้างแกนนำเพื่อการพัฒนาทักษะอาชีพสู่การมีงานทำ ที่ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เล่าให้ฟังว่าเป็นโครงการขยายผลจากการทำงานของครูที่ทำสร้างสมเป็นต้นทุนมา
ซึ่งโครงการนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการดูแลเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นสำคัญ ฉะนั้น เมื่อมีหน่วยงานอย่างกสศ.เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติมผ่านโครงการดังกล่าว ทำให้โรงเรียนสามารถจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับภาคปฏิบัติ ทั้งจักรเย็บผ้า ตู้เชื่อม เครื่องตัดเหล็ก เครื่องตัดไม้ กบไฟฟ้า และหินเจียร มาใช้ประกอบการฝึกทักษะ
“ครูสอนเด็กเสมอว่าหากเรียนหนักงานจะเบา แต่ถ้าเรียนเบางานจะหนัก ตอนนี้นอกจากเปิดศูนย์เสริมทักษะอาชีพให้แก่นักเรียนในโรงเรียนแล้ว ยังได้ร่วมมือกับทางกสศ.เพื่อเปิดอบรมให้ความรู้ ฝึกทักษะให้แก่เด็ก เยาวชน รวมถึงคนวัยแรงงานหรือผู้ที่สนใจมาฝึกปฎิบัติ เพิ่มเติมทักษะด้านอาชีพ สายช่างต่างๆ ได้ เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้มีศักยภาพ มีทักษะในการทำงานที่ดีขึ้น ดังนั้น หน้าที่ของครู ของโรงเรียนในขณะนี้ จึงไม่ใช่เพียงสอนหนังสือแต่ต้องเป็นแหล่งเรียน เพิ่มเติมทักษะอาชีพให้แก่ทุกคนแล้ว ครูต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครู เสียสละ มีสมรรถนะความเป็นครู มีความซื่อสัตย์ สุจริตต่ออาชีพครู อยากให้ครูทุกคนทำหน้าที่ของตนเอง พัฒนาตนเองอันนำไปสู่การร่วมกันพัฒนาเด็กตามบริบท และความต้องการของพวกเขา” ครูสุเทพ กล่าวทิ้งท้าย