ข้อควรระวัง! วิธีเช็ค 'เจลแอลกอฮอล์ปลอม' ต้องทำอย่างถูกวิธี

ข้อควรระวัง! วิธีเช็ค 'เจลแอลกอฮอล์ปลอม' ต้องทำอย่างถูกวิธี

คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ชี้แจงกรณีทดสอบเจลแอลกอฮอล์ด้วยด่างทับทิม ที่แม้สะดวกและรวดเร็ว แต่ยังมีข้อควรระวัง!

ตามที่ ปัจจุบันเกิดธุรกิจการผลิตและจำหน่ายเจลแอลกอฮอล์ขึ้นอย่างแพร่หลาย และพบว่าผู้ผลิตบางรายมีการใช้เมทานอลเป็นส่วนประกอบ จึงมีนักวิชาการห่วงใย และให้คำแนะนำเพื่อทดสอบเจลแอลกอฮอล์อย่างง่ายด้วยด่างทับทิม โดยใช้การสังเกตการเปลี่ยนสีภายใน 15 นาที โดยข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนนำข่าวไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางแล้วนั้น

ล่าสุด รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงปิยนุช โรจน์สง่า หัวหน้าฝ่ายเคมี ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจของประชาชนว่า การทดสอบที่แนะนำเป็นการทดสอบสำหรับแอลกอฮล์ที่ไม่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม เจลแอลกอฮอล์มีความหลากหลายของสูตรตำรับ เนื่องจากในเจล หรือผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์มักมีการเติมสารต่างๆ ในตำรับ

ดังนั้น วิธีการทดสอบต่างๆ จึงมีข้อควรระวัง "3 ข้อ" ด้วยกัน

1587140693100

1) การทดสอบดังกล่าวจะให้ผลชัดเจนในกรณีที่ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ปลอมนั้น คือ เมทานอล และไม่ได้เติมส่วนประกอบอื่นๆ

2) การทดสอบผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากเอทานอลหรือ ไอโซโพรพานอล ที่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นเบส เช่น triethanolamine อาจไม่ทำให้สีของสารละลายด่างทับทิมเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และใช้เวลานานกว่า 5 นาทีในการทำให้สีชมพูของสารละลายด่างทับทิมหายไป

3) ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ปลอมที่มีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระเช่น วิตามินอี สารให้ความชุ่มชื้นเช่น glycerine สามารถเปลี่ยนสีของสารละลายด่างทับทิมในน้ำส้มสายชูได้ ถึงแม้จะไม่มีส่วนประกอบของเอทานอล หรือ ไอโซโพรพานอล หมายความว่าการที่ผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบเปลี่ยนสีสารละลายด่างทับทิมก็ยังอาจเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม หรือไม่ได้มาตรฐานได้

158714022190

ดังนั้น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ จากร้านขายยาคุณภาพ หรือผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประกาศว่าเป็นผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่ไม่ได้มาตรฐาน น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ได้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน และนำไปใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ

"คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีศูนย์วิเคราะห์คุณภาพเภสัชผลิตภัณฑ์ (MUPY-CAPQ) ที่ได้มาตรฐานคุณภาพ  ISO/IEC 17025 ซึ่งในส่วนของบริการทดสอบทางเคมี สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ E-mail: [email protected] หรือ FB: CAPQ-Chemical Devision โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งให้ประชาชนจะได้นำข้อมูลทางด้านวิชาการที่ถูกต้องไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป" รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงปิยนุช โรจน์สง่า กล่าวทิ้งท้าย