'Breaking the Silence : เราไม่เงียบ' เพื่อความเท่าเทียมทางเทศ
สค. ร่วมส่งเสียงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ ในงานวัน IDAHOT ประจำปี 2563 ภายใต้แนวคิด “Breaking the Silence : เราไม่เงียบ”
นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้กล่าวปาฐกถาในโอกาสวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ หรือ International Day Against Homophobia Transphobia and Biphobia (IDAHOT) ประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งจัดขึ้นบนชุมชนออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “Breaking the Silence : เราไม่เงียบ” โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งท่านรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นประธานกรรมการ ได้มอบหมายให้ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ใน 4 แนวทางหลัก คือ
(1) การส่งเสริมให้สังคมปรับหลักคิด ความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในความเท่าเทียมระหว่างเพศ
(2) เสริมสร้างพลังและภาวะผู้นำแก่ทุกเพศสภาพด้านเศรษฐกิจและบทบาทต่อสาธารณะ
(3) ส่งเสริมให้ทุกองค์กรมีนโยบาย กฎ ระเบียบ และกลไกที่เอื้อต่อความเท่าเทียมระหว่างเพศ
(4) ส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมในการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ
นอกจากนี้ ได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ร่วมประกาศเจตนารมณ์การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย
ในโอกาสที่วัน IDAHOT วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และ คนรักสองเพศ ปีนี้ สค. ยินดีร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ “ปลุกพลังเสียงของสังคม” ด้วยการเข้าใจ การยอมรับ และเคารพในศักดิ์ศรี ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมตลอดไป
ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นหนึ่งเสียงในการสนับสนุนเสียงของคนหลากหลายทางเพศให้เป็นที่รับรู้ ด้วยการติดแฮชแทค #IDAHOTThailand2020 #nosilence #เราไม่เงียบ
"สค. โดยนโยบายของ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมให้ที่จะให้การคุ้มครอง ช่วยเหลือ เยียวยาแก่ผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง โปรดอย่าลังเลที่จะ“ส่งเสียงของท่านเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม" นางสาวอุษณี กล่าวในตอนท้าย