'ห้าง' ความบันเทิงใจแห่งเดียวของคนเมือง สะท้อนความล้มเหลวของการพัฒนาเมืองของรัฐไทย

'ห้าง' ความบันเทิงใจแห่งเดียวของคนเมือง สะท้อนความล้มเหลวของการพัฒนาเมืองของรัฐไทย

ปรากฏการณ์ที่คนไทยชอบเดินห้างเช่นนี้กำลังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดสรรและจัดการพื้นที่ในเมืองใหญ่ของไทยที่มักจะมีห้างสรรพสินค้าเป็นศูนย์กลางสำคัญ มากกว่าพื้นที่อื่นๆ

หลังจากรัฐบาลไทยคลายล็อคดาวน์และมีคำสั่งให้เปิดกิจการ ‘ห้างสรรพสินค้า’ ขึ้นอีกครั้งภายใต้ระเบียบเมื่อวันที่ 17 . 63 ที่ผ่านมา 

ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่วันเปิดห้างวันแรกหลังจากที่ต้องปิดไปนานถึง 6 สัปดาห์จะมีบรรยากาศที่ประชาชนรอแถวเข้าห้างอย่างคึกคัก เพราะห้างคือสถานที่พักผ่อนและบันเทิงใจครองใจคนไทยตลอดกาล แต่ปรากฏการณ์ที่คนไทยชอบเดินห้างเช่นนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดสรรและจัดการพื้นที่ในเมืองใหญ่ของไทยที่มักจะมีห้างสรรพสินค้าเป็นศูนย์กลางสำคัญ มากกว่าพื้นที่อื่นๆ 

158987936442

  • ทำไมคนไทยชอบเดินห้าง 

เหตุผลหลักๆ ที่พบมากที่สุดคือ ห้างมีความเย็น ไปห้างเพียงครั้งเดียวสามารถทำกิจกรรมได้ครบถ้วน ทั้งรับประทานอาหาร ซื้อของ เดินเล่น และทำธุรกรรมของตนเอง 

ในงานเสวนา 'ทำไมเมืองไทยถึงมีห้างเยอะ' จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านการจัดการทรัพย์สิน และอาจารย์จากภาควิชา การวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ที่มาที่ไปของค่านิยมการแห่ไปเที่ยวห้างของคนไทยมีความเป็นมาจากการที่เดิมสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรซึ่งใช้แรงงานเป็นหลัก พอหมดภารกิจในแต่ละวันก็ไม่มีการพักผ่อนหรือความบันเทิงที่ชัดเจน จะมีก็แต่การกินเหล้า เล่นการพนัน และเข้านอน

แต่ในยุคการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นอุตสาหกรรม สังคมไทยจากเดิมที่มีความเป็นสังคมชนบทก็เริ่มเข้าสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น คนไทยเมื่อเห็นเมืองนอกมีความเจริญ มีการพัฒนาด้านต่างๆ ก็อยากได้ความศิวิไลซ์ต่างๆนานา อยากได้พื้นที่สาธารณะรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือไปจากลานวัดทุ่งนาซึ่งชาวบ้านมักรวมตัวกันในงานบุญงานกุศล หรือกิจกรรมพื้นฐานของชุมชนมาแต่ในอดีต

เมืองในยุคต่อมาเริ่มพัฒนามีย่านการค้า หรือย่านพาณิชยกรรมเกิดขึ้น เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป อย่างเช่นหากต้องการซื้อเสื้อผ้าชุดนักเรียนก็ต้องไปที่บางลำพู ต้องการซื้อผ้าก็ต้องไปที่พาหุรัด อย่างนี้เป็นต้น

การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าตามมาคือการตอบโจทย์ความสะดวกสบายของการนำย่านต่างๆ มารวมกัน

ห้างมันตอบโจทย์ One Stop Service เอาของที่อยู่ในพื้นราบมารวมกัน มีความครบและตอบโจทย์คนไทยที่มีเวลาในชีวิตจำกัดเพราะต้องตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน มีเวลาพักผ่อนน้อยแค่เสาร์อาทิตย์ ถ้าไม่ไปห้างจะไปไหนอาจารย์จิตติศักดิ์ตั้งคำถามลอยๆ

แม้จะมีข้อเสนอจากบางกลุ่มว่าควรมีการจัดให้มีพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ในเมืองมากขึ้น เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ เป็นพื้นที่นันทนาการในเมืองใหญ่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยจำนวนมากไม่ได้มีอุปนิสัยชื่นชมการแสวงหาความรู้ หรือเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่ต้องการเสพความบันเทิงหรือการพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบง่ายๆ อย่างการช็อปปิ้ง การชมภาพยนตร์ การหาอาหารรับประทาน หรือเพียงแค่ได้เดินตากแอร์ในห้างเท่านั้น

  • ความล้มเหลวของผังเมืองที่ส่งผลถึงพฤติกรรม 

ทั้งนี้ การพัฒนาของห้างในยุคปัจจุบันสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อเมือง โดยเฉพาะด้านการจราจร เพราะห้างในยุคสมัยนี้เป็นโครงการขนาดอภิมหาโปรเจกท์ทั้งสิ้น ซึ่งการควบคุมหรือเตรียมการรองรับของรัฐตามไม่ทัน

อย่างเช่น การไม่มีระบบการขนส่งมวลชนที่เพียงพอต่อการรองรับเมื่อมีห้างเปิดใหม่ ประกอบกับปัญหาการวางและจัดทำผังเมืองของประเทศไทยที่ไม่สามารถเร่งให้เกิดการควบคุมหรือชี้นำการพัฒนาที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเมือง หรือพูดให้ตรงคือภาคธุรกิจทำให้การเกิดขึ้นของห้างใหม่ๆ ในทุกแห่งมักตามมาด้วยปัญหาการจราจรติดขัดเสมอ

ต้องยอมรับว่าผังเมืองของ กทม.มันวุ่นวาย ในเมืองนอก เอกชนต้องเสียเงินให้แก่สาธารณะคือเมืองหรือคนในเมือง ที่ได้รับผลกระทบเยอะมากนะถ้าต้องการสร้างห้างหรือโครงการขนาดใหญ่ๆ อะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง เพราะผลกระทบในแต่ละด้านมันเยอะ ทั้งเรื่องการเดินทาง เรื่องพลังงานด้วย อย่างห้างใหญ่ๆ ห้างหนึ่งใช้ไฟฟ้าเท่ากับตำบลเล็กๆ หนึ่งตำบลในต่างจังหวัดกันเลยนะ

อาจารย์จิตติศักดิ์ย้ำว่า ห้างไม่ได้ผิด แต่เป็นวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ตามพัฒนาการของเมืองและสภาพสังคมเศรษฐกิจที่ประกอบสร้างกันขึ้นมา

158987942556

ขณะเดียวกันกับการผุดขึ้นของโครงการห้างสรรพสินค้า อย่างมากมาย ก็มีกระแสบางส่วนที่เรียกร้องให้มีพื้นที่สีเขียวเกิดขึ้น โดยเฉพาะคนไทยรุ่นใหม่ใน กทม. หรือในเมืองใหญ่ๆ มีความโหยหาพื้นที่สาธารณะที่เน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติที่ดี ซึ่งอาจารย์จิตติศักดิ์ระบุว่าในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวจะมีการพัฒนาและเกิดการใช้ประโยชน์ที่จริงจังและ หลากหลายมากขึ้น

พูดถึงที่ว่างหรือสวนสาธารณะในเมือง ในสมัย .6 .7 เรามีบ้านเดี่ยวเป็นหลังๆ มีบริเวณไว้ปลูกต้นไม้ไว้วิ่งเล่น ความเป็นเมืองที่รับรู้กันชัดๆ ก็คงเป็นตึกแถวหรือพวกอาคารราชการ คงไม่มีใครบอกว่าฉันอยากได้พื้นที่สีเขียวหรอกเพราะพื้นที่ว่างมันมีเต็มไปหมด ตอนนั้นคนไทยก็ไม่มีความรู้ด้านผังเมือง แม้จะมีการเรียนการรู้ขึ้นมาแต่มันก็มาทีหลัง มาไม่ทัน เมืองมันโตเร็วกว่า

158987943693

  • ห้าง vs สวนสาธารณะ 

ผลกระทบของการโตเร็วของเมืองทำให้ทุกวันนี้ กทม. แทบจะไม่มีพื้นที่ว่างเหลือพอจะมาทำสวนสาธารณะ เพราะที่ดินมีราคาสูงเกินกว่าจะซื้อมาเพื่อทำเป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนใช้สอยในหลายพื้นที่

กระแสคนรุ่นใหม่รักสุขภาพต้องการใช้สวนสาธารณะเพื่อออกกำลังกายเป็นประจำ อาจเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้พื้นที่สีเขียวของไทยมีความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องมีการจัดการที่ชัดเจน และแบ่งบทบาทหน้าที่ของพื้นที่ให้ชัด

สวนในอนาคตคงไม่ได้ทำหน้าที่แค่สวน เช่น พื้นที่ในเมืองที่มีความแออัดอาจจะมีความต้องการพื้นที่สีเขียวมาใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่บริเวณชานเมืองอาจกลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม หรือใช้เป็นศูนย์อพยพเมื่อประสบภัยพิบัติ อย่างนี้เป็นต้น

ผมย้ำอีกทีนะว่า ห้างไม่ใช่ตัวร้าย ห้างเป็นดัชนีที่ชี้วัดความเป็นอยู่ของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติได้อย่างดี สิ่งที่ควรทำคือเราต้องรู้เขารู้เรา แล้วโตไป พร้อมๆ กัน รู้กันทั้งรัฐทั้งประชาชน รัฐเองก็ต้องพยายามเท่าทันอย่าให้คนด่า อย่าเอื้อประโยชน์แต่คนบางกลุ่ม และอย่าให้คนเดือดร้อนอาจารย์จิตติศักดิ์ทิ้งท้ายไว้

“ผมย้ำอีกทีนะว่า ห้างไม่ใช่ตัวร้าย ห้างเป็นดัชนีที่ชี้วัดความเป็นอยู่ของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติได้อย่างดี”

อาจารย์จิตติศักดิ์ กล่าว

  

158987947557

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดว่าเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตารางเมตร/คน เช่นเดียวกับข้อมูลจากสำนักงานสวนสาธารณะ กรุงเทพมาหนคร (กทม.) ระบุว่า กรุงเทพมีสวนสาธารณะ 7 ประเภท (สวนหย่อมขนาดเล็ก, สวนหมู่บ้าน, สวนชุมชน, สวนระดับย่าน, สวนระดับเมือง, สวนถนน, สวนเฉพาะทาง) รวมแล้วที่ 6.43 ตร.ม./คน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2560)

เทียบจากเกณฑ์ของ WHO แล้ว พื้นที่สีเขียวทั้งในกรุงเทพฯ ยังถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และยิ่งต่ำกว่าพื้นที่สีเขียวในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น บราซิล (52 ตารางเมตร/คน) สหรัฐฯ (23.1 ตารางเมตร/คน) แคนาดา (12.6 ตารางเมตร/คน

  • ย้อนดูพื้นที่สีเขียวในเกาหลี 

จากการสำรวจของ MIT’s Senseable City Lab และ the World Economic Forum พบว่า กรุงเทพฯ ถือว่ามีพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ๆ ของโลก อาทิ ฮ่องกง โซล นิวยอร์ก ปารีส โตเกียว และกวางโจว 

เมื่อย้อนดูป่าในเมืองของประเทศเกาหลีใต้นั้น เป็นประเทศที่มีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจเนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่นำเม็ดเงินมาให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง คือ คลองชองเกชอน (Cheonggyecheon) จากคลองที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โชซอน อายุกว่า 600 ปี มีความยาวประมาณ 11 กิโลเมตร ผ่านกรุงโซล ที่ยุคหนึ่งเคยเป็นคลองที่มีแต่น้ำเน่าเสียคล้ายคลองแสนแสบ ถูกพัฒนาเป็นคลองและสวนสาธารณะใจกลางเมือง ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ตลอดแนวคลองชองเกชอน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 750,000 ล้านบาท

158987950549

ทั้งยังมี “Seoullo 7017” สวนลอยฟ้าที่เกิดจากการปรับปรุงทัศนียภาพและรื้อบางจุดของสะพานยกระดับที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 1970 บริเวณสถานีรถไฟโซล (Seoul Station) ให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับประชาชน และนักท่องเที่ยว มีระยะทางยาวประมาณ 1.24 กิโลเมตร ที่เต็มไปด้วยต้นไม้และดอกไม้กว่า 200 สายพันธุ์ เป็นสถานที่จัดเทศกาล นิทรรศการต่าง อีกทั้งมีให้บริการ Wifi นอกจากนี้ในยามค่ำคืนจะเปิดไฟตกแต่งอย่างสวยงาม ใช้งบประมาณราว 6,000 ล้านบาท ค่าปรับปรุง 1,800 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญได้ในอนาคต

ประเทศไทยเองก็ยังคงมีโครงการเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวในเมืองอยู่เช่นกัน โดยวางเป้าหมายว่าจะต้องมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตร/คน ให้ได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ ณ ปัจจุบันก็ยังมีน้อยกว่าประเทศอื่นๆ อยู่ดี ว่าแล้วเราก็ไปเดินห้างให้หายเครียดรอพื้นที่สีเขียวในอนาคตดีกว่า 

อ้างอิง : 

จุฬาลงกรณ์ ddproperty greennews , กรุงเทพมหานคร