กรม สบส.จัด อสม.ร่วมคัดกรอง ฟื้นฟูสุขภาพใจผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทีมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ออกประเมินคัดกรอง ฟื้นฟูสุขภาพจิต และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในชุมชน ขับเคลื่อนสู่ตำบลวิถีชีวิตใหม่
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.63 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2562 ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease (COVID-19)) ซึ่งนอกจากจะส่งผลในด้านสุขภาพกายแล้ว ยังส่งผลให้ประชาชนเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชตามมา
ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในชุมชน ได้รับการปฐมพยาบาลจิตใจ และให้ความช่วยเหลือด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง จนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ กรม สบส.จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ที่มีกว่า 1,050,000 คนทั่วประเทศ ร่วมประเมินคัดกรอง ฟื้นฟูสุขภาพจิต และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในชุมชน ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน “4x4x4 สู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ ด้วยใจที่เป็นสุข” ดำเนินการสำรวจสุขภาพใจ ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน เป็นต้นแบบพฤติกรรมสุขภาพ และร่วมสร้างมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในชุมชน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน 2563 ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า อสม. ที่เข้าร่วมฟื้นฟูสุขภาพใจผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 นั้น จะได้รับการอบรมวิถีใหม่ (New Normal) ความรู้การปฐมพยาบาลทางใจ การคัดกรองสุขภาพจิต การใช้แบบคัดกรองสุขภาพจิต และแอปพลิเคชั่น “พ้นภัย” เพื่อให้การประเมินคัดกรองสุขภาพจิตแก่พี่น้องประชาชน โดยวิธีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแต่ละครัวเรือนที่ตนดูแล หรือโทรศัพท์พูดคุย หากพบประชาชนที่มีอาการเครียด ซึมเศร้า ความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย หรือมีปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ อสม.ก็จะให้ความช่วยเหลือในการดูแลจิตใจเบื้องต้นตามหลักการปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้น (PFA) ก่อนประสานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมติดตาม แบ่งปัน สื่อสาร ช่วยเหลือแนะนำ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดการขับเคลื่อนสู่ “ตำบลวิถีชีวิตใหม่ ปลอดภัยจากโควิด-19 : ชุมชนสุขกาย สุขใจ สุขเงินสุขสามัคคี”
ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรม สบส. 1426 หรือที่กองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต หมายเลขโทรศัพท์ 02 590 8175 และศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานภาค/ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพในพื้นที่