สร้างมาตรฐาน “รุกขกรไทย” นักศัลยกรรมต้นไม้ ในเขตเมือง
การดูแลต้นไม้ในเขตเมือง ถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดปัญหาต้นไม้โค่นล่ม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลต้นไม้ในเขตเมืองอย่าง “รุกขกร” ในไทยกลับมีไม่ถึง 10 คน การสร้างมาตรฐานในระดับ Local จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มโอกาส ยกระดับมาตรฐานให้กับอาชีพรุกขกร
ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ชุมชนเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อหัวประชากร ขณะที่ประเทศไทยในเมืองใหญ่อย่าง กทม. มีเฉลี่ย 6 ตารางเมตรต่อหัวประชากร และหากตัดพื้นที่สีเขียวที่คนเข้าไม่ถึง เช่น สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล สนามกีฬา ออกครึ่งหนึ่ง นั้นหมายถึงว่า เรามีพื้นที่สีเขียวในกทม. เฉลี่ย 3 ตารางเมตรต่อหัวประชากรเท่านั้น ย้อนกลับไปที่ตัวเลขซึ่งคิดจากประชากรที่อยู่ตามสำมะโนครัว ไม่ได้รวมประชากรแฝงอีกครึ่งหนึ่ง ดังนั้น ตัวเลขของพื้นที่สีเขียวของคน กทม. จริงๆ จึงมีอยู่ราว 1.5 ตารางเมตรต่อหัวประชากรเท่านั้น
ขณะเดียวกัน พื้นที่สีเขียวของเมืองใหญ่ ในต่างประเทศมีการเก็บดาต้าต้นไม้ทุกต้นเหมือนประวัติ ทุกปีจะมีคนที่เข้าไปตรวจแต่ละต้นว่าเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ มีการเก็บข้อมูลต้นไม้ทุกต้น ตรวจสอบประจำ ต้นไม้ของประเทศสิงคโปร์จึงสวยและปลอดภัย กลับมาที่บ้านเรามีการเก็บดาต้าต้นไม้เพียงพื้นที่เล็กๆ เช่น ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีโค้ดของต้นไม้ประจำต้น มีการตรวจสอบอันตราย โรค สุขภาพเป็นประจำ และเก็บเป็นฐานข้อมูล
การเก็บดาต้าต้นไม้ เป็นเหมือนทะเบียนประวัติที่ควรจะต้องมี อาจเก็บข้อมูลต้นไม้สำคัญทางประวัติศาสตร์ ขนาดใหญ่ ต้นไม้เก่าแก่ หรือมีความเสี่ยงที่จะล้ม ทำให้เกิดความเสียหาย เช่น ต้นไม้ริมถนน ต้นไม้บริเวณที่มีคนหนาแน่น เพราะต้นไม้เสื่อมสภาพตลอดเวลา แต่สามารถพยากรณ์ได้จากข้อมูลที่เรามี เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากปัญหาต้นไม้ในเมืองใหญ่ของประเทศไทยที่โค่นล้ม ก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน สาเหตุหนึ่งมาจากขาดการเก็บประวัติ ขาดการดูแลรักษา
ทั้งนี้ ต้นไม้ก็ต้องการการดูแลที่ถูกต้อง เหมาะสม เพื่อให้มีชีวิตที่ยืนยาวที่สุด โดยคนที่สามารถจะดูแลต้นไม้จริงๆ แต่คนที่จะสามารถดูแลต้นไม้ได้อย่างถูกต้องจริงๆ อย่าง “รุกขกร”(Arborist) ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ดูแลต้นไม้ในเขตเมือง หรือนักศัลยกรรมต้นไม้ใหญ่ ในประเทศไทยกลับมีไม่ถึง 10 คน
ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในรุกขกรของไทยที่ผ่านการรับรองระดับนานาชาติจาก “สมาคมรุกขกรรมนานาชาติ” (ISA-International Society of Arboriculture) และเป็นหนึ่งในกรรมการสมาคมรุกขกรรมไทย อธิบายว่า คำว่า “รุกขกร” ไม่ใช่คนตัดต้นไม้อย่างเดียว เราต้องแยกกันระหว่าง “รุกขกร” (Arborist) ซึ่งจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต้องรู้จักต้นไม้ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง รู้จักดิน น้ำ อากาศ มีความเชี่ยวชาญ ขณะที่ “คนตัดต้นไม้” (Tree Worker Climber) ซึ่งปีนต้นไม้ได้ ใช้เลื่อยเป็น ทำงานปลอดภัย หากเคยทำงานที่สามารถปีน ใช้เชือกได้ มาฝึกเพิ่มอีกเล็กน้อยก็สามารถประยุกต์เป็น Tree Worker Climber แต่อาจจะไม่รู้จักต้นไม้เลยหรือรู้จักน้อยมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เรียกตัวเองว่ารุกขกรในตอนนี้ จะไปอยู่ในกลุ่ม Tree Worker Climber มากกว่า แต่ตอนนี้ประเทศไทยควบรวมกัน ใครที่ปีนต้นไม้ได้เราเรียก รุกขกรทั้งหมด
“ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ คนที่เป็น Tree Worker Climber เขาไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้ ขณะที่การจัดการต่างๆ เกี่ยวกับต้นไม้ ไม่ใช่แค่ตัดอย่างเดียว บ้านเรามีคนที่เชี่ยวชาญ จบมาด้านนี้และเป็นรุกขกรจริงๆ น้อยมาก รุกขกร ที่อยู่ในบ้านเรามีไม่ถึง 10 คน ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน มีราว 200 – 300 คน แม้แต่มาเลเซียก็มีกว่า 100 คน"
- กว่าจะเป็นรุกขกร
ทั้งนี้ คุณสมบัติเบื้องต้นในการสอบ ISA คือ ต้องจบการศึกษาเกี่ยวกับวนศาสตร์ พฤกษศาสตร์ พืชสวน หรือมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวข้องกับรุกขกรอย่างน้อย 2 ปี โดยต้องยื่นโปรไฟล์เพื่อให้ทางสมาคมพิจารณาตรวจสอบก่อน หากผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยจะถูกเรียกไปสอบข้อเขียน และต้องสอบเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องเดินทางไปสอบยังประเทศที่มีการสอบ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยจะได้รับการรับรองในสาขา ISA Certified Arborist และสามารถสอบในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติมได้ต่อไป
สำหรับ การรับรองจาก ISA ได้แก่ ISA Certified Master Arborist รุกขกรระดับสูง , ISA Certified Arborist รุกขกรที่ได้รับการรับรอง , ISA Certified Arborist Utility Specialist รุกขกรผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการต้นไม้กับสาธารณูปโภค , ISA Certified Arborist Municipal Specialist รุกขกรผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการต้นไม้ในเขตเมือง , ISA Certified Tree Worker Climber Specialist ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติงานบนต้นไม้ , ISA Certified Tree Worker Aerial Lift Specialist ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติบนต้นไม้ด้วยกระเช้า และ ISA Tree Risk Assessment Qualified ผู้ประเมินความเสี่ยงอันตรายจากต้นไม้
ล่าสุด สมาคมรุกขกรไทย จึงได้มีการผลักดันให้มี Local Standard เป็นใบรับรองของในประเทศเอง เช่นเดียวกับ ประเทศอื่นๆ ที่มีรุกขกร ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจัดทำระเบียบการ ตั้งแต่เข้ามาสมัคร การทำงาน การต่ออายุ การออกข้อสอบโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน เป็นต้น และให้ผู้ทรงคุณวุฒิช่วยตรวจสอบความถูกต้อง
ทั้งนี้ ตั้งเป้าการสอบไว้ 2 สาขา คือ รุกขกร (Arborist) ซึ่งสอบข้อเขียนผ่านอย่างเดียว และ ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ (Tree Worker Climber) ต้องสอบข้อเขียนและสอบทักษะภาคปฏิบัติ คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถเปิดให้สอบได้ 1 สาขา โดยขณะนี้ได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการหลายแห่ง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ หน่วยงานที่รับรองวิชาชีพต่างๆ เพื่อเตรียมทุกอย่างให้พร้อม
ดร.พรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เรากำลังสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติงานรุกขกรรมขึ้น ในการออกใบรับรอง รุกขกร ในลักษณะ Local Standard ต่อไปใครที่จะตัดต้นไม้อยากจะเป็นรุกขกร ต้องเข้ามาอยู่ในระบบก่อน เพื่อตรวจสอบรับรองให้ว่ามีความรู้พอ รู้จักต้นไม้ดีหรือไม่ ตัดต้นไม้สวยหรือไม่ ต่อไปนี้ในอนาคต ที่เราหวัง คือ หากจะตัดต้นไม้ คุณควรจะเลือกคนที่จะเข้ามาทำงานจากลิสต์ที่เรารับรองให้ว่าเขาคือผู้ที่มีความรู้จริงๆ
“ตรงนี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นภาคสมัครใจ ว่าจะจ้างหรือไม่ก็ได้ คนที่จะตัดต้นไม้จะเข้ามาอยู่ในระบบหรือไม่ก็ได้ แต่หากคุณเข้ามาอยู่ในระบบ หรือ จ้างคนที่เรารับรอง มั่นใจได้ว่าต้นไม้ของคุณจะสวยและสุขภาพดี” ดร.พรเทพ กล่าว
---------
***ภาพประกอบ : Facebook - KU รุกขกร