12 สาขา การแพทย์ศักยภาพสูง ต่างชาติรับบริการในไทย
หลังศบค.ผ่อนปรนเปิดต่างชาติเข้ารักษาในไทย คาดว่าใน 3 เดือน จะสร้างรายได้กลับเข้าประเทศ 30-40% มูลค่า 18,000 ล้านบาท จาก 12 สาขารักษาพยาบาลศักยภาพสูงต่างชาติใช้บริการ ขณะที่การควบคุมโรคเข้ม อนุญาตผู้ติดตามได้ไม่เกิน 3 คน ต้องอยู่ในรพ.จนครบ 14 วันทุกคน
จากกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติเห็นชอบมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 6 ซึ่งเป็นการปรับเงื่อนไขและอนุญาตเพิ่มเติมให้ชาวต่างชาติจำนวน 4 กลุ่มเข้ามาประเทศไทย โดยหนึ่งในนั้นคือกลุ่มผู้ที่เข้ามารับบริการดูแลรักษาพยาบาล และมีโปรแกรมแพ็คเกจทัวร์ที่เชื่อมโยงเข้าไป ( Medical and Wellness)นั้น
ในคู่มือแนวทางการจัดทำ Alternative Hospital Quarantine สำหรับกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า มูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากผู้ป่วยและผู้ติดตามโดยการประมาณการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ใช้บริการด้านการแพทย์ในภาพรวมของประเทศไทยในปี 2562 พบว่า ผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการด้านการแพทย์ในบริการรักษาพยาบาลที่มีศักยภาพสูง คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อคนต่อครั้ง ดังนี้ 1. เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ 15,055.56 บาทต่อคน 2.การป้องกันดูแลเส้นเลือดหัวใจ 139,989.47 บาทต่อคน 3.การรักษากระดูกข้อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ 3 แสนบาทต่อคน 4.ทันตกรรม 29,023.33 บาทต่อคน 5.การรักษาผู้มีบุตรยาก 484,562.50 บาทต่อคน 6.การรักษาโรคมะเร็ง 705,521.22 บาทต่อคน 7.การปลูกถ่ายอวัยวะ2,010,000 บาทต่อคน 8.การศัลยกรรม ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับประเถทหัตถการ 9. การตรวจสุขภาพ 26,253.67 บาทต่อคน 10.ผู้ป่วยอายุรกรรม 50,000-1 แสนบาทต่อคน 11.การผ่าตัดหัวใจ 550,000 บาทต่อคนและ 12. การผ่าตัดทำบอลลูน 350,000 บาทต่อคน
สำหรับประมาณการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยชาวต่างชาติเดิมในปี 2561 เดินทางเข้ามาจำนวนครั้งเฉลี่ย 3.2 ล้านครั้งต่อปีหากมีผู้ติดตามจำนวน 1 รายจะมีค่าใช้จ่ายในการเข้าพักห้องเดี่ยวและการอำนวยความสะดวกระหว่างรักษาตนเองคิดเป็น 3,000-8,000 บาทต่อวัน เดิมมีรายได้รวมจากการให้บริการรักษาพยาบาลเป็นเงิน 45,000 ล้านบาท หากมีการเปิดระบบ Alternative Hospital Quarantine คาดว่าจะมีผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติกลับเข้ามารับการรักษาพยาบาล 5% ภายใน 3 เดือนหรือคิดเป็น 160,000 ครั้งทั้งผู้ป่วยเก่าและใหม่ สามารถสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ 30 - 40 %คิดเป็นเงินมูลค่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักประกอบด้วย กลุ่มประเทศ GCC หรืออ่าวอาหรับ กลุ่มCLMV 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม รวมถึง จีน บังกลาเทศ มัลดีฟส์ ภูฏาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และเอเชียใต้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากรายงานผลการวิจัยและสำรวจข้อมูลด้านบริการสุขภาพและบริการเพื่อสุขภาพของไทยประกอบการจัดทำศูนย์ข้อมูลรองรับนโยบายเมดิคัลฮับเดือนพฤษภาคม 2562 และโรงพยาบาลเอกชน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จริงๆมีการผ่อนปรนต่างชาติที่มีความต้องการทางการแพทย์มาโดยตลอดอยู่แล้ว เพื่อเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม เช่น เหตุฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต เป็นต้น สำหรับกลุ่มMedical and Wellnessนั้น หมายความว่ามีต่างชาติบางส่วนที่เชื่อในขีดความสามารถทางการแพทย์ของประเทศไทยและมารับบริการ หลักการในกลุ่มนี้จึงพิจารณาในกลุ่มคนที่ตรวจแล้วไม่ติดโรคโควิด และเป็นการบริการรักษาที่ไม่ค่อยมีโอกาสแพร่โรคที่สอดคล้องกับขีดความสามารถหรือมีชื่อเสียงของประเทศไทย อาทิ เสริมความงาม เสริมจมูก การมีบุตรยาก เป็นต้น
ขั้นตอนการเข้ามาในประเทศไทย จะต้องมีการตรวจยืนยันก่อนว่าไม่ติดโควิด เพราะไม่รับผู้ป่วยที่มีโควิดเข้ามา และเมื่อเข้ามาแล้วต้องอยู่ยังสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่เข้ารับบริการให้ครบระยะเวลา 14 วัน ซึ่งถือเป็นการกักแต่ระหว่างนั้นก็ทำการรักษา โดยกักอยูในรพ.แต่หากรักษาเสร็จก่อนก็ต้องอยู่ให้ครบ 14 วันรวมถึงญาติและผู้ติดตามซึ่งอนุญาตให้มาได้ไม่เกิน 3 คนก็ต้องอยู่ในสถานพยาบาลครบ 14 วันด้วย หลังจากนั้นถึงจะออกจากรพ.ไปทำงานหรือไปท่องเที่ยว โดยส่งเสริมให้เที่ยวต่อในประเทศไทยได้เลย ตามแพ็คเกจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้กำหนด
"ผู้ที่แจ้งประสงค์เข้ามานั้นอาจเป็นทั้งผู้ป่วยที่เคยรับบริการมาก่อนและอาจจะผู้ที่ประสงค์ใหม่ ในส่วนนี้รพ.เอกชนจะร่วมกับภาคราชการ ในการตรวจสอบเรื่องของรายชื่อและประสานงาน ซึ่งเวลาคนเข้าประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจะต้องเป็นผู้พิจารณา รับรู้และต้องออกใบอนุญาติ และต้องเข้ามาด้วยกระบวนการจัดการที่รัดกุม"นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ด้านทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ขณะนี้ ได้ประกาศรายชื่อและออกใบประกาศรับรองสถานพยาบาลที่ร่วมเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) แล้ว 124 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 98 แห่ง และคลินิก 26 แห่ง และได้เปิดรับผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาลแล้ว โดยอนุญาตเฉพาะผู้ป่วยที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศสีเขียว ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ จีน เมียนมาร์ และกัมพูชา เฉพาะการรักษาพยาบาลและบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่มีศักยภาพสูง (Magnet) อาทิ โรคตา โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ภาวะมีบุตรยาก ศัลยกรรมเสริมความงาม เป็นต้น ซึ่งเป็นการรักษาโรคตามกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีการรักษาโรคโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติมีผู้ติดตามได้ไม่เกิน 3 คน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีกลไกควบคุมกำกับดูแลโรงพยาบาลทางเลือกอย่างเข้มงวด ผู้ป่วยและญาติที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจะต้องมีหนังสือรับรองผลการตรวจโควิด 19 ก่อนเข้าประเทศไม่เกิน 72 ชั่วโมง และเมื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลจะได้รับการตรวจซ้ำอีก 3 ครั้ง คือ วันแรก, วันที่ 5-7 และในวันที่ 14 หากผลการตรวจไม่พบเชื้อ จะอนุญาตให้ผู้ป่วยและผู้ติดตามออกจากโรงพยาบาลได้ พร้อมหนังสือรับรองการกักกันตัวครบ 14 วัน ที่อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ออกให้ และจะสามารถไปท่องเที่ยวตามแผนการเดินทางที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศ ทั้งธุรกิจด้านการแพทย์และการท่องเที่ยวของประเทศตามนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)