ครูปิ๊ก 'ชฏานาง หุ่นกระบอก'เปิดบ้านไทยสอนปั้นและเชิดหุ่นที่นครปฐม
ถ้าไม่อยากให้"หุ่นกระบอก" หายไปจากแผ่นดินนี้ ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า การอนุรักษ์ คือ การเผยแพร่ สอนให้ทำเป็น เชิดเป็น และนี่คือสิ่งที่ช่างไทยคนนี้กำลังทำอยู่ เธอสอนเด็กๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
“เป็นเรื่องแปลกมาก ทุกคนอยากอนุรักษ์หุ่น แต่พอเราอยากเรียนนั่นนี่...ไม่สอน ก็เลยตั้งใจว่า ถ้าทำเป็นทุกอย่างจะสอนให้หมดเลย หากต้องการอนุรักษ์ ก็ต้องสอนคนอื่น” ปิ๊ก-คชาภรณ์ สำราญใจ ครูอาสาเจ้าของกลุ่มและเพจ ชฏานาง หุ่นกระบอก เล่า
นับตั้งแต่เธอก้าวมาสู่แวดวงศิลปะไทยๆ เธอพยายามลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ว่าแกะสลักไม้ ขึ้นโครงหุ่น เย็บเสื้อผ้า ปักลวดลาย และเชิดหุ่น
ก่อนหน้านี้เธอไม่ได้มีพื้นเพด้านศิลปะหรืองานช่าง เคยเป็นผู้ผลิตรายการทีวีและผู้สื่อข่าว จนมาเปิดบริษัทผลิตรายการตัวเอง แต่ปัญหาการเมือง ทำให้รายการหลุดผัง ทั้งๆ ลงทุนซื้อรถ ซื้อกล้อง ทำห้องตัดต่อไปแล้ว จึงมีหนี้สินมากมาย จนถูกฟ้องร้อง
"ตอนนั้นต้องไปขึ้นศาล ค่อยๆ ทยอยใช้หนี้ แต่ด้วยพื้นเดิม เราเห็นคนทำงานชุมชน และชอบงานศิลปะ ไม่ได้เรียนด้านนี้ แต่ขวนขวาย ที่ไหนมีสอนเกี่ยวกับศิลปะไทยๆ ก็ไปเรียนหมดทุกที่ ส่วนใหญ่คนจะหวงไม่ค่อยสอน จนมาเจออาจารย์วรวินัย หิรัญมาศ ตอนนั้นเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเพาะช่าง สอนทำหัวโขน หุ่นกระบอก และได้เรียนกับคุณยายชื้น สกุลแก้ว ตอนนั้นคุณยายไปสอนที่ธรรมศาสตร์ จนคุณยายเสีย ก็มาเรียนกับลูกศิษย์คุณยาย พอทำไปได้สักพัก ก็รู้ว่าจะเดินต่อทางไหน จึงเช่าห้องเล็กๆ แถวพรานนกทำงานศิลปะภาพนูนต่ำ ตอนมีหนี้เยอะๆ จึงรู้สึกฟุ้งซ่าน ก้มหน้าก้มตาทำงานศิลปะตั้งแต่เช้า เงยหน้ามาก็เย็นแล้ว ใจจดจ่อ จึงได้เรียนรู้ว่า นี่คือสมาธิจากการทำงานนั่นเอง”
เมื่อรู้ทางตัวเอง มีวิชาความรู้เรื่องหุ่นแล้ว ก็เลยเปิดสอนให้เด็กๆ เรียนรู้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้คิดคำนวณค่าอยู่ ค่ากิน
“ตอนนั้นทำภาพนูนต่ำ 6-7 รูป ก็ไม่คิดว่าจะขายได้ แต่ขายได้ เพราะเราตั้งใจทำให้สวย ส่วนเรื่องทำหุ่น เมื่อทำแล้วก็สนุก สอนฟรีๆ จนลืมคิดไปว่า เรามีค่าเช่าตึกและค่าอาหารต้องจ่าย คิดได้ก็เปลี่ยนเป็นขับรถตระเวนสอน แล้วไปปักหลักที่วัดภุมรินทร์ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่นั่นมีบ้านทรงไทยสองหลัง กุฏิเจ้าอาวาสกับบ้านทรงไทยห่างกันมาก ไม่อย่างนั้นเป็นผู้หญิงไปอยู่ในวัด คงโดนครหา อีกอย่างอัมพวาเป็นเมืองหุ่นกระบอก จึงอยู่ที่นั่นนานมาก”
เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น เธอจำคำที่ครูบอกว่า ไม่ต้องหาครูสอนทำหุ่นกระบอกหรอก ไม่มีใครสอน ส่วนใหญ่จำมา ทำเอง
“อาศัยว่าเราเรียนรู้ จนเป็นช่างไทยที่ปั้นหุ่น ทำหุ่นได้ ก็ได้เงินจากตรงนั้นมาใช้จ่ายในการสอนเด็ก เลี้ยงอาหาร เมื่อเราเป็นช่าง ก็รู้ว่าต้องทำประมาณไหน มีเวลาเมื่อไร ก็แวะไปดูหุ่นหลวง 4-5 ตัว ในพิพิธภัณฑ์ ดูสัดส่วนหุ่นและสายชักเชิดหุ่น และเมื่อทำหุ่นแบบไหนได้แล้ว ก็จะเพิ่มความยากไปเรื่อยๆ แรกๆ ทำหัวโขน ปั้นหน้าตาได้ ไม่ต้องทำเสื้อผ้า จนมาทำหุ่นกระบอก ปั้น วาด เขียน ปัก ลงรัก ปิดทองทำได้หมด”
เรือนไทยที่สอนทำหุ่นกระบอกในวัดภุมรินทร์ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งใน อ.อัมพวา แต่เมื่อโรคระบาดโควิดมา ทุกอย่างถูกกวาดเรียบ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว
“เวลาสอนทำหุ่น เชิดหุ่น ปิ๊กไม่ได้สอนแบบวิชาการ แต่สอนแบบบ้านๆ ไม่เคี่ยวเข็ญเด็กเกินมากไป เด็กจะเรียนได้เร็วกว่าเคี่ยวเข็ญ เราสอนแบบสมัยใหม่ มีเวลาทำกับข้าวกินกัน บางโรงเรียนส่งครูและนักเรียนมาเรียน แล้วไปสอนต่อ นั่นแสดงว่าประสบความสำเร็จแล้ว เรียนไปแล้วก็นำสิ่งที่เรียนไปสร้างเป็นเรื่องราว เราเชื่อว่าคนที่มาเรียนศิลปะไทยๆ แบบนี้ อยากมีความสุข มันเหมือนการฝึกสมาธิ แม้บางคนจะคิดว่า มาเรียนทำหุ่นแบบไทยๆ คงน่าเบื่อ แต่ที่เราสอนไป เด็กๆ อยากกลับมาเรียนอีก พ่อแม่บางคนจ้างเราให้นั่งเครื่องบินไปสอนลูกเขาที่เชียงใหม่ ก็มีเหมือนกัน และตอนโควิดระบาดหุ่นที่ชาวต่างชาติสั่งไว้ มัดจำเงินไว้ครึ่งหนึ่ง เขาทิ้งหุ่นไปเลย"
หลังจากเจอเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา เธอจึงอพยพกลับบ้านที่นครปฐม เช่าเรือนไทย ริมแม่น้ำท่าจีน ตลาดน้ำลำพญา อ.นครชัยศรี เป็นสถานที่สอนเด็กและคนสนใจหุ่นกระบอก โดยสอนให้ฟรีเหมือนเดิม
“อยู่ใกล้แม่น้ำท่าจีน เราตั้งใจว่าจะทำลานให้เด็กๆ มากางเต้นท์เวลามาเรียนไม่มีที่พัก แต่ตอนนี้กำลังจัดการพื้นที่และบ้านอยู่ บ้านไทยหลังนี้เราเช่า เพราะเจ้าของบ้านเห็นว่า เราทำงานช่างแบบไทยๆ แต่ต้องพัฒนาพื้นที่เอง รกมาก ตอนนี้ทำอยู่คนเดียว ก็อยากได้อาสาสมัครมาช่วย อาศัยแรงอึดของเราเอง ถ้าคิดลบๆ คงเลิกทำไปแล้ว ปิ๊กรักการทำหุ่น ทำไปจินตนาการไปว่า เสร็จแล้วจะสวยแค่ไหน และงานที่เราทำ พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ บางทีก็รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีแนวร่วม”
หุ่นที่เราทำออกมาขาย เราก็บอกว่า อย่าเอาไปเล่นๆ แค่สวยงาม ถ้าทำเรื่องหุ่นกระบอก ก็ควรทำจริงจัง โรงเรียนก็นำหุ่นไปแสดง ตอนนี้เรากำลังทำหุ่นหลวงประมาณ 20 ตัวแกะจากไม้ทองหลาม ต้องนำไม้ไปตากแดดเป็นปีๆ ตอนนี้ขึ้นโครงแขนขาไว้แล้ว "
และสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนทำงานศิลปไทยๆ คือ ต้องมีรายได้เลี้ยงตัวเอง เธอแบ่งปันรายได้บางส่วนเพื่อใช้ต่อยอดสอนเด็กๆ ที่ไม่ค่อยมีเงิน โดยทำหุ่นกระบอกขาย เธอตั้งใจว่า ราคาหุ่นที่ตั้งไว้ ผู้บริหารโรงเรียนและคนรักงานศิลปะต้องเอื้อมถึง โดยยังคงไว้ซึ่งความงามแบบไม่มีที่ติด
“หุ่นแต่ละตัวที่ทำขึ้น ทำด้วยความประณีต ในโรงแรมขายประมาณ 25,000 บาท เราขาย 5,000 บาทโดยไม่จำเป็นต้องลดเกรดวัสดุ ก็ทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง ทำอาหารแบ่งปันเลี้ยงเด็กๆ ที่มาเรียนได้ บางโรงเรียนสั่งหุ่นกระบอกเป็นแพ็ค สิบกว่าตัว ไม่ว่าพระนาง ยักษ์ คนใช้ ฯลฯ บางทีก็ให้เด็กๆ ช่วยกันทำ”
............
หมายเหตุ : เพจและกลุ่ม‘ชฏานาง หุ่นกระบอก’ ติดต่อได้ที่เบอร์ 08 7983 1075
ครูปิ๊ก-คชาภรณ์