สายธารพระเมตตา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาและวันแม่แห่งชาติ 2563
“รักเอยรักลูก แม่จึงปลูกคุณธรรมให้รักษา
รดความรักพรวนความดีมีเมตตา ลูกเติบใหญ่แทนคุณค่าของแผ่นดิน”
คำขวัญพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ปี 2563
12 สิงหาคมของทุกปี นับเป็นวันมหามงคลสำหรับปวงชนชาวไทย เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยในปีพุทธศักราช 2563 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 88 พรรษา พสกนิกรทั้งหลายจึงพร้อมใจน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ประสูติเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินี ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 หลังพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม
และในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินีเป็น ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี’
นับแต่นั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทยและในฐานะคู่พระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาพสกนิกรชาวไทยทั่วกัน
12 สิงหา วันแม่แห่งชาติ
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า 12 สิงหาคมของทุกปี นอกจากจะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังมีความสำคัญในฐานะ ‘วันแม่แห่งชาติ’ ซึ่งตามประวัติความเป็นมาระบุว่า แต่เดิมนั้นมีการกำหนดเอาวันที่ 15 เมษายนของทุกๆ ปีเป็น ‘วันแม่แห่งชาติ’ โดยเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้ประกาศรับรองเอาไว้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่เป็นส่วนงานของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง จึงได้มอบหมายให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้จัดงานวันแม่มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พุทธศักราช 2493 เป็นต้นมา
ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2519 ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงวันแม่ใหม่ โดยให้ถือว่าวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งก็คือวันที่ 12 สิงหาคม เป็น ‘วันแม่แห่งชาติ’ โดยได้เริ่มประกาศใช้เป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2519 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ หนังสือของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ชื่อ ‘แม่หลวงของปวงชน’ พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2520 มีข้อความตอนหนึ่งเทิดพระเกียรติไว้ว่า …
“แม่ที่ดีย่อมรู้จักส่งเสริมธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เพราะแม่ทราบดีว่าถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้วความเป็นไทยที่แท้จริงจะมิปรากฏอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา
แม่ที่ดีย่อมประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี ตามระบอบของการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข โดยรักเคารพและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด
หญิงไทยทุกคน ย่อมจะมีคุณลักษณะต่างๆ ของแม่ที่ดีดังกล่าวข้างต้นอยู่แล้ว จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการศึกษาและการฝึกอบรม แต่จะหาหญิงใดที่มีคุณลักษณะครบถ้วนทุกประการเสมอเหมือนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ นั้นไม่ง่ายนัก ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเทิดทูนพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่าทรงเป็นแม่หลวงของปวงชน ผู้ทรงเป็นศรีสง่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของบ้านเมืองและของประชาชนชาวไทยทั้งมวล”
พระราชกรณียกิจนานัปการ
นับเนื่องตั้งแต่ทรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร โดยได้เสด็จพระราชดำเนินติดตามสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปยังทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทรงสนพระทัยในศิลปวัฒนธรรมและงานหัตถศิลป์ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อหนุนเสริมให้ผลงานของชาวบ้านได้รับการยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่า ไม่เพียงสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชนบทที่ห่างไกล ยังแสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก
“…ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอมาว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็น…” พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พุทธศักราช 2532
จากพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ก่อเกิดเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับคนไทย พร้อมทั้งเป็นการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยให้คงอยู่กับสืบไป นอกจากนั้นยังทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะกุศลที่ก่อตั้งขึ้น โดยมีภารกิจในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติและศาสนาอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม กระทั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2553 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีมติเห็นชอบ ถวายพระราชสมัญญา พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นฐานการดำรงชีวิตของพสกนิกร
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
แม้ว่าในปีนี้ประเทศไทยและทั่วโลกจะอยู่ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การจัดกิจกรรมหลายอย่างต้องงดเว้นไป แต่เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รัฐบาลจึงได้แนะนำให้มีการจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมเครื่องราชสักการะ และจัดที่สําหรับลงนามถวายพระพรชัยมงคล รวมทั้งประดับธงชาติไทยคู่กับธงอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. ตลอดจนจัดทำคําถวายพระพรชัยมงคลบนหน้าหลักของเว็บไซต์ของหน่วยงานแสดงความจงรักภักดี
สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถร่วมน้อมรำลึกในพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณได้ในนิทรรศการเทิดพระเกียรติต่างๆ อาทิเช่น งาน ‘สายธารพระเมตตา จากภูมิปัญญาสู่สากล’ จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรม ร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาผ้าไหมไทย ในรูปแบบนิทรรศการและการแสดงผลงานการออกแบบ เครื่องแต่งกายผ้าไหมไทย ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน
"นับเป็นเวลาหลายทศวรรษที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และมีพระราชปณิธานในการส่งเสริมงานศิลปาชีพด้านผ้าไหมไทย เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระ ชนมพรรษาครบ 88 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้จัดงานสายธารพระเมตตา จากภูมิปัญญาสู่สากลขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและฉลองปีมงคลนี้
โดยในงานจะเป็นการรวบรวมผลงานผ้าไหมที่มีความงดงามหลากหลายรูปแบบ เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีต่อผ้าไทย ทั้งยังทรงส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่พสกนิกร และอาชีพทางด้านหัตถกรรมการถักทอผืนผ้าไหมที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์และมรดกของประเทศไทยสืบต่อไป” อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในโอกาสเปิดงาน
สำหรับนิทรรศการนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ล้ำค่าผ้าไหมไทยสู่สากล’ แบ่งการจัดแสดงเป็น 2 ส่วน คือ 1.การผลิตผ้าไหมไทย นำเสนอเรื่องราวการผลิตผ้าไหมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไหมมัดหมี่ ลวดลายมัดหมี่ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ อาทิ ลายดอกแก้ว ลายต้นสนลายนาค ลายใบไผ่ ลายโคมห้า ลายขันหมากเบ็ง (ลายบายศรี) เป็นต้น 2.การแสดงหุ่นโชว์ชุดราตรีผ้าไหมไทย ที่เคยแสดงในงาน Thai Night โดยชุดทั้งหมดตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระบรม ราชชนนีพันปีหลวง ภายใต้คอนเซปต์ ‘มงคล’ ไล่เรียงตามสีมงคลประจำวันของไทย จากวันจันทร์ไปจนถึงวันอาทิตย์
รวมถึงหุ่นโชว์ชุดฝีพระหัตถ์ทรงออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งทรงได้แรงบันดาลใจมาจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ใช้เทคนิคการร้อยและปักลูกปัดแบบโอตกูตูร์ มีการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าไหมแพรวามาผสมกัน (นิทรรศการจะจัดแสดงจนถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2563)
โอกาสนี้จึงถือเป็นวาระมหามงคลที่ทุกคนจะได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและร่วมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจตลอดหลายทศวรรษของพระพันปีหลวงแห่งปวงไทย