จัด”ทีมสวอป”300 คนตรวจโควิดคนฝั่งเมียนมาลักลอบเข้าไทย
สธ.ยกระดับสกัดโควิด19พื้นที่ชายแดนเมียนมา วาง 3 มาตรการ จัด”ทีมสวอป” 300 คน ประจำตลอดแนวตะเข็บ ตะครุบเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งคนลักลอบเข้าช่องธรรมชาติส่งตรวจหาเชื้อ หาช่องเพิ่มโทษคนนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย รอผลตรวจคนพื้นที่กว่า 2 พันคน
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 นายธนิตพล ไชยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากเมียนมาเข้ามาประเทศไทยว่า มาตรการที่ 1 กระทรวงสาธารณสุข จะยกระดับจากเดิมที่มีการเฝ้าระวังการนำเชื้อเข้าประเทศทางอากาศ มาเป็นการเฝ้าระวังเข้มข้นทางบก และสนับสนุนเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ไปยังโรงพยาบาลบริเวณชายแดนเรียบร้อยแล้ว คาดว่าถึงในวันที่ 9ก.ย.นี้
2. การสนับสนุนเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ในพื้นที่ติดชายแดน คาดว่าจะลงไปถึงพื้นที่ภายในวันที่ 9 ก.ย.เช่นเดียวกัน สำหรับมาตรการการป้องกันได้มีการสร้างภาคีเครือข่ายภายในที่ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลหมู่บ้าน ในการตรวจสอบคนเข้ามายังพื้นที่ รวมถึง ฟื้นฟูอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อช่วยกันสนับสนุนตรวจสอบเฝ้าระวัง
และ 3. จัดส่งชุดเคลื่อนที่เร็วจสกส่วนกลาง เพื่อสนับสนุนในพื้นที่หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาหรือแม้กระทั่งพบผู้ติดเชื้อที่ข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยชุดเคลื่อนที่เร็วจะมีอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้ได้รับความปลอดภัยรวมถึงประชาชนได้รับความปลอดภัยเช่นเดียวกัน
"สถานการณ์ใน5 อำเภอติดชายแดน ของจ.ตาก ซึ่งมีระยะทาง 560 กิโลเมตร ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้การสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ไปแล้ว รวมถึงการสื่อสารกับเครือข่ายคู่ขนานของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมือง แต่ขอความร่วมมือจากประชาชนในการเฝ้าระวังอย่าให้เกิดการลักลอบเข้ามาด้วย หากพบการลักลอบเข้ามาขอให้แจ้งต่อหน่วยงานราชการได้ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือฝ่ายความมั่นคงเพื่อหามาตรการเพิ่มโทษคนนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย”นายธนิตกล่าว
ด้านนพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สปคม.ได้ร่วมกับพื้นที่แม่สอดในการนำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน 5 คันออกตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก( Active case finding) ที่อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างวันที่ 8-9 ก.ย.2563 รวมทั้งสิ้น 2,635 คน แบ่งเป็นคนไทย 1,641 คน และต่างด้าว 994 คน ซึ่งคาดว่าจะทราบผลใน 24-48 ชั่วโมง และจะทำให้ประเมินได้ว่าสถานการณ์แม่สอดมีการระบาดหรือการติดเชื้อโควิดหรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ มีการจัดทีมสวอป(Swab) 300 คน เป็นพยาบาลและนักวิชาการสาธารณสุข ในการประจำอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ในพื้นที่ตลอดตะเข็บชายแดนจ.ตากที่ตัดกับประเทศเมียนมา เพื่อเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจหาเชื้อโรคโควิด19จากผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติ หากมีการตรวจจับได้ซึ่งจะดำเนินการให้ได้มากที่สุด
“จากการติดตามความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัยทำให้ทราบว่า อย่างฝั่งเมียนมา จากการประเมินพบ 98% ให้ความร่วมมือดี ส่วนฝั่งไทยให้ความร่วมมือ 95% ขณะนี้ยังได้จัดทีมกว่า 300 คน คอยประจำตามชายแดน ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อโควิด ส่วนคนที่ถูกเก็บตัวอย่างก็จะมีการกักกันตัวไว้ ขณะที่สถานการณ์ฝั่งเมียนมามีการตรวจเชื้อและกักกันตัวเช่นกัน และจากการดำเนินสถานที่กักกันในท้องถิ่น(Local Quarantine) จำนวน 265 รายและยังอยู่ระหว่างกักกตัว 18 ราย”นพ.เอนกกล่าว