สธ.ไม่ห้ามบุคลากรแสดงความเห็นทางการเมืองในนามส่วนตัว
สธ.ยันไม่ห้ามบุคลากรแสดงความเห็นทางการเมือง ทำหนังสือแจ้งขอให้ทำในนามส่วนตัวอย่าพ่วงองค์กรไปเกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวถึงกรณีแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)แสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้หรือไม่ว่า แพทย์หรือใครก็ตามคือประชาชนคนหนึ่ง การแสดงความเห็นทางการเมืองถือเป็นความเห็นของประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าเป็นแพทย์ที่เป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขต้องนึกถึงสภาพของการให้บริการกับผู้ป่วยด้วย ยกตัวอย่าง มีความคิดอยู่ฝั่งนี้ แต่ผู้ป่วยคิดต่างก็ต้องแยกแยะได้ด้วย ซึ่งขอยืนยันว่าความคิดเห็นส่วนตัวสามารถทำได้ ไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการรพ.จะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ถูกการเมืองคุกคามกรณีแสดงความเห็นทางการเมือง จนมีกระแสข่าวว่าอาจถูกย้าย นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มี และเป็นไปไม่ได้ที่จะย้าย เพราะจะย้ายไปไหน อย่างการย้ายผอ.ไปที่หนึ่ง ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางความคิดเห็น เปลี่ยนอุดมการณ์ได้ เพราะเรื่องนี้อยู่เหนือกว่าการที่จะไปคิดอะไรง่ายๆ ซึ่งการโยกย้ายข้าราชการต้องอยู่บนฐานของความเหมาะสมของประสิทธิภาพของผลงาน กรณีนพ.สุภัทรที่เป็นผอ.รพ.ประจำอำเภอ หากจะโยกย้ายก็ต้องขึ้นกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและความคิดเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างไรก็ตาม ต้องดูด้วยว่าขณะนี้ท่านมีบทบาทอย่างไรบทบาทส่วนตัวเป็นอย่างไรเวลาที่นำไปใช้เป็นอย่างไร บทบาทข้าราชการเป็นอย่างไร ถ้าแยกบทบาทแยกหมวกใส่ให้ถูกก็ไม่มีปัญหา
ด้านนพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เรื่องของความคิดเห็นทางการเมืองทุกคนมี 2 บทบาทแต่ขอให้ข้าราชการระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียต้องระมัดระวัง แต่ไม่ได้ห้ามแสดงความคิดเห็น เพราะในนามส่วนตัวทำได้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อความชัดเจน จะมีหนังสือแจ้งขอให้มีความระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะในฐานะของข้าราชการ แต่ถ้าแสดงความคิดเห็นส่วนตัวสามารถดำเนินการได้
“การลงชื่อร่วมในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่างๆนั้น บุคลากรสามารถร่วมลงวชื่อได้นในนามส่วนตัว แต่ไม่ควรลงว่ามีต้นสังกัด โรงพยาบาลใด จึงขอความร่วมมือในเรื่องนี้ ไม่ใช้ความเป็นข้าราชการในการแสดงความคิดเห็น แต่ส่วนตัวสามารถทำได้ แม้จะใช้คำว่านายแพทย์ หรือแพทย์หญิงก็ทำได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งนี้ ตามหลักสากลโรงพยาบาลจะคต้องให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยเฉพาะกรรีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หากไม่ให้การรักษาพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย”นพ.เกียรจติภูมิกล่าว