“เมดพาร์ค”ครั้งแรกที่แพทย์รวมตัวตั้งรพ.ด้วยทุน7พันล้าน
แม้ประเทศไทยจะมีหลักประกันสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่ Pain point สำคัญของผู้ป่วย นอกเหนือจากการเข้าถึงการรักษาพยาบาลแล้ว ยังต้องการทางเลือกที่ดีที่สุด ความเป็นส่วนตัว และรักษาโรคยาก ซับซ้อนได้ด้วยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ
ทว่าการรักษาโรคยากในประเทศไทย ยังคงอยู่ในวงจำกัด แม้จะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ให้การรักษาโรคทั่วไป อีกทั้ง การที่ประเทศไทย ตั้งเป้าสู่การเป็น Medical Hub ต้องแข่งขันกับเพื่อนบ้านในอาเซียนโดยเฉพาะสิงคโปร์ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามารับบริการด้านสุขภาพในไทย จะมากกว่าสิงคโปร์ แต่มูลค่ากลับน้อยกว่าถึง 4 เท่า เนื่องจากส่วนใหญ่เข้ามารักษาโรคทั่วไป ไม่เหมือนสิงคโปร์คนนิยมเดินทางไปรักษาโรคยากและซับซ้อน
Pain point ดังกล่าว บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำมาพัฒนามาเป็น “โรงพยาบาลเมดพาร์ค” ด้วยงบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท และมีแพทย์เฉพาะทางระดับ (Super Tertiary care)มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากลกว่า 30 สาขา เกือบ 70% ผ่านการฝึกอบรมในต่างประเทศ มีทั้งแพทย์ที่จบอเมริกันบอร์ด และผ่านหลักสูตรการอบรมในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และไต้หวันเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เข้ามามีส่วนร่วมในการดีไซน์ส่วนต่าง ๆในโรงพยาบาล ให้ตอบสนองทุกความต้องการของคนไข้ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design)รวมถึงคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของคนไข้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการทางการแพทย์ในทุกด้าน
ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้การผลักดันของ “ศ.นพ. สิน อนุราษฎร์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลเมดพาร์ค โดยมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์มาตรฐานสากล สำหรับโรคยากและซับซ้อนแห่งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยใช้เวลาเพียง 2 ปีครึ่ง ในการสร้างและเปิดให้บริการได้ รวมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 140 คน
“นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” รองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า บริบทสาธารณสุขประเทศไทยก็มีข้อจำกัด แม้ว่าจะมีระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมากกว่า 60 ล้านคนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข แต่งบประมาณประเทศจำกัด ไม่สามารถให้บริการอย่างที่ประชาชนต้องการได้ จึงเกิด รพ.ทางเลือก คือ “เอกชน” โดยเฉพาะการรักษาโรคยาก ซึ่งยังมีช่องว่างอยู่
นพ.พงษ์พัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก รพ.ให้ความสำคัญกับโรคยากและซับซ้อน จึงมีการเพิ่มห้องไอซียูเป็น 30% จาก รพ.ทั่วไปที่มีสัดส่วน 10% นอกจากนี้ ยังมีวอร์ดพิเศษวีไอพี สามารถเปลี่ยนเป็นไอซียูได้ราว 20 กว่าห้อง รวมๆ แล้วห้องไอซียูราว 40% เพื่อรองรับผู้ป่วย หรือครอบครัวที่ไม่อยากให้ผู้ป่วยหนักอยู่คนเดียว
ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ต้องการความเป็นส่วนตัวในการรักษาได้มีการพัฒนารูปแบบการบริการ เช่น ห้องฉายแสง ซึ่งมีที่จอดรถสำหรับผู้ป่วย หรือ ห้องล้างไต ห้องให้ยารักษามะเร็งจะผู้ป่วยสามารถรับการรักษาและเดินทางกลับบ้านโดยไม่ต้องเจอใคร
ทั้งนี้เมื่อดูจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามารับบริการสุขภาพในไทยกว่า 3 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ราวแสนกว่าล้านบาท ขณะที่ สิงคโปร์มีนักท่องเที่ยวราว 8 แสนคน แต่มูลค่าสูงกว่าไทยถึง 4 เท่า เพราะสิงคโปร์รักษาโรคที่ยากมากกว่า ดังนั้น หากทำให้ รพ.รักษาโรคยากได้ ผ่าตัดซับซ้อนได้ จะมีรายได้ต่อหัวมากกว่าสิงคโปร์ และมีรายได้มากกว่าถึง 4 เท่า
“การทำได้ ต้องปรับเปลี่ยน เตรียมทีม สถานที่ เครื่องมือ และการสื่อสารให้ต่างชาติได้รับรู้และว่าไทยสามารถรักษาโรคยากได้ ทำให้เขาย้ายมารักษาในประเทศไทย นำรายได้เข้าประเทศ การจะเป็น Medical Hub ต้องช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นจริง และในอนาคตอาจมี รพ.แบบ เมดพาร์คเกิดขึ้นอีกมากมายและไทยจะกลายเป็น Medical Hub ได้จริง” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตามการจะสร้างศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ได้ ต้องมีแพทย์เป็นเจ้าของดังนั้น รพ.แห่งนี้ไม่เพียงแค่รักษาโรคยาก แต่ออกแบบโดยให้แพทย์มีส่วนร่วม เพื่อดูแลตัวเองและคนไข้ เป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคยาก โดยมีแพทย์เป็นเจ้าของ การทำให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องใหม่ เป็นครั้งแรกที่แพทย์ที่มีชื่อเสียงมาช่วยกันทำงาน
ทั้งนี้ ในอนาคต เมดพาร์ค มีความมุ่งมั่นพัฒนาให้เป็นมากกว่าโรงพยาบาล โดยมีเป้าหมายยกระดับให้เป็นสถาบันการแพทย์ที่มีความเป็นเลิศทั้ง 3 ส่วนคือ การบริการทางการแพทย์ การเรียนสอน และการวิจัย เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ นำไปสู่แนวทางการดูแลรักษาคนไข้ โดยเฉพาะโรคยากและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"ในอนาคตหวังว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะให้แพทย์ที่ทำการรักษาที่รพ.เมดพาร์คไปเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะแพทย์จุฬาฯ และเปิดรับนักศึกษาแพทย์จุฬาฯมาฝึกงานได้ และมีการพัฒนาการเรียนการสอนและงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งจะสามารถช่วยให้เกิดองค์ความรู้ และงานวิจัยใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์มากยิ่งขึ้นได้" นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว