โควิด-19 ดัน อุตสาหกรรม 'ทดสอบทางคลินิก' เติบโต
อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยอุตสาหกรรมยา เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอางและอาหารเสริม และบริการสุขภาพ ประเทศไทยเริ่มพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2548 จากเดิมมูลค่าราว 2.5 หมื่นล้านเหรียญ จนกระทั่งปัจจุบัน มีมูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านเหรียญ
สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจและนวัตกรรมด้านสุขภาพเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั่วโลก ขณะเดียวกัน ไทยถือว่ามีศักยภาพ เนื่องจากทรัพยากรสมบูรณ์ รวมถึงบุคลากรที่เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีครบครัน แต่ยังขาดนักธุรกิจที่เข้าใจนวัตกรรมและการสร้างตลาดที่เหมาะสม
“ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ” ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมด้าน Healthcare & Lifestyle เติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ขณะเดียวกันในช่วงโควิด-19 อุตสาหกรรมอื่นๆ โดนผลกระทบ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงท่องเที่ยวที่ติดลบเกือบ 8-10% ขณะที่ อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เครื่องมือแพทย์ เติบโตเกือบ 8% โควิด-19 ช่วยทำให้กลุ่มนี้พัฒนา เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด
“อุตสาหกรรมหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือ การทดสอบทางคลินิก ในเรื่องของการทดสอบในมนุษย์ การวิจัยยาในคน ทั้งระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 มีการเติบโตเกือบ 25% เพราะฉะนั้น อุตสาหกรรมนี้จะโตอย่างต่อเนื่องและจะโตขึ้นไปอีก ไม่ใช่เพียงแค่ในช่วงโควิด-19 แต่ต้องพยายามให้การเติบโตครั้งนี้ไม่ใช่อยู่แค่ในเมืองไทย ไม่ใช่เป็นแค่อุตสาหกรรมหลักในช่วงโควิด-19 เท่านั้น แต่หลังจากจบโควิดไปแล้ว เทรนด์ด้านนี้ยังคงจะต้องอยู่เพราะเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของประเทศ”
ดร.ศิรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า จุดอ่อนของนักวิจัยไทย คือ พยายามผลักดันเอางานไปสู่การผลิต และใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ มีของในมือและพยายามจะนำไปขาย ขณะเดียวกัน มีนักธุรกิจไทยที่เก่งเป็นจำนวนมาก เริ่มเข้ามาให้ความสนใจธุรกิจสุขภาพมากขึ้น แต่ยังขาดความเข้าใจในกระบวนการและวิธีการ เพราะอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ มีธรรมชาติที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ฯลฯ ไม่ใช่แค่เรื่องของงานวิจัย ลงทุนอย่างเดียว แต่มีเรื่องของการทดสอบความปลอดภัย ไม่ว่าจะทดสอบในหนูทดลอง การทดสอบในมนุษย์ และ การขึ้นทะเบียน อย. ให้ได้
“ดังนั้น การเข้าใจในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะในส่วนของภาครัฐเอง ไม่ว่าจะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็อยากผลักดันอุตสาหกรรม เรารู้ว่าอะไรที่ยังเป็นยาดำ เช่น มาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ แต่ลืมกลับไปมองในเรื่องของ “ดีมานด์ไซต์” คือ ความต้องการในภาคการตลาด”
แม้ปัจจุบัน เริ่มมีธนาคารสนใจเกี่ยวกับ Venture Capital (VC) ในเรื่องของการลงทุน แต่เมื่อเป็นการลงทุนในด้านชีววิทยาศาสตร์ กลับไปได้ช้ามาก ประเด็นหลักคือ ความไม่เข้าใจในธรรมชาติ ไม่เข้าใจ Value Chain (ห่วงโซ่คุณค่า) ว่าจะต้องเผชิญอะไร
“หากบอกว่าจะลงทุนวันนี้ 100 บาท หลายคนจะมองว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะได้เงิน 200 หรือไม่ หากคิดแบบนี้จบเลย เพราะการลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาและเงื่อนไขต่างๆ ดังนั้น หากเข้าใจตรงนี้มากขึ้น ทำให้รู้ว่า 2 ปีข้างหน้า อาจจะไม่ได้เงิน 200 แต่อีก 10 ปีข้างหน้า อาจจะได้เงิน 10,000 บาทจากเงิน 100 บาทที่ลงทุนไป เป็นการลงทุนระยะยาว โจทย์ต่อมาคือ ระหว่างนั้นจะสร้าง Value ของงานเหล่านี้ได้อย่างไร”
ดร.ศิรศักดิ์ อธิบายต่อไปว่าในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ มีวิธีการในการสร้างมูลค่าจากงานที่ยังไม่เสร็จ แทนที่จะรอให้งานเสร็จ เหมือนอุตสาหกรรมอื่น เช่น ต้องสร้างรถยนต์ให้เสร็จถึงจะขายได้ แต่อุตสาหกรรมด้านไลฟ์สไตล์ ชีววิทยาศาสตร์อาจจะไม่จำเป็น เพราะทุกห่วงโซ่มีมูลค่า สามารถสกรีนออกมาได้ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นยา สามารถพัฒนาเป็นอาหารเสริม เครื่องสำอางก่อน ทำได้ตลอด Value Chain หรือแม้กระทั่งให้บริการด้านการทดสอบในสัตว์ทดลอง ในมนุษย์ มูลค่าเหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษา ได้มีการทำงานร่วมกับ ทีเซลส์ ในหลายโครงการ รวมถึงทำโรดแมปเกี่ยวกับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ผลักดันให้มีโอกาสและสร้างมูลค่า ล่าสุด ทั้งสองหน่วยงาน ได้ร่วมมือจัดทำหลักสูตร “Reinventing Healthcare Business” ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมทางการแพทย์ อุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ และธุรกิจบริการด้านสุขภาพ Healthcare ของประเทศไทยสู่ระดับโลก ตอบรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Thailand Medical Hub
โดยมุ่งหวังสร้างและจัดการเรียนการสอนหลักสูตร Executive Program: Reinventing Healthcare Business เรียนรู้การสร้างโอกาสทางธุรกิจจาก Healthcare Innovation & Medical Technology มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย จากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจใหม่ และช่วยให้ผู้เรียนวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจ ไปจนถึงทดลองปฏิบัติจริง
“หลักสูตรนี้ ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรด้าน Healthcare เติบโต การสร้างมาตราฐานของการให้บริการ การให้องค์ความรู้ ความเข้าใจและสามารถทำงานร่วมกัน โดยการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ต่อยอดทางธุรกิจ เกิดเครือข่าย เกิดพันธมิตรทางธุรกิจ ส่งผลทางด้านเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต และเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทยอีกด้วย โดยทีเซลส์ มีบทบาทในการบริหารจัดการเรื่องของคอนเทนท์ จัดหาวิทยากรพิเศษที่เป็นกูรู ผู้เชี่ยวชาญองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์ อุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ และธุรกิจบริการด้านสุขภาพ Healthcare” ดร.ศิรศักดิ์ กล่าว
“ผศ.ดร.ธนพล วีราสา” รองคณบดี วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลทางมหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในมุมของวิทยาลัยการจัดการ ซึ่งมองในด้านธุรกิจ ลูกค้า การตลาด เสริมเทคโนโลยี เอาสิ่งที่สามารถสร้างได้ มาตอบโจทย์ลูกค้าในตลาด ผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีแค่ความต้องการเฉพาะในประเทศไทย หากทำได้ดี จะสามารถต่อยอดออกไปสู่ตลาดโลกได้ แต่การไปสู่ตลาดต่างประเทศ ต้องมีความเข้าใจ ไม่ว่าจะเรื่องกระบวนการ หรือมาตรฐาน ดังนั้น การขายต้องเข้าใจอุตสาหกรรม เพื่อทำให้ลูกค้าเชื่อว่า สินค้าของเราจะนำไปใช้ได้จริง