องค์การเภสัชกรรม จับมือ วิสาหกิจชุมชน ดันกัญชาสู่พืชเศรษฐกิจ
องค์การเภสัชกรรม จับมือ วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชา จัดซื้อช่อดอกกัญชาแห้งทางการแพทย์เชิงพาณิชย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาและผลิตภัณฑ์จากกัญชาในรูป หวังให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ต่อสังคม
วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2564) ที่องค์การเภสัชกรรม นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธี ประกาศเจตนารมณ์ “ความร่วมมือระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชา สร้างต้นแบบหลักเกณฑ์ความร่วมมือและจัดซื้อช่อดอกกัญชาแห้งทางการแพทย์” โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รัฐบาลสนับสนุนการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยหนึ่งที่ดำเนินการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การสกัด และการผลิตผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์
ซึ่งการปลูกกัญชาขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ปลูกโดยทั่วไป เกษตรกรต้องรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อดำเนินการตามมาตรฐานและถูกกฎหมาย ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตปลูกจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวน 82 ราย แต่ละรายก็มีรูปแบบการปลูกที่หลากหลาย ทั้งแบบระบบปิด (Indoor) แบบโรงเรือน (Greenhouse) และแบบกลางแจ้ง (Outdoor) ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละวิสาหกิจชุมชนที่ขออนุญาตปลูกร่วมกับหน่วยงานรัฐ ทั้งเพื่อการศึกษาวิจัยและการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน
“สิ่งสำคัญ คือ จะต่อซัพพลายเชนได้อย่างไร องค์การเภสัชกรรม ถือเป็นผู้บุกเบิกกัญชาตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และได้ความร่วมมือจาก กรมการแพทย์ ช่วยในการศึกษาวิจัย ปัจจุบัน ดีมานด์มีเยอะจนองค์การเภสัชไม่สามารถผลิตด้วยตัวเองได้ เนื่องจากกัญชาสายพันธุ์ CBD เด่น สามารถรักษาลมชักในเด็ก แต่องค์การเภสัชไม่สามารถผลิตที่จะครอบคลุมเด็กทุกคน ส่วนสูตร 1 : 1 ช่วยลดอาการเจ็บปวด หรือดูแลคนไข้ในระยะสุดท้ายมีความต้องการมาก แต่ส่วนใหญ่พันธุ์พื้นบ้านของไทยจะมี THC เด่น”
ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่มีความต้องการมาก และไม่เพียงพอ คือ CBD เด่น และ 1 : 1 ดังนั้น จึงเกิดความร่วมมือ เพื่อให้เกิดขึ้นได้เร็ว โดยการจับมือกับวิสาหกิจชุมชนในการเพิ่มปริมาณของกัญชาเพื่อใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็น CBD เด่นไม่ใช่แค่เป็นยา แต่สามารถเป็นเรื่องเวชสำอาง อาหารเสริม ยังมีตลาดอีกเยอะ และจากราคาที่ค่อนข้างจะจูงใจที่วิสาหกิจชุมชนจะลงทุนผลิต
“ไม่เฉพาะกัญชา กัญชงก็เป็นเรื่องสำคัญ วิสาหกิจชุมชนบางส่วนอาจจะไปทำกัญชงที่ง่ายกว่า รวมไปถึง เรื่องของเส้นใย ดอก เมล็ด ที่สกัดเป็นอาหารเสริมได้อีก เป็นการเปิดกว้าง และกระทรวงก็พยายามผ่อนคลายในกฏเกณฑ์ต่างๆ และร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และกระทรวงต่างๆ ในการพัฒนาสายพันธุ์การผลิต วิสาหกิจชุมชน มีโอกาสในการต่อซัพพลายเชน เพื่อให้เศรษฐกิจจของประเทศขับเคลื่อนไปได้ สธ. ไม่ได้มองแค่สุขภาพ แต่มองเรื่องการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้ประชาชนด้วย” นพ.โสภณ กล่าว
- 1 กิโลกรัม 45,000 บาท
ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การฯ ได้กระจายผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทั้ง THC เด่น CBD เด่น และTHC : CBD1 : 1 ให้กับสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนไปแล้วมากกว่า 100 แห่ง พบว่าการใช้มีประสิทธิผลดี ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มีมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ CBD เด่น องค์การฯ มีแผนผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่ใช้สาร CBD เป็นวัตถุดิบอีกหลายรายการ จึงต้องแสวงหาแหล่งปลูกกัญชาสายพันธุ์ CBD เด่น เพิ่มจากที่องค์การฯ ปลูกเอง โดยจะร่วมกับวิสาหกิจชุมชนที่มีประสบการณ์ในการปลูกกัญชาที่มีสารสำคัญ CBD เด่น และได้รับการอนุญาตในการปลูกกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้องจากอย. มีผลการตรวจวิเคราะห์ช่อดอกแห้ง ที่มีปริมาณสาร CBD เด่น สูงตั้งแต่ 8.0 เปอร์เซ็นต์ (โดยน้ำหนัก) ขึ้นไป ตามเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การฯ กำหนด
“เบื้องต้นได้คัดเลือกวิสาหกิจชุมชนและได้ทำสัญญาซื้อขายช่อดอกกัญชาแห้งแล้ว 1 แห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ และมีวิสาหกิจที่ผ่านการประเมินอีก 3 แห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา จ.ลำปาง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักจังฟาร์มวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก, เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จ.แม่ฮ่องสอน อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป และในอนาคตจะเพิ่มเติมวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการอีกด้วย
โดยวิสาหกิจชุมชนและองค์การฯ จะร่วมกันกำหนดปริมาณน้ำหนักช่อดอกกัญชาแห้งที่จะรับซื้อและระยะเวลาที่จะส่งมอบ เพื่อทำสัญญาซื้อขาย ช่อดอกกัญชาแห้งต้องเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดมีผลการทดสอบปริมาณสารสำคัญในกัญชาและปริมาณปนเปื้อนของโลหะหนัก ยาฆ่าแมลงสารกำจัดศัตรูพืช หรือสารเจือปนอื่น ไม่เกินมาตรฐานที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบด้านสาธารณสุข / คุ้มครองผู้บริโภค(ISO/IEC 17025) หรือห้องปฏิบัติการอื่นที่มีความสามารถในการทดสอบเทียบเท่ากัน" นพ.วิฑูรย์ กล่าว
สำหรับ ราคาการรับซื้อช่อดอกแห้งเกรด A ปริมาณสารสำคัญ CBD มากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ (โดยน้ำหนัก) กิโลกรัมละ 45,000 บาท เกรด B ปริมาณสารสำคัญ CBD 10 – 11.9 เปอร์เซ็นต์ (โดยน้ำหนัก) กิโลกรัมละ 37,500 – 43,125 บาท ปริมาณสารสำคัญ CBD 8-9.9 เปอร์เซ็นต์ (โดยน้ำหนัก) กิโลกรัมละ 30,000 - 35,625 บาท ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตตามที่องค์การฯ กำหนด
สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเสนอเข้าร่วมที่ www.gpo.or.th/กัญชา หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ call center โทร 1648 e-mail: [email protected] โดยองค์การฯ จะพิจารณาคุณสมบัติและศักยภาพตามรายละเอียดที่ลงทะเบียนไว้ จากนั้นติดต่อวิสาหกิจชุมชนรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเพิ่ม ลงพื้นที่เพื่อประเมินแผนการปลูก และพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ขององค์การฯ และขออนุญาตร่วมกันปลูกกัญชาทางการแพทย์ต่อ อย. เมื่อได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว วิสาหกิจชุมชนและองค์การฯ จะร่วมกำหนดปริมาณน้ำหนักช่อดอกแห้งและระยะเวลาที่จะส่งมอบเพื่อจัดทำสัญญาซื้อขายต่อไป
ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนที่จะร่วมมือกับองค์การฯต้องเป็นวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และได้รับอนุญาตผลิต (ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา) จากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีประสบการณ์ในการปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์กัญชาตามที่องค์การฯต้องการ วิธีการปลูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชสมุนไพร Good Agricultural Practices (GAP) มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดี เพื่อป้องกันการรั่วไหลของกัญชา ตลอดการปลูก การเก็บเกี่ยว การทำลาย และการขนส่ง
นางศศิการ ล้อจิโรภาส ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้โรงปลูกระบบปิด (Indoor) อย.ได้อนุญาตปลูกร่วมกับทางองค์การฯแล้ว มีความพร้อมในส่วนโครงสร้าง และการวางระบบต่างๆ ในการปลูก ตามแนวทางการทำเกษตรมาตรฐานสูงของทางวิสาหกิจชุมชนทั้งรางปลูก ระบบน้ำ ระบบไฟ และเทคโนโลยีการเกษตรต่าง ๆ พร้อมทั้งระบบรักษาความปลอดภัย โดยจะทำการปลูกสายพันธุ์ CBD Charlotte's Angel ภายในเดือนมีนาคม นี้ จำนวน 90 ต้น พื้นที่ 50 ตารางเมตร และคาดว่าจะมีการเก็บเกี่ยวช่อดอกรอบแรกได้ช่วงประมาณเดือนมิถุนายนนี้ ได้จำนวน 18 กิโลกรัม และกำลังขยายพื้นที่ปลูกระบบปิด (Indoor) พื้นที่อีก 360 ตรม. ปลูกได้ 840 ต้นต่อรอบปลูก เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบการผลิตขององค์การฯ ต่อไป
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา จ.ลำปาง กล่าวว่า ทางกลุ่มมีประสบการณ์ปลูกพืชสมุนไพรด้านการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานมากกว่า 24 ปี และเริ่มปลูกกัญชาแบบอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2562 แบบกลางแจ้ง (Outdoor) พื้นที่ 3,000 ตรม. และแบบโรงเรือน พื้นที่ 800 ตรม. ที่ผ่านมาได้ส่งมอบผลผลิตกัญชาทุกส่วนแก่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยไปแล้ว 1,000 กิโลกรัม (น้ำหนักสด) และ 500 กิโลกรัม (น้ำหนักแห้ง) และทางกลุ่มฯ มีความพร้อมด้านสถานที่ องค์ความรู้ และบุคลากรที่จะร่วมกับองค์การฯ โดยสามารถปลูกกัญชาได้ถึง 3,000 ต้น ผลผลิตประมาณ 500 กิโลกรัม (น้ำหนักแห้ง)
นางสาวฐิวรรณี กันหามาลา ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักจังฟาร์มวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ทางกลุ่ม จะดำเนินการปลูกกัญชาสายพันธุ์ CBD Charlotte's Angel ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse) ระยะที่ 1 จำนวน 4 โรงเรือน พื้นที่ 480 ตารางเมตร โดยจะเริ่มปลูกในรอบแรกกลางเดือนพฤษภาคมนี้จำนวน 400 ต้น โดยจะเก็บเกี่ยวช่อดอกกัญชาในเดือนพฤศจิกายน คาดว่าจะได้ช่อดอกกัญชาแห้งประมาณ 40 กิโลกรัม พร้อมกันนั้นได้ขยายการปลูกแบบโรงเรือนระยะที่ 2 จำนวน 6 โรงเรือน พื้นที่ 800 ตรม. เพื่อรองรับการปลูกที่มากขึ้นกว่า 1,200 ต้นต่อรอบ ปลูกในระบบ EVAP (อีแว๊ป) ที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมการปลูกทั้งอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้น
ด้าน นายโยชัย ศศิวรรณ ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก, เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ทางกลุ่มมีประสบการณ์การปลูกแบบโรงเรือนระบบ Evaporation พื้นที่ 1,200 ตรม. สามารถปลูกกัญชาได้ต่อรอบประมาณ 500 ต้น และปี 2563 ได้ส่งมอบกัญชาทางการแพทย์ให้หน่วยงานต่างๆ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว โดยในความร่วมมือครั้งนี้ ทางกลุ่มฯมีแผนงานขยายพื้นที่ปลูกโดยใช้พื้นที่ อ. เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เป็นการปลูกแบบโรงเรือน พื้นที่ปลูก 3,000 ตรม. สามารถปลูกกัญชาได้ประมาณ 2,000 ต้น/รอบ