'การออกแบบ' กับสิ่งแวดล้อม สู่ยุคของ Well-being
ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีมายาวนานตั้งแต่ปี 1970 ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ก่อให้เกิดมลพิษ ไม่ว่าจะสารพิษที่ปล่อยจากปล่องอุตสาหกรรม ควบคู่กับพลังงาน เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil fuel) ที่มีราคาแพงและปล่อยสารพิษ
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนเริ่มตระหนักว่า อาคารหากใช้พลังงานที่มีราคาแพงคงไม่รอด การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านจากการออกแบบ สู่ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงแรก คือ การสร้างอาคารประหยัดพลังงาน เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างและอาคาร ใช้พลังงานประมาณ 1 ใน 3 ของพลังงานที่ผลิตมาทั้งหมดบนโลก เมื่อเกิดปัญหาพลังงาน จึงเป็นที่มาของ “อาคารประหยัดพลังงาน” ไม่ว่าจะติดแอร์เพื่อให้เย็น หรือใส่ฮีตเตอร์ให้อุ่นในต่างประเทศ และทำให้ผิวอาคารทั้งหมดหนาแน่นเพื่อไม่ให้อากาศภายในหลุดรอดออก รวมถึงไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไป
“รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต” หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) อธิบายว่า การทำอาคารประหยัดพลังงานดังกล่าว ไม่เปลืองพลังงาน แต่ต่อมาเกิดอะไรขึ้น ? “คนป่วย” เพราะคนป่วยหนึ่งคน พากันป่วยทั้งตึกเนื่องจากอาคารปิด
“จากที่เน้นประหยัดพลังงาน ต้องใช้แสงธรรมชาติให้เยอะ ต้องเปิดไฟน้อย ใช้ระบบปรับอากาศให้ประหยัดที่สุด ก็มาถึง Sick Building Syndrome หรือ โรคตึกเป็นพิษ เมื่อคนสงสัยว่าทำไมป่วย จึงกลายเป็น Movement ต่อมาของการออกแบบ ขณะเดียวกัน ทั้งโลกเริ่มรับรู้ว่าปัญหามลพิษ (Pollution) รุนแรงขึ้น เช่น ภัยพิบัติ (Disaster)”
เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทั่วโลกอาจเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disaster) 150 ครั้งต่อปี เช่น ไฟป่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ฯลฯ แต่ปัจจุบัน มีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกือบ 500 ครั้งต่อปี จาก 150 เป็น 500 ครั้ง คนเริ่มตระหนักแล้วว่ากำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ การปล่อยน้ำเสีย ขยะล้นโลก ซึ่งหนักหน่วงมาก และปัญหาใหม่ คือ PM2.5
ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดการออกแบบอาคารที่ทำให้คนไม่ป่วย จากประหยัดพลังงาน ก็มาสู่แนวคิดการอยู่อาศัยภายใต้สุขภาวะที่ดี หรือ “Well-Being” อาคารจะไม่ประหยัดพลังงานเหมือนเดิม แต่เริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามา รศ.ดร.สิงห์ กล่าวต่อไปว่า Well-being เป็น New Trend เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน โดยมี 7 องค์ประกอบ คือ มาตรฐานการดำรงชีวิต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางสังคมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง สุขภาพกายและสุขภาพจิต การศึกษา การบริหารงานของภาครัฐ และทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ
ในประเด็นด้าน ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ พบว่า ความอยู่ดีมีสุขไม่ใช่แค่เรื่องของมนุษย์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ซึ่งประกอบด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการพลังงาน การจัดการทรัพยากร การจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ขณะเดียวกัน สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรและสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นหนึ่งใน Mega Trend จากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นเมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกือบ 1 องศา
รศ.ดร.สิงห์ อธิบายต่อไปว่า Well-being สำคัญ ตอนนี้ต้องมองไปถึงว่า ทำไมคนเป็นโรคภูมิแพ้ โรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เป็นมะเร็งเยอะ ทั้งๆ ที่เราดูเหมือนอยู่ในที่ที่มีสุขภาวะดี สิ่งเหล่านี้นำไปสู่แนวความคิดหลายอย่าง ในอนาคต หากประหยัดพลังงานแล้วคนป่วยจะไม่บาลานซ์ ประหยัดพลังงานแล้วคนเครียดก็ไม่บาลานซ์ ฉะนั้น ประหยัดพลังงาน ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้ม และดูแลคนทั้งร่างกายและจิตใจ จะขับเคลื่อนสังคมได้ เพราะ Well-being ช่วยในการแก้ปัญหาระยะยาว
อีกประเด็นที่สำคัญ คือ Circular Economy เพราะตอนนี้ทรัพยากรน้อย เมื่อพัฒนาวัสดุจากขยะ เศษวัสดุ จากของเหลือทิ้ง Well-being ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่หากมองในภาพรวม Well-being เป็นส่วนประกอบที่ทำให้ วงจรครบ บวกกับ Circular Economy
“ปัจจุบันด้วยความที่ปัญหายิ่งใหญ่มาก ดังนั้น ในอนาคตจะไม่ใช่ Well-being อย่างเดียว แต่จะไปถึง การที่จะสามารถอยู่รอดต่อได้อย่างไรในภาวะเครียด เช่น เมืองน้ำท่วม อาคารหรือเมืองในอนาคต้องสร้างแบบไหน อย่างไร คนต้องแก่ลง เด็กจะน้อยลง เพราะฉะนั้นจะมีอุปกรณ์ หุ่นยนต์ Iot ในอนาคตอย่างไร”
“นักออกแบบ ทุกวันนี้หากตัดสินใจว่าออกแบบเฉยๆ ถือเป็นโลกใบเดิม แต่ไม่ใช่สำหรับนักออกแบบแห่งโลกแห่งอนาคต เพราะในอนาคตจะใช้ Virgin material ไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าจะไม่มีทรัพยากรมาใช้แบบในอดีต จะเน้นความสวยงามแบบในอดีตไม่พอ ต้องมี Performance ต้องดีไซน์ให้มี Performance ที่คนก็อปปี้ยาก และเป็นองค์ความรู้ที่มี International property” รศ.ดร.สิงห์ กล่าวทิ้งท้าย
- อาคาร Well-Being แห่งแรกในไทย
RISC by MQDC ศูนย์นวัตกรรมชั้นนำด้านสุขภาวะและความยั่งยืน ผ่านการรับรองมาตรฐาน WELL Building Standard ระดับ Gold เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขั้นตอนสุดท้ายได้รับการประเมินจาก Green Business Certification Inc. (GBCI) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่รับรองการประเมินตามมาตรฐาน WELL Building Standard
ผ่านการประเมินตามแนวคิดทั้ง 7 ประเภทที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้อาคารมีประสิทธิภาพได้แก่ อากาศ (Air) น้ำ (Water) แสงสว่าง (Light) โภชนาการ (Nourishment) ฟิตเนส (Fitness) สภาวะอยู่สบาย (Comfort) จิตใจ (Mind) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย 2 ด้านหลักของ RISC by MQDC ได้แก่ 1.สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health & Wellness) และ 2.วัสดุและการใช้ทรัพยากร (Materials & Resources) โดยใช้เวลากว่า 7 ปี ในการพัฒนามาตรฐานผ่านการทำการวิจัยร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง