เปิดวิธี 'กักตัว 14 วัน' อย่างไร ให้ปลอดภัยกับคนในบ้าน
เปิดวิธี "กักตัว 14 วัน" อย่างไร ให้ปลอดภัยกับคนในบ้าน หากมีความเสี่ยงที่เดินทางไปหรือมาจากพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19
สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่นี้ กลับมาแพร่ระบาดและขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะต้นตอจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เลานจ์ ประกอบการลักษณะอาการโควิดรอบใหม่นี้ มีความแตกต่างจากเดิมที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น และลิ้นไม่รับรส
โดยอาการโควิดรอบใหม่ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า จากการสังเกตอาการทางคลินิกของผู้ป่วยส่วนใหญ่ เป็นวัยหนุ่มสาว อาการน้อยมาก ในรอบนี้พบอาการใหม่เพิ่มเติม คือ หลายรายมีอาการตาแดงนิดหน่อย น้ำมูกไหล ไม่มีไข้ บางรายมีผื่นขึ้น
นอกจากนี้หากย้อนดูไทม์ไลน์ของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าแล้ว จะเห็นว่าบางรายไม่มีการแสดงอาการใดๆ ออกมาเลย จึงทำให้ไม่มีใครรู้ว่าตัวเองติดโควิด-19 หรือไม่ ประกอบการขณะนี้อยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้คนต่างเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวน รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวไปจังหวัดต่างๆ แม้จะมีมาตรการล็อกดาวน์ หรือห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แต่ในแต่จังหวัดได้มีการออกประกาศจังหวัดเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโควิด-19 มาเป็นระยะๆ
ไม่เพียงแต่การเข้มงวดการป้องกันตัวเองด้วยการเน้นย้ำใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หรือการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์เท่านั้น แต่รวมถึงการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบถึงการเดินทาง และที่สำคัญหลายจังหวัดเริ่มมีการใช้มาตรการให้กักตัวเอง 14 วัน หากเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง
หนึ่งในประเด็นคำถามที่น่าสนใจคือ แล้วเราจะ "กักตัว 14 วัน" อย่างไร ให้ปลอดภัยกับคนในบ้าน? ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก "ไทยรู้สู้โควิด" ได้อธิบายไว้ดังนี้
1.การแยกห้องและของใช้
- อยู่ในห้อง แยกจากครอบครัว โดยแยกห้องนอน
- ใช้แผ่นกั้นห้องแบบพลาสติกแบ่งสัดส่วน ในกรณีที่ไม่สามารถแยกห้องนอนได้
- เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
- แยกของใช้ส่วนตัว
- มีถังขยะติดเชื้อแยกเฉพาะ
2.ข้อปฏิบัติสำคัญ
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อยครั้งละ 20 วินาที
- สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าป้องกัน
- อยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร หรือ 1-2 ช่วงแขน
3.การทำความสะอาด
- เสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว ต้องแยกทำความสะอาตด้วยผงซักฟอกตามปกติหรือซักร่วมกับน้ำร้อน
- ของใช้ที่สัมผัสบ่อย เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70-90%
- ห้องสุขา สุขภัณฑ์ พื้นบ้าน ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% แต่อย่าฉีดพ่น
4.การรับประทานอาหาร
- ไม่รับประทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัว ให้ตักแบ่งมารับประทาน
- หากให้ผู้อื่นจัดอาหารให้ ควรกำหนดจุดรับเพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง
5.การใช้ห้องสุขา
- แยกใช้ห้องสุขา หากแยกไม่ได้ ให้ใช้เป็นคนสุดท้ายและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที
- กรณีใช้ชักโครก ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
6.การจัดการขยะ
ให้แยกขยะเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ขยะทั่วไป และ 2.ขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู่ ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวม และล้างถังด้วยน้ำยาฟอกขาวเพื่อทำลายเชื้อ จากนั้นใส่ถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นก้อนน้ำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป