ปลุก‘สมอง’ ให้อ่อนวัย ด้วย‘การเขียน’
ร่างกายที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลาไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิม แต่สมองของเรา สามารถฟื้นฟูกระตุ้นได้ ด้วยการจับปากกาเขียนสิ่งที่อยู่ในใจออกมา
"การไม่ลืมเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ถ้าวันไหนเกิดลืมขึ้นมา เช่น ลืมชื่องานวันนี้ ใกล้จะถึงวันงานแล้ว ยังคิดชื่อไม่ออก นึกชื่อคนที่ติดต่อไม่ได้ นึกไม่ออกว่าเขาให้มาทำอะไร กลับไปเปิดเเฟซบุ๊ค หาโน่นหานี่ก็ยังไม่เจอ แต่จำได้ว่าจัดที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็เลยมาเดินอยู่ที่นี่ เดี๋ยวเขาต้องโทรหาเรา แล้วก็โทรมาจริง ๆ "
ชมัยภร แสงกระจ่าง นักเขียน และศิลปินแแห่งชาติ พูดถึงการแก้ปัญหาการหลงลืมที่เกิดขึ้นให้ฟัง ในงานเสวนา ‘เรื่องเล่าระหว่างบรรทัด’ การพัฒนาสมองและความสัมพันธ์ของคนต่างวัย จัดโดย ชมรมสมองใสใจสบาย ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
- งานเขียนคือตัวเรา
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ประธานชมรมสมองใสใจสบาย พูดถึงการเขียนที่ส่งผลต่อจิตใจว่า งานเขียนชิ้นแรกได้รับการตีพิมพ์ตอนอายุ 17 เป็นภาษาอังกฤษ ช่วงนั้นอยู่ที่อังกฤษ ที่นั่นคนไทยน้อยมาก ไม่ได้กลับเมืองไทย 7 ปี ไปตั้งแต่อายุ 12 รู้สึกโดดเดี่ยว แล้วเป็นคนกำพร้าแม่
"ในวันฝนตกมืด ๆ วันหนึ่ง ก็เลยเขียนเรื่องสั้นขึ้นมา เป็นเรื่องของมนุษย์คนหนึ่ง ช่วงอากาศโพล้เพล้ เขาจะรอให้มืด เมื่อแสงไฟมา ก็มีแมลงชีปะขาวตัวหนึ่งบินรอบไฟ มันสวยมาก ทำให้เขานึกถึงแม่ ตอนเด็กๆ เขาป่วย แม่ก็ดูแลเขา เป็นการเชื่อมความงามกับความรัก
จากนั้น ทุก ๆ คืน เขาก็จะรอแมลงชีปะขาวตัวนั้นมากระพือปีกเหมือนผู้หญิงเต้นรำ แต่เขารู้ว่าอายุมันสั้น วันนี้พอมันมา เขาเลยฆ่ามัน เพื่อจะได้ไม่ต้องรออีกต่อไป เป็นงานเขียนที่ผ่านมา 66 ปี แต่จดจำรายละเอียดได้มาก เพราะว่ามันเป็นการบำบัดจิตตัวเอง ตอนนี้จะ 82 ปีแล้ว
ตอนที่เข้าวัดก็ด้วยความสงสัย สนใจ แล้วก็ทิ้งเลย เว้นวรรคไปยาว จนเกิดทุกข์หนัก ก็ไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ 10 วัน 6 ครั้ง พอครั้งที่ 6 คุณพี่(อุบาสิกา)รัญจวน อินทรกำแหง บอกว่าถ้าคิดว่าอีกเดือนหนึ่งจะกลับ มันมีอนาคตอยู่ ให้คิดว่าอยู่วันต่อวันไปเรื่อยๆ ช่วงนั้นรู้สึกทุกข์มาก เขาไม่ให้สื่อกับใครเลย ก็เลยต้องสื่อกับกระดาษ พอหนึ่งเดือน ก็ถึงจุดที่จิตมันอยู่แล้ว การเขียนมันบำบัดเราเรียบร้อยแล้ว สบายแล้ว เริ่มนิ่งแล้ว"
ส่วน ชมัยภร เล่าถึงงานเขียนของตัวเองว่า งานเขียนคือ ภาวะทางอารมณ์ของเราต่อสิ่งรอบตัว ถ่ายทอดออกมาด้วยคำอันสวยงาม เป็นไปตามวิถีชีวิตของนักเขียน ต่างกันตรงลีลาชีวิต และลีลาการเขียน นักเขียนทุกคนมีพัฒนาการ เพราะชีวิตมันต้องเติบโต ไม่มีนักเขียนคนใดเขียนนิยายรัก ที่มีนางเอกอายุ 16 ไปจนคนเขียนอายุุ 80 ได้หรอก
"ตอนเกิดวิกฤติในชีวิต เราก็เขียนเป็นล่ำเป็นสัน เพราะเขาไล่ออกจากงาน ต้องหันมาหาการเขียน เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำได้ วิกฤติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เข้าใจชีวิตมากขึ้น ก็ถ่ายทอดเข้าไปในงานเขียน จนมีคนทักว่า อ่านนิยายของคุณชมัยภรทีไร มีพระทุกเรื่องเลย ถ้าไม่ฝัน ก็เจอพระ ทำให้เกิดคำสอนขึ้นมา เพื่อหาทางออก เป็นไปตามวิถีชีวิตของเราจริง ๆ "
- งานเขียนช่วยได้อย่างไร
รศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าถึงกิจกรรมที่มีผลต่อสมองว่า ผู้สูงอายุที่สมองเสื่อม มักจะนึกคำไม่ออก สื่อสารคำที่ตั้งใจไม่ได้ แต่มักจดจำเรื่องราวในอดีตได้ทุกรายละเอียด เพราะมันเป็นความทรงจำ
"มีงานศึกษาวิจัยชื่อว่า The Nun Study ศึกษาแม่ชีในโบสถ์ Notre Dame ที่มินนิโซตา ประเทศอเมริกา อายุร้อยกว่าปี เมื่อเสียชีวิตแล้ว เขาก็เอาสมองไปดูว่า มีพยาธิสภาพเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือเปล่า ในจำนวนนั้นหลายคนมีโปรตีน ทำให้เกิดอัลไซเมอร์ในสมอง แต่แม่ชีเหล่านั้นไม่เคยแสดงอาการอัลไซเมอร์เลย
เมื่อศึกษาย้อนหลังไป ก็พบว่า ปัจจัยที่ทำให้สมองดี ความจำดีในผู้สูงอายุคือ 1)แม่ชีมีกิจกรรมในโบสถ์ตลอดเวลา ทั้งกายภาพ ทั้งสมอง เป็นผู้สูงอายุที่แอคทีฟอยู่ตลอดเวลา 2)แม่ชีเขียนบันทึก เขียนหนังสือที่มีโครงสร้างประโยคซับซ้อน มีส่วนช่วยส่งเสริมสมอง เพราะกระบวนการเขียนเป็นทักษะของการเลือกคำ"
การเขียนคือการระบายความรู้สึก ความอัดอั้นตันใจ ความทุกข์ ความโกรธ ความไม่สบายใจ เป็นวิธีเอาพลัง เอาความกดดันข้างในออกมา เหมาะกับทุกวัย ดีกว่าการแสดงออกวิธีอื่น เช่น ทำประชด แสดงความรุนแรง ทำอันตรายต่อตัวเองและคนอื่น
"ขณะที่เราเขียนจะได้ทบทวนตัวเองไปด้วย การเขียนไดอารี ก็เป็นวิธีหนึ่งทำให้คนเราทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน บางเรื่องราวผ่านไป โดยไม่ได้รับรู้หรือตระหนักดีนัก แต่เวลาเขียน เราจะเห็นบางอย่าง ได้ทบทวนบางอย่าง
ก่อนเขียนก็ต้องคิดว่าเนื้อหาจะเป็นยังไง วางพล็อตเรื่อง มีมูฟเมนท์ มีบทสรุป ตอนจบจะจบยังไง มีทางออกให้กับสิ่งที่กำลังเขียน ต้องใช้ความจำ ใช้สมาธิ การบริหารจัดการ แล้วใช้ความสามารถทางด้านภาษา ทั้งไวยกรณ์ คำพูด คำศัพท์ เรียงร้อยเป็นเนื้อหา ซึ่งต้องใช้สมรรถภาพของสมองที่รู้คิด
นอกจากนั้น การจับปากกาเขียนเป็นตัวหนังสือ เป็นการสั่งการของสมองในการใช้กล้ามเนื้อต่างๆ เพื่อเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นการรู้คิดทุกด้านที่ีมีอยู่ กว่าจะออกมาเป็นงานเขียนหนึ่งเรื่อง" คุณหมอสุขเจริญ พูดถึงการทำงานของสมอง
- งานเขียนบำบัดชีวิตคน
ชมัยภร ยกตัวอย่างงานเขียนของลูกศิษย์ว่า มีคนหนึ่งเขียนงานมาส่ง 15 หน้า อ่านแล้วตื่นเต้นมาก มีกลวิธีการเขียนซ้ำ ๆ
"เราก็ชมเขา เขาตอบว่า ผมเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำครับ แสดงว่าจิตใจคนกับการเขียนนี่ พี่น้องกันเลย เขาก็ขอบคุณที่คุณครูบอกให้เขียน เพราะตอนนี้ข้างในรู้สึกโล่งมากเลย
มีอีกคนเป็นแพนิค เขาบอกเองเลย ก็จะพยายามให้เขาเขียนเยอะ ๆ เพราะข้างในคงอยากจะบอกอะไรบางอย่าง ถ้าได้ระบายออกมาทางตัวหนังสือ ก็จะคลี่คลายข้างในได้ อาจจะไม่ออกมาตรง ๆ แต่มันก็ออก เพราะการเขียนคือการเยียวยาอย่างหนึ่ง"
ขณะที่ คุณหญิงจำนงศรี เห็นด้วยว่า การเขียนช่วยชีวิตคนได้
"มีแม่คนหนึ่งพาลูกผู้หญิงอายุ 16 มาด้วย บอกว่าพูดกันไม่ได้เลย ลูกจะขนเสื้อผ้าออกจากบ้าน ก็บอกไปว่า ขอ 2 อย่าง ลูกสาวที่จะขนของออกนอกบ้าน รอนิดหนึ่ง รออ่านอะไรจากคุณแม่หน่อย แล้วก็หันไปบอกแม่ว่า คืนนี้กลับไปเขียนจดหมายถึงลูกสาว เรื่องความทรงจำพิเศษของคุณแม่เกี่ยวกับลูกสาว แล้วลูกต้องอ่านนะ
ปรากฏว่าเขากลับมาขอบคุณ แล้วก็กลมเกลียวกันมาก ถามว่าเขาเขียนอะไรถึงลูกสาว เขาเขียนถึงตอนที่เขาเห็นลูกครั้งแรก ที่คลอดออกมา นิ้วเล็ก ๆ มันเป็นยังไง มันนิ่มแค่ไหน การดูดนมครั้งแรกเป็นยังไง เขียนแค่นั้น เด็กที่ได้อ่าน ก็ร้องไห้ไม่ออกจากบ้านเลย นี่คืออานุภาพของการเขียน"
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์, ชมัยภร แสงกระจ่าง
มีเทคนิคบางอย่างที่ชมัยภร อยากจะนำเสนอ วิธีไม่ให้หลงลืม ก็คือ ทำเลย
"อายุขนาดนี้แล้ว เวลาเราฟังคนโน้นบอกให้ทำนี่ คนนี้บอกให้ทำนั่น นานๆ มันจะลืม วิธีจัดการของตัวเองคือ ใครบอกให้ทำอะไร เราก็ดูช่วงเวลาของเรา แล้วถ้าทำได้ก็ทำเลย
บอกลูกศิษย์ว่าใครเขียนแล้วอยากให้อ่าน ก็ส่งมาเลย ยกเว้น 800 หน้าไม่อ่าน ที่เป็นเรื่องสั้น เป็นบทกวี อ่านให้ พอส่งมาปั้บ ก็อ่านเลยนะคะ บางคนช็อกไปเลย ทำไมครูอ่านเร็วขนาดนี้ ในใจคิดว่าถ้าฉันไม่อ่านก็ลืมไปเลย การอ่านเร็ว มันช่วยได้อย่างคือ ทำให้เรามีเวลาไปทำอย่างอื่น แล้วเราก็จะไม่ลืม"
ส่วนคุณหมอสุขเจริญ ย้ำว่า การเขียนคือการพัฒนาสมอง
"หลายท่านที่อยู่คนเดียว โดดเดี่ยว เกิดความทุกข์ จริงๆ ท่านมีประสบการณ์ชีวิตเยอะ ถ้าหยิบออกมาเขียน จะช่วยให้มีชีวิตชีวา การฝึกสมองที่ดีที่สุดคือ การเรียนภาษาใหม่ แต่สำหรับผู้สูงอายุอาจเป็นเรื่องยาก ก็เอาภาษาที่เรามีอยู่มาพัฒนาต่อยอด ทำให้เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้น
แล้วท่านจะรู้สึกว่ามีคุณค่ามากขึ้น ทุกคนสามารถเป็นนักเขียนได้ เขียนเพื่อตัวเอง เขียนเพื่อคนที่เรารัก หรือเขียนเพื่อคนบนโลกนี้ ได้รับรู้ ได้เข้าใจ ได้พัฒนาสมอง สำหรับผู้สูงอายุ นี่คือวิธีการหนึ่งในการชะลอความเสื่อมของสมองครับ"