แนวทางดูแลผู้ป่วย 'โควิด-19' ล่าสุดจาก 'กรมการแพทย์'
"กรมการแพทย์" อัพเดท แนวทางดูแลผู้ป่วย "โควิด-19" ล่าสุด ระบุผลการศึกษาพบ ผู้ป่วยอาการดีขึ้นใน 10 วัน แต่ปริมาณไวรัสยังสูง ยังต้องรักษาในรพ.-รพ.สนาม-ฮอสพิเทลอย่างน้อย 14 วัน
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 กรมการแพทย์ได้ออกคำแนะนำในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับสถานพยาบาล โดยมีเนื้อหาระบุว่าตามสถานการณ์การระบาดผู้ป่วยโรคโควิด 19 ระลอกเดือนเมษายน พ.ศ 2564 พบผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น ทั้งกรณีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว แต่อาจพบเชื้อไวรัสที่ยังแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ อยู่ในน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย ระยะเวลาประมาณ 14 วันหลังจากเริ่มป่วย
จากผลการศึกษาวิจัย Multicenter clinical trial study ของกรมการแพทย์ โดย โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลในเครือข่ายวิจัย ได้ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้ ในผู้ป่วย 95 รายจาก 150 รายในช่วงเดือนเมษายนพ.ศ 2564 พบว่าเป็นผู้ป่วยสายพันธุ์ B 1.1.7 อาการดีขึ้นหลังระยะเวลา 10 วัน แต่ยังพบค่าตรวจ rt-pcr ค่อนข้างสูง(ctน้อยกว่า 27) ทั้งนี้การศึกษาวิจัยนี้ยังคงดำเนินการเก็บข้อมูลและวิจัยต่อไป
ดังนั้น กรมการแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยืนยันโรคโควิด-19 ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนที่กระจายไปทั่วประเทศ จำเป็นต้องให้การรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทล อย่างน้อย 14 วันนับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย ถ้ากักตัวครบ 14 วันและยังมีอาการควรให้อยู่โรงพยาบาลต่อไปจนไม่มีอาการอย่างน้อย 24 ถึง 48 ชั่วโมง เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น หลังจากนั้นแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย และระมัดระวังสุขอนามัยส่วนบุคคลต่อไปตามมาตรฐานวิถีใหม่
การกักตัวของผู้สัมผัสโรคแบบความเสี่ยงสูง ให้กักตัว 14 วัน เพื่อให้พ้นช่วงระยะเวลาฟักตัวของโรค และผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันว่าเป็นโรคให้แยกตัวอย่างน้อย 14 วัน ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์ได้ หากไม่มั่นใจว่าจะหยุดแยกได้หรือยัง
ส่วนแนวทางการรักษาพยาบาล โควิด-19 ให้ติดตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อของกรมการแพทย์ ซึ่งจะปรับเป็นระยะตามองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่มีสามารถติดตามได้ในเว็บไซต์ของกรมการแพทย์ www.dms.moph.go.th
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของค่า ct หากยิ่งน้อยจะเท่ากับมีไวรัสปริมาณมาก ซึ่งการจะตัดว่าติดหรือไม่ติดเชื้อจะตัดค่าctที่ 38-40 หากอยู่ในระดับนี้ถือว่าไม่ติดเชื้อ หากต่ำกว่านี้ถือว่าติดเชื้อ และหากค่าctยิ่งต่ำจะแสดงว่ามีปริมาณไวรัสที่มาก ยกตัวอย่าง คนที่มีค่าct 10 กับ 25 ซึ่งแสดงว่าติดโตวิด19 ทั้งคู่ แต่คนที่มีค่าเป็น 10 มีปริมาณไวรัสมากกว่า เป็นต้น