มาทำความรู้จัก โควิดระลอกใหม่ 'เชื้อดุ' กว่า ระลอกเก่า อย่างไร
จากน้าค่อมเสียชีวิตเพราะโควิด19 โดยมีอาการฝ้าหนาที่ปอดหลังรู้ผลเพียง 5 วัน เข้าไอซียู และเสียชีวิตในเวลาต่อมา มารู้จักเชื้อระลอกใหม่ที่ทำให้คนเสียชีวิตพุุ่ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุเชื้อระลอกใหม่นี้ทั้งดุ แพร่รุนแรง กระจายรวดเร็ว และเสียชีวิตเพิ่ม
จากข้อมูล ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 150,216,590 ราย อาการรุนแรง 110,779 ราย รักษาหายแล้ว 127,736,203 ราย เสียชีวิต 3,163,873 ราย อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ราว 2.1%
ขณะที่ สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ผู้ป่วยรายใหม่ 1,871 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 63,570 ราย หายป่วยแล้ว 35,394 ราย เสียชีวิตสะสม 188 ราย คิดเป็น 0.30%
หากเปรียบเทียบข้อมูลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในแต่ละระลอก พบว่า "ระลอกแรก" (2563 ทั้งปี) พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 6,772 ราย เสียชีวิตสะสม 67 คน คิดเป็นอัตรา 0.82% “ระลอกสอง” (1 ม.ค.-31 มี.ค. 2564) พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 21,035 ราย เสียชีวิตสะสม 27 คน คิดเป็น 0.13%
สำหรับ “โควิด 19 ระลอกใหม่” (เม.ย. 2564) ข้อมูล ณ วันที่ 29 เม.ย. 64 พบผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้ว 34,707 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 10 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 94 คน คิดเป็น 0.27% รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 21,306 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 786 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 230 ราย ส่วนผู้ป่วยอีก 6,682 ราย รักษาอยู่ใน รพ.สนาม
ค่ามัธยฐานของระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ทราบผลติดเชื้อ-วันเสียชีวิต ของผู้ป่วย 10 รายล่าสุด พบว่า ใช้เวลา 3 วัน (นานสุด 16 วัน ) ในจำนวนนี้ 5 ราย (50%) ใช้เวลาตั้งแต่ 6-16 วัน ขณะที่ 2 ราย (20%) เสียชีวิตก่อนทราบผลติดเชื้อ และ 1 ราย (10%) เสียชีวิตวันเดียวกับวันที่ทราบผลติดเชื้อ โดยข้อมูลเหล่านี้ทำให้เรียนรู้ว่า ขณะนี้ระยะเวลาการติดเชื้อจนเสียชีวิตค่อนข้างเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เศร้า! 'น้าค่อม ชวนชื่น' เสียชีวิตแล้ว เหตุติดเชื้อโควิด 19 แฟนคลับแห่ไว้อาลัย
- สธ. เผย 'โควิดระลอกเมษายน' พบผู้ติดเชื้อ 'ปอดอักเสบ' เพิ่มขึ้น
- "โควิด 19 ระลอกใหม่" เชื้อดุกว่าเดิม
ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊คว่า ระลอกนี้เชื้อดุกว่าเดิม จากโดยทั่วไปถ้าเป็นเชื้อระลอกแรก 7 วันไปแล้ว เชื้อจะน้อยลงแม้ว่าตรวจ PCR บวกแต่จะเพาะเชื้อไม่ขึ้น แต่เชื้อของระลอกนี้ 10 วันแล้วยังเพาะเชื้อขึ้นอยู่ แสดงว่าเชื้ออยู่ในร่างกายได้นานขึ้น วัยรุ่นที่สุขภาพแข็งแรงเกิดปอดอักเสบ ติดเชื้อรอบนี้เร็วกว่าเดิม ไม่ถึงสัปดาห์ก็เริ่มมีอาการมากขึ้น การอักเสบเกิดขึ้นเร็ว ปริมาณเชื้อในโพรงจมูกและเสมหะมีมากกว่าเดิม เชื้อกระจายได้ง่าย มีเคสหนักในไอซียูมากขึ้น
- ปอดบวมเร็ว-เครื่องช่วยหายใจพุ่ง
วันที่ 23 เมษายน 2564 พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Anutra Chittinandana ระบุว่าตอนนี้สถานการณ์เตียงที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่เตรียมไว้สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ล้นแล้ว ต้องปรับใช้เตียงสำหรับผู้ป่วยทั่วไปมาเป็นเตียงดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้ตอนนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลในห้อง negative pressure บางครั้งผู้ป่วยชายหญิงอาจต้องอยู่รวมในห้องเดียวกัน
อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อรอบนี้เกิดปอดบวมเร็วและมาก ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำนวนมาก เกินกว่าจำนวนเตียง ICU ที่มีอยู่ ผู้ป่วยบางรายจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจใน ward ธรรมดา ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยอาการหนักจากโรคอื่น ๆ
ในโรงพยาบาลที่มีอายุรแพทย์โรคติดเชื้อ อายุรแพทย์โรคปอดและเวชบำบัดวิกฤติ ซึ่งมีจำนวนน้อยอยู่แล้ว ตอนนี้งานล้นมือมาก ๆ ทำงานไม่มีวันหยุด ทุกคนพยายามดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ แต่ก็เริ่มจะไม่ไหว ต้องให้อายุรแพทย์ทั่วไปและอายุรแพทย์ด้านอื่น ๆ ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย แบบเดียวกับโรงพยาบาลที่ไม่มีอายุรแพทย์โรคติดเชื้อ อายุรแพทย์โรคปอดและเวชบำบัดวิกฤติ ที่อายุรแพทย์ทั่วไปดูแลผู้ป่วยโควิด-19
มีอายุรแพทย์และแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากที่เป็นโควิด-19 ถึงแม้จะป้องกันเต็มที่ แต่ก็ยังเจอผู้ป่วยที่ปิดบังประวัติความเสี่ยงของตนเองอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องถูกกักตัว อายุรแพทย์ที่เหลือต้องทำงานกันหนักขึ้น
การขยายเตียง เปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม แต่จำนวนบุคลากรไม่เพิ่มขึ้นเลย ถ้าผู้ป่วยเพิ่มวันละ 1,000-2,000 แบบนี้อีกไม่นาน รพ.สนามก็จะเต็ม คงต้องยอมรับความจริงว่าเราอาจจะไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 ไว้ในโรงพยาบาล รพ.สนาม หรือ hospitel ได้หมด คงต้องให้กักตัวที่บ้านเหมือนที่หลาย ๆ ประเทศทำกัน อยากให้ทุกคน lock down ตัวเอง ด้วยการอยู่บ้าน เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอย่างถูกต้อง เพราะถ้าป่วยด้วยโควิด-19 อาจจะไม่ได้รับการดูแลรักษาได้อย่างเต็มที่ เพราะตอนนี้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เกินศักยภาพที่เหมาะสมของบุคลากรของโรงพยาบาลต่าง ๆ ในการดูแลผู้ป่วยแล้ว
แม้จะพบว่าอัตราการเสียชีวิตของไทย ซึ่งอยู่ที่ 0.30% จะดูน้อยกว่าเมื่อเทียบกับทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ราว 2.1% แต่เนื่องจากการระบาดที่รุนแรงของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ อาจทำให้ในอนาคตระบบสาธารณสุขของไทยรับไม่ไหว
- ติดเชื้อจะอยู่ที่ประมาณ 7 วัน
ขณะที่ นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่าผู้ที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งอาจไม่ได้ไปในสถานที่เสี่ยงหรือมีพฤติกรรมเสี่ยง แต่ติดเชื้อจากคนใกล้ชิดในครอบครัวหรือติดจากคนในที่ทำงาน และไปในสถานที่คนพลุกพล่านและอากาศปิดทึบ โดยระยะเวลานับจากที่ทราบผลว่าติดเชื้อจะอยู่ที่ประมาณ 7 วันซึ่งไม่นานอาจเพราะมีโรคประจำตัวสถานการณ์โรคโควิด 19 ขณะนี้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยใหม่ยังสูง 2,000 รายต่อวันโดยขณะนี้ผู้ติดเชื้อจะเริ่มมีอาการรุนแรงที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในสถานพยาบาลและใช้ห้องไอซียูเพิ่มขึ้น
- แพร่เชื้อในบ้าน-ที่ทำงาน-ที่พัก
“ส่วนสาเหตุการติดเชื้อนอกจากทำงานหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง มีกิจกรรมเสี่ยงแล้ว พบการติดเชื้อจากการสัมผัสภายในครอบครัว ที่ทำงานที่พักและในชุมชน จึงยังมีความจำเป็นต้องเข้มงวดทั้งมาตรการควบคุมโรคและมาตรการป้องกันส่วนบุคคล และตั้งแต่เดือน มิ.ย.จะมีเครื่องมือป้องกันมาช่วยเพิ่มคือวัคซีน” นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- วอนรัฐฯ เข้มมาตรการสกัดโควิด19
วันที่ 25 เม.ย. 2564 พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ออกประกาศ ที่ รอ.ทั่วไป 54/2564 เรื่อง วิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยใจความระบุว่าสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เตียงในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่เตรียมไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่เพียงพอ ต้องปรับใช้เตียงสำหรับผู้ป่วยทั่วไปมาเป็นเตียงดูแลผู้ป่วยโควิด-19
ประกอบกับอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ในรอบนี้มีการเกิดปอดบวมมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นจำนวนมากเกินประสิทธิภาพของการดูแลที่เหมาะสมของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะมีส่วนที่ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยอาการหนักจากโรคอื่น มีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ราชวิทยาลัยฯ ซึ่งมีสมาชิกอายุรแพทย์กว่า 9,000 คน ทำหน้าที่หลักในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ เห็นว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้จะทำให้เกิดภาวะล่มสลายของระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั้งระบบ
จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการดังนี้
1. ลดภาระงานอื่น ๆ ของบุคลากรที่ต้องทำงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง และร่วมกันลดการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลด้วยการเคร่งครัดในการเว้นระยะห่าง ล้างมือ ใช้เครื่องป้องกันส่วนบุคคลในชีวิตประจำวันและการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม โดยคำนึงว่าผู้ใกล้ชิดและผู้ป่วยทุกรายอาจเป็นผู้แพร่เชื้อให้กับเรา
2. รัฐบาล ควรมีมาตรการที่เข้มงวดกว่านี้ในการลดการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคโควิด-19 เพื่อเร่งให้มีการลดลงของอัตราการติดเชื้อรายวัน ซึ่งจะนำมาสู่การล่มสลายของระบบการรักษาพยาบาล โดยให้ความสำคัญกับความเห็นของฝ่ายการแพทย์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ รวมทั้งเร่งการกระจายวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างถ้วนหน้าโดยเร็วที่สุด
3. ประชาชน ต้องตระหนักถึงการป้องกันตนเองอย่างเข้มงวด ด้วยการอยู่บ้าน งดการเคลื่อนย้ายตนเอง เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และเมื่อมีโอกาสได้รับวัคซีนขอให้ทุกท่านเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะช่วยยับยั้งการระบาดของโรคโควิด 19 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ขอส่งกำลังใจให้กับทุกท่านในการฟันฝ่าวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : โควิดคร่าชีวิต"น้าค่อม"ทำความรู้จัก 10 พืชผัก 'สมุนไพร' ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัส