เตือน!! กิน'หมูดิบ' เสี่ยงป่วย 'โรคไข้หูดับ' อาจเสียชีวิต

เตือน!! กิน'หมูดิบ' เสี่ยงป่วย 'โรคไข้หูดับ' อาจเสียชีวิต

"กรมควบคุมโรค" เตือนประชาชนโดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสาน เลี่ยงการรับประทาน"หมูดิบ" หรือสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงป่วย"โรคไข้หูดับ"อาจถึงขั้นเสียชีวิต

ในช่วงนี้มีรายงานพบผู้ป่วย "โรคไข้หูดับ"ประปรายในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มักมีการจัดกิจกรรมร่วมกันและมีการปรุงอาหารรับประทานกันเองในงานต่างๆ เช่น งานบุญหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น

วันนี้ (5 พฤษภาคม 2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า "กรมควบคุมโรค" ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการประกอบอาหารและรับประทานอาหารดังกล่าว โดยขอให้เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด

โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมารับประทาน "หมูดิบ" หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือด "หมูดิบ"ผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ทำให้เสี่ยงโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้

สถานการณ์ของ"โรคไข้หูดับ" ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -25 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยแล้ว 119 ราย เสียชีวิต 9 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคืออายุ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ

  • "โรคไข้หูดับ" ติดต่อผ่านการกิน"หมูดิบ"และสัมผัส

ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง อุตรดิตถ์ พะเยา นครราชสีมา และพิจิตร ตามลำดับ

นอกจากนี้ รายงานจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด พบว่าในช่วงที่ผ่านมา (เดือนเมษายน) มีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นการระบาดของโรคไข้หูดับ เช่น ลำปาง พบเหตุการณ์ประปรายในหลายพื้นที่ และที่นครราชสีมา พบเหตุการณ์ผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนที่เกิดจากการรับประทานลาบหมูดิบร่วมกันในงานอุปสมบท เป็นต้น

162019972781

"โรคไข้หูดับ" เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมู ที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค จากทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย 

หลังจากได้รับเชื้อ 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้

ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ

  • แนะนำวิธีการป้องกัน "โรคไข้หูดับ"

สำหรับวิธีการป้องกัน "โรคไข้หูดับ" คือ 1.ควร "บริโภคอาหารที่ปรุงสุก"ด้วยความร้อน ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ขอให้แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน

2.ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

ที่สำคัญในช่วงนี้มีการระบาดของโรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19
อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงการจัดเลี้ยงหรือจัดงานที่รวมคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือมีโรคประจำตัว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน "กรมควบคุมโรค" โทร.1422