ปลอดภัยจากโควิด ง่ายๆ เพียงฉีด 'วัคซีนโควิด' ให้เร็ว ให้ไว
ฉีด "วัคซีนโควิด" ถือเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดได้ดีที่สุด ยิ่งได้รับวัคซีนเร็ว ยิ่งปลอดภัย ทั้งตัวเราเอง ผู้อื่น และประเทศชาติ
หลังจากที่รัฐบาล นำโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” และเปิดพื้นที่โรงพยาบาล รพ.สต.และอสม. เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง อย่าง ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้น ซึ่งมี 11.7 ล้านคน และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน เป็นสองกลุ่มแรกที่ได้มีโอกาสจองฉีดวัคซีนก่อนกลุ่มอื่นๆ พบว่า ขณะนี้ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2564 เวลา 08.00 น.) มีผู้จอง"ฉีดวัคซีนโควิด"แล้ว จำนวน 1,574,954 ราย แบ่งเป็นการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ 514,411 ราย และฉีดวัคซีนในต่างจังหวัด 1,060,543 ราย
นอกจากนั้น ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2564 พบว่า จำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 กลุ่ม จำนวน 1.25 ล้านคน สามารถจองคิววัคซีนสำเร็จรวม 507,437 คน คิดเป็น 41% จากคนกลุ่มนี้ที่มีสิทธิจองวัคซีนรวมกัน 16 ล้านคน ด้วยวัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการยุติการระบาดโรคโควิด-19 ยิ่งประชาชนฉีดได้เร็วและฉีดได้มากจึงเป็นสิ่งจำเป็น
- “วัคซีนโควิด-19” ป้องกันไม่ใช่เฉพาะตัวเรา
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) ถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ระบุว่า การ "ฉีดวัคซีนโควิด-19" นอกจากจะป้องกันตัวเราไม่ให้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตแล้ว ถึงแม้ว่าจะป้องกันได้ไม่ 100 % แต่จะเป็นการป้องกันผู้อื่น โดยเฉพาะป้องกันบุคคลในบ้านที่ไม่ค่อยได้ออกนอกบ้าน หรือคนที่เรารัก ไม่ให้ป่วยหรือติดเชื้อได้
ทั้งนี้ การให้วัคซีนในคนหมู่มากเห็นได้ชัด อย่าง ประเทศอังกฤษ ที่ให้วัคซีนไปแล้วร่วม 70 %ของประชากร ที่ได้รับอย่างน้อย 1 เข็ม อังกฤษจากที่เคยมีผู้ป่วยเป็นหมื่นต่อวัน และมีการเสียชีวิตเป็นหลักร้อยหลักพันต่อวัน แต่ขณะนี้ เหลือผู้ป่วยเป็นตัวเลขที่เท่ากับหรือน้อยกว่าประเทศไทย และที่สำคัญอัตราตายไปประเทศอังกฤษเหลือหลักหน่วย หรือหลักสิบต้นๆ เช่น วันที่ 9 พ.ค.2564 มีการเสียชีวิตเพียง 2 คนเท่านั้น น้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก
ขณะที่ ฝรั่งเศส มัวแต่พะวงเรื่องอาการข้างเคียง และการได้รับการ"ฉีดวัคซีนโควิด-19"น้อยกว่าประเทศอังกฤษมากกว่าครึ่ง ทำให้ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น และมีการเสียชีวิตเป็นหลักหลายร้อยคนต่อวัน ทั้งที่วัคซีนในประเทศก็ไม่ได้ขาดแคลนแบบประเทศไทย
“ถ้าทุกคนได้รับวัคซีน ก็จะเป็นการป้องกันเขาป้องกันเรา และในที่สุด โรคโควิด 19 ก็จะอยู่ในความควบคุม ไม่ให้มีการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นสิ่ งที่สำคัญที่สุด ต้องได้รับวัคซีนหมู่มากให้เร็วที่สุด เพื่อลดความสูญเสียทางด้านสุขภาพ ร่างกาย เศรษฐกิจและสังคม ให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของทุกคน ตัวเราและส่วนรวม และประเทศชาติ วัคซีนที่ดีที่สุดขณะนี้ คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด”ศ.นพ.ยง กล่าว
- "ฉีดวัคซีนโควิด-19"เพิ่มภูมิต้านทานลดติดเชื้อ
สำหรับการ "ฉีดวัคซีนโควิด"ในประเทศ ขณะนี้จัดสรรวัคซีนไปแล้ว 2,427,452 โดส จำนวนการฉีดสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.-8 พ.ค. 2564 รวม 1,743,720 โดส มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก 1,273,666 ราย วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 470,054 ราย แบ่งเป็นฉีดวัคซีนซิโนแวค 1,167,398 ราย แอสตราเซเนก้า 106,268 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สอง 470,054 ราย แบ่งเป็น ซิโนแวค 470,038 ราย และแอสตราเซเนก้า 16 ราย จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนจะมีผลข้างเคียงรุนแรง หรือเสียชีวิต
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่าการศึกษา"ภูมิต้านทาน"ที่เกิดจากการ"ฉีดวัคซีนโควิด"ในประเทศไทย เมื่อฉีดวัคซีน ซิโนแวค ครบ 2 เข็มแล้วเป็นระยะเวลา 1 เดือน กับการตรวจ "ภูมิต้านทาน"หลัง"ฉีดวัคซีนโควิด" แอสตราเซเนก้า 1 เข็มเป็นเวลา 1 เดือน เปรียบเทียบกับการตรวจภูมิต้านทานในผู้ที่หายจากการติดเชื้อโรคโควิด 19 ในช่วงระยะเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์หลังจากที่มีการติดเชื้อ จะเห็นว่าระดับ "ภูมิต้านทาน"ของวัคซีนซิโนแวคเมื่อฉีดครบแล้ว 2 ครั้ง มีค่าระดับ "ภูมิต้านทาน"เฉลี่ย 85.9 unit/ml
ส่วน"ภูมิต้านทาน"หลังฉีด แอสตราเซเนก้า เพียงเข็มเดียวมีค่าเฉลี่ย 47.5 เมื่อเทียบกับ"ภูมิต้านทาน"หลังติดเชื้อ 60.9 unit/ml และยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะตรวจพบภู"ภูมิต้านทาน"ได้ 98-99 %ในขณะที่ผู้ติดเชื้อ ตรวจพบ "ภูมิต้านทาน"ได้ 92.4%
“การฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานเท่าใด จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ที่รู้แน่ๆ คือว่าถ้าเรามีภูมิต้านทาน ก็จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งระดับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าวัคซีนทั้งสองชนิดที่ฉีดในประเทศไทย กระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้ดีในประชากรไทย ทั้งวัคซีนซิโนแวค และแอสตราเซเนก้า” ศ.นพ.ยง กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: รู้ให้ชัดก่อน ฉีด-ไม่ฉีด 'วัคซีนโควิด-19'
ไขข้อข้องใจ 'สายพันธุ์อินเดีย' อันตรายแค่ไหน?
ก่อนฉีด 'วัคซีนโควิด' เช็คให้พร้อม วิธีเตรียมตัว ต้องรู้อะไรบ้าง?
- ยิ่ง"ฉีดวัคซีนโควิด"เร็ว ยิ่งปลอดภัยยุติระบาด
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่าวัคซีนที่ฉีดทุกวันนี้ไม่ว่ายี่ห้อไหนรวมทั้งของไทยมีความปลอดภัย ซึ่งวัคซีนมีประโยชน์ ยิ่งฉีดเร็วยิ่งปลอดภัย ตอนนี้ "ฉีดวัคซีนโควิด" ไปทั่วโลกแล้ว กว่า 1,000 ล้านโดส ในจำนวนนี้ ผู้ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรงของการ "ฉีดวัคซีนโควิด" คือ 1-3 คน ใน 1 ล้านคน เช่นเดียวกัน การเสียชีวิตของโควิด -19 คือ 100 คน เสียชีวิต 2.2 คน ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อติดโควิด-19แล้ว จะอยู่ใน 2.2 คนใน 100 คน ที่เสียชีวิต หรือ อยู่ใน 97.8 คนใน 100 คน ที่ไม่เสียชีวิต
“รอบนี้ การเสียชีวิตในคนไทยที่ติดโควิด -19"เราเจอในคนตั้งแต่อายุ 20 กว่าปี ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุ ทุกคนมีโอกาสเสียชีวิตได้ เพราะไม่มีใครรู้ เชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย จะมากน้อยขนาดไหน มีทางเดียวทำให้ตัวเองมีระบบภูมิคุ้มกันให้เร็วที่สุด มากที่สุด ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมากเท่าไหร่ คนไทยทั้งหมดก็จะปลอดภัย ฉีดวัคซีนไม่ใช่เพื่อตนเองเท่านั้น แต่เพื่อผู้อื่น เพื่อประเทศ อยากชวนทุกคนช่วยกันหยุดโควิด โดยไม่อยู่กันใกล้ชิด และใช้สิทธิฉีดวัคซีนกันทุกคน”ศ.นพ. ประสิทธิ์ กล่าว
- "ฉีดวัคซีนโควิด"ป้องกันเสียชีวิต90%ขึ้นไป
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ "ฉีดวัคซีนโควิด" แล้ว จะมีประมาณ 5% ที่มีอาการรุนแรงเกิดขึ้นได้ ซึ่งใน 5% นี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ในสถานที่ที่มีอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาลที่พร้อม
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราไม่เกิดโรคโควิด-19 ที่รุนแรง จนขั้นวิกฤติ ทำให้เสียชีวิตได้นั้น คือ การ"ฉีดวัคซีนโควิด"ซึ่งวัคซีนที่มีอยู่ในท้องตลาดในปัจจุบัน เกือบทุกยี่ห้อ สามารถป้องกันการเกิดโรคโควิดรุนแรง จนถึงวิกฤตและเสียชีวิตได้ 90% ขึ้นไป การฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ป้องกันตนเองจากการเกิดโรคโควิดรุนแรงและการเสียชีวิต