วางระบบ'ฉีดวัคซีนโควิด 19'ดูแล'ผู้สูงอายุ'
'กรมการแพทย์'จับมือเครือข่ายสธ.จัดระบบบริการ 'ฉีดวัคซีนโควิด 19 'ให้แก่ 'ผู้สูงอายุ'ทั่วประเทศ มีความปลอดภัย ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า 'กรมการแพทย์' เป็นเจ้าภาพร่วมกับ กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย และ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดทำแนวทางการจัดการระบบ'ฉีดวัคซีนโควิด 19' ให้แก่ 'ผู้สูงอายุ' ทั่วประเทศ เพื่อให้'ผู้สูงอายุ'ทุกคน รวมทั้งกลุ่มที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี (active) ติดบ้าน และ ติดเตียง ได้รับการ'ฉีดวัคซีนโควิด 19' โดยการจัดระบบบริการฉีดวัคซีนที่มีความปลอดภัยครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ
โดยมีหลักการคือ มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในหลายช่องทาง เช่น การใช้สื่อต่าง ๆการสื่อสารผ่าน อสม. และ ผู้ดูแล เพื่อให้แน่ใจว่า'ผู้สูงอายุ'ทุกรายเข้าถึงข่าวสารการ'ฉีดวัคซีนโควิด 19' มีการประเมินความเหมาะสมในการ'ฉีดวัคซีนโควิด 19' โดยบุคลากรทางสาธารณสุขหรือ อสม. และการช่วยเหลือการจองคิวโดยสามารถทำผ่าน call center หรือระบบตามที่แต่ละพื้นที่กำหนด
- จัดวางระบบ'ฉีดวัคซีนโควิด 19' แก่'ผู้สูงอายุ3กลุ่ม'
นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบัน เวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า การจัดบริการ'ฉีดวัคซีนโควิด 19' ตามความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของ 'ผู้สูงอายุ' คือ
1.กลุ่ม'ผู้สูงอายุ'ที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี สามารถไปรับบริการในจุด'ฉีดวัคซีนโควิด 19' ที่กำหนดไว้ได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป
2.กลุ่ม'ผู้สูงอายุ'ติดบ้าน คือกลุ่มที่ยังเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง โดยใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น ไม้เท้า เปลนั่ง (wheel chair) สามารถไปรับบริการในจุดฉีดวัคซีนที่กำหนดไว้ได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป
โดยจัดให้มีรถบริการรับส่ง'ผู้สูงอายุ'ไปยังจุดฉีดวัคซีน ซึ่งอาจขอความร่วมมือองค์การปกครองท้องส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ หน่วยงานเอกชน มาร่วมให้บริการ และมีช่องทางด่วนเพื่อลดระยะการรอคอย
- ย้ำมีระบบติดตาม'ผู้สูงอายุ'หลังฉีดวัคซีน
3.กลุ่ม'ผู้สูงอายุ'ติดเตียงในชุมชน และผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ในสถานดูแล'ผู้สูงอายุ'เพื่อป้องกันการนำโรคโควิด 19 เข้าไปในสถานดูแลผู้สูงอายุจากการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุและบุคลากรออกไป'ฉีดวัคซีนโควิด 19' ภายนอก
โดยให้จัดรถพยาบาล พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพ ทีมบุคลากรทางการแพทย์เช่นแพทย์หรือพยาบาล พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพขั้นสูง ที่สามารถดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีพบอาการข้างเคียงอย่างรุนแรง โดยให้รอสังเกตอาการหลัง'ฉีดวัคซีน'อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเทียบเท่าการ'ฉีดวัคซีน'ในจุดฉีดวัคซีนในสถานพยาบาล
ทั้งนี้ การติดตามอาการหลังได้รับวัคซีน โดยกลุ่ม 'ผู้สูงอายุ'ที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี ให้ติดตามผ่านระบบการใช้ระบบหมอพร้อม และ application smart อสม. เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ส่วนกลุ่มติดบ้านติดเตียงให้บุคลากรทางสาธารณสุขหรือ อสม.เป็นผู้ติดตามอาการหลังได้รับวัคซีนที่ 1, 7, 30 และ 60 วันหลังฉีดวัคซีน