เปิดวิธีใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' กินอย่างไรให้ปลอดภัย
'ฟ้าทะลายโจร' ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งใน'บัญชียาหลักแห่งชาติ' ด้าน 'สมุนไพร' และมีการนำมารักษาผู้ป่วย 'โควิด-19' ที่มีอาการน้อย ขณะที่ในท้องตลาดยังมี 'ฟ้าทะลายโจร' ทั้งชนิดผงและแบบสกัดขาย ซึ่งวิธีการใช้แตกต่างกัน หากกินในปริมาณไม่เหมาะสมอาจเกิดอันตรายได้
หลังจากที่บอร์ด สปสช. รับทราบประกาศฯ บัญชียาหลักแห่งชาติด้าน 'สมุนไพร' ฉบับที่ 2 ใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' รักษาผู้ป่วย 'โควิด-19' ที่มีอาการน้อย พร้อมมีมติสนับสนุนเบิกจ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง อย่างไรก็ตาม ยังต้องอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์ และกรณีที่ต้องการซื้อ 'ฟ้าทะลายโจร' มารักษาอาการไข้หวัด ยังต้องพึงระวังและใช้ให้เหมาะสม
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ซึ่งมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีมติรับทราบประกาศฯ 'บัญชียาหลักแห่งชาติ' ด้าน'สมุนไพร' ฉบับที่ 2 ซึ่งให้ใช้ยาสารสกัดจาก 'ฟ้าทะลายโจร' และยาจากผงฟ้าทะลายโจร สำหรับผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' ที่มีความรุนแรงน้อย เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีกลุ่มเป้าหมายในการรับยา 'ฟ้าทะลายโจร' ประมาณ 5.26 หมื่นราย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 15.78 ล้านบาท โดย สปสช. ได้กำหนดอัตราการจ่ายชดเชยแก่หน่วยบริการรายละ 300 บาท
อนุทิน กล่าวว่าการบรรจุยา 'ฟ้าทะลายโจร' เข้าใน 'บัญชียาหลักแห่งชาติ' ทำให้สามารถเบิกจ่ายยาดังกล่าวให้กับผู้ใช้สิทธิประกันสุขภาพของประเทศได้ ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น คือ นอกจากจะเป็นทางเลือกในการรักษาแล้ว ยังสนับสนุนให้เกิดการใช้ยาจาก 'สมุนไพร' เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยาจาก'สมุนไพร'ภายในประเทศ ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางยา ลดการพึ่งพายาแผนปัจจุบันที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศลงไปได้ในอีกทางหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมายา'ฟ้าทะลายโจร'ได้รับการบรรจุอยู่ใน 'บัญชียาหลักแห่งชาติ' อยู่แล้ว แต่ได้กำหนดข้อบ่งชี้เอาไว้ในการบรรเทาอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีไข้ เท่านั้น โดยล่าสุดราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศให้ใช้ยา 'ฟ้าทะลายโจร' ได้ในผู้ป่วยโรค 'โควิด-19' ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง
บอร์ด สปสช. ได้รับทราบประกาศฯ และเห็นชอบให้ใช้ยาสารสกัดจาก 'ฟ้าทะลายโจร' และยาจากผง'ฟ้าทะลายโจร' แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้ โดยใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ รายการงบที่เตรียมไว้จ่ายเพิ่มเติมเป็นค่ายาสำหรับรายที่อาการรุนแรงปานกลางถึงมาก ซึ่งมีวงเงินทั้งสิ้น 28.8 ล้านบาท โดยการอนุมัติสิทธิประโยชน์นี้ จะไม่เป็นภาระงบประมาณแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุสรรพคุณตามข้อบ่งชี้ในบัญชียาหลักว่า ยา'ฟ้าทะลายโจร'ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ และอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฟ้าทะลายโจร พบว่า สารสำคัญคือสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) และอนุพันธ์ของสารนี้ มีฤทธิ์ ลดการบีบตัวของลำไส้ ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย ช่วยรักษาอาการไอ เจ็บคอ ป้องกันและบรรเทาหวัด
ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับ 9 โรงพยาบาล นำ 'ฟ้าทะลายโจร' ไปร่วมรักษาในผู้ป่วย 'โควิด-19' ที่อาการไม่รุนแรง ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของ 'ฟ้าทะลายโจร' ได้แก่ ลดไข้ ต้านการอักเสบ ต้านไวรัสบางชนิด เช่น หวัด และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีการศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคโควิด ที่ไม่ได้รับยา 'ฟ้าทะลายโจร' พบว่า ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา'ฟ้าทะลายโจร' มีโอกาสปอดอักเสบ 14.64% ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับ'ฟ้าทะลายโจร' มีโอกาสปอดอักเสบเพียง 0.97%
แสดงให้เห็นว่า 'ฟ้าทะลายโจร' มีแนวโน้มเป็นทางเลือกในการรักษาอาการในผู้ป่วย 'โควิด-19' ที่มีอาการไม่รุนแรง โดยได้รับ 'ฟ้าทะลายโจร' 180 มก.ต่อวัน มากกว่าการรักษาหวัด 3 เท่า ภายใต้การดูแลของแพทย์
- 'ฟ้าทะลายโจร' ป้องกัน 'โควิด-19' ไม่ได้ !
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขอเตือนประชาชนว่าอย่านำไปใช้รับประทานเอง เพราะขนาดหรือโดสของยา 'ฟ้าทะลายโจร' ที่แพทย์นำให้ผู้ป่วย 'โควิด-19' รับประทานนั้นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ด้วย และต้องพิจารณาอาการของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย
ขณะเดียวกัน จากกรณีที่มีประชาชนบางส่วนนำยา 'ฟ้าทะลายโจร' มารับประทานเพื่อป้องกันโรคไวรัส 'โควิด-19' นั้น ขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการยืนยันว่าการรับประทาน 'ฟ้าทะลายโจร' สามารถป้องกัน 'โควิด-19' ได้ ซึ่งการศึกษาในหลอดทดลอง พบฤทธิ์ในการเสริมระบบภูมิคุ้มกันในภาพรวม แต่ไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อไวรัส 'โควิด-19' และ การศึกษาในหลอดทดลองพบว่า ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเชื้อไวรัส 'โควิด 19' เข้าสู่เซลล์ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อป้องกัน 'โควิด-19'
- การใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' อย่างถูกวิธี
สำหรับปริมาณการใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' กรมการแพทย์แผนไทยฯ ให้ข้อแนะนำ ดังนี้
ใช้ในเชิงส่งเสริมสุขภาพ ปริมาณ 20 มก.ต่อวัน
ใช้รักษาผู้ป่วยไข้หวัด ปริมาณ 60 มก.ต่อวัน (ครั้งละ 20 มก. 3 ครั้ง)
การศึกษารักษากลุ่ม โควิด-19 ปริมาณ 180 มก. ต่อวัน ครั้งละ 60 มก. 3 ครั้ง (ภายใต้การดูแลของแพทย์)
- ยาจากผง และ ยาจากสารสกัด แตกต่างกันอย่างไร
ปัจจุบันมี การผลิตฟ้าทะลายโจรในรูปของ 'ยาจากผงฟ้าทะลายโจร' และ 'ยาจากสารสกัดฟ้าทะลายโจร' โดยในตลาดที่อาจทำให้เกิดการสับสน และนำไปใช้และเกิดผลข้างเคียงได้ การรับประทานให้สังเกตข้างกล่องยา เพราะจะระบุขนาดการใช้ไว้อย่างชัดเจน และใช้ในปริมาณที่เหมาะสม วิธีใช้ 2 รูปแบบ มีดังนี้
1. ยาจากผงฟ้าทะลายโจร ซึ่งถูกนำมาตากแห้ง และบดเป็นผง นำผงจากใบแห้งมาบรรจุแคปซูล มีองค์ประกอบของสารหลายตัว รวมถึงไฟเบอร์จากใบ และสาระสำคัญที่ออกฤทธิ์อย่างแอนโดรกราโฟไลด์ แต่ไม่เข้มข้น แอนโดรกราโฟไลด์ อยู่ในมาตรฐานที่อย. กำหนด คือ ไม่ต่ำกว่า 1%
หากข้างขวดระบุว่า แคปซูลมีฟ้าทะลายโจร 400 มก. แปลว่า มีแอนโดรกราโฟไลด์ 4 มก. การใช้รักษาหวัด จะต้องใช้ยาที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ 60 มก.ต่อวัน ดังนั้น ในรูปแบบแคปซูล ขนาด 350-400 มก.ต่อแคปซูล ต้องรับประทานครั้งละ 4 แคปซูลหรือเม็ด วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน จะได้ปริมาณยาประมาณ 6,000 มก. หรือเท่ากับแอนโดรกราโฟไลด์ 60 มก.
2. ยาจากสารสกัดฟ้าทะลายโจร ในกรณีนี้ไม่มีใบติดมา เป็นสารสกัดล้วนๆ ออกมาเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ แอนโดรกราโฟไลด์ หากข้างกระป๋องเขียนว่า รูปแบบแคปซูลหรือยาเม็ด ขนาด 10 มก.ต่อแคปซูลหรือเม็ด แสดงว่ามีแอนโดรกราโฟไลด์ 10 มก. หากต้องการกินวันละ 60 มก. กินครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ย้ำว่า ทั้ง 2 ชนิด มีข้อพึงระวังว่าไม่ควรกินนานกว่า 3-5 วัน
ข้อพึงระวังของยา 'ฟ้าทะลายโจร' คือ ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ 'ฟ้าทะลายโจร' เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม ควรหยุดทันทีและไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร และควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต และผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
สำหรับผู้ป่วย สนใจใช้ยา 'ฟ้าทะลายโจร' ขอให้ปรึกษาแพทย์ หรือ ปรึกษาสายด่วน 'ฟ้าทะลายโจร' โทร. 065 504 5678 หรือ ช่องทาง www.facebook.com/dtam.moph และ Line @DTAM