วิกฤติ! เตียงไอซียูรพ.กทม.ไม่ว่าง ขยายเพิ่มไม่ได้แล้ว

วิกฤติ! เตียงไอซียูรพ.กทม.ไม่ว่าง ขยายเพิ่มไม่ได้แล้ว

วิกฤติเตียงไอซียูรพ.กทม.ไม่ว่าง รพ.รัฐเหลือเพียง 20 เตียง  ขยายเพิ่มไม่ได้แล้ว หลังเผชิญยอดคนติดเชื้อในเมืองกรุงมากกว่า 1 พันรายต่อเนื่องเกือบ 2 เดือน ขอคนไทยล็อคดาวน์ตัวเองสธ.เตรียมยกระดับรพ.สนามใน 4 มุมเมืองรองรับผู้ป่วยสีเหลือง ใช้โมเดลรพ.บุษราคัม

      เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสธ.จะเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่กทม.มากขึ้นหรือไม่เพราะเตียงอยู่ในระดับที่วิกฤติว่า สธ.เข้าไปช่วยเหลือทุกพื้นที่อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร แต่ก็ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  และในส่วนของรพ.บุษราคัมก็มีการรับผู้ป่วยต่างชาติระดับสีเหลืองแล้ว และสิ่งที่สธ.กำลังเร่งดำเนินการคือจะต้องเปิดเตียงและห้องไอซียูรพ.หลักให้มากที่สุด  โดยจะต้องไปยกระดับ เพิ่มศักยภาพรพ.สนามให้เป็นแบบรพ.บุษราคัมให้มากขึ้น
       นายอนุทิน กล่าวอีกว่า รพ.สนาม 4 มุมเมืองจะต้องเกิดขึ้นแล้ว และใช้ประสบการณ์และสิ่งที่ทำมาที่รพ.บุษราคัมในการจัดตั้งรพ.ที่ขาดแต่ห้องไอซียู แต่มียา ออกซิเจนและเครื่องไฮโฟลวพร้อม สามารถจัดได้ภายใน 7 วัน เป็นการอัพเกรดจากรพ.สนามที่มีอยู่แล้วในจังหวัดต่างๆ 4 มุมเมืองรอบกทม.โดยพิจารณารพ.ที่รองรับได้ราว  200 เตียง หากหาได้ 5 แห่ง ก็รองรับได้ 1,000 เตียง พอๆกับศักยภาพรพ.บุษราคัมที่รองรับได้ราว 1,200 เตียง เพราะในเดือนส.ค. รพ.บุษราคัมจะต้องคืนให้กับอิมแพคอารีนาแล้ว  นอกจากนี้ อาจจะยกระดับจากศูนย์นิมิตร์บุตร หรืออินดอสเตเดียม เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลืองด้วย จะต้องทำทุกอย่างให้ทันกับสถานการณ์ ส่วนบุคลากรก็อาจจะต้องใช้รูปแบบของรพ.บุษราคัมที่มีการสับเปลี่ยนจากต่างจังหวัดทุก 2 สัปดาห์
      “ถ้าอาการเหลืองน้อยมารพ.สนามที่จะมีการยกระดับได้เพิ่มมากขึ้น ในรพ.หลักก็สามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้มากขึ้น การยกระดับจากป่วยกลางไปป่วยหนักก็ช้าลง หรือไม่ต้องไปถึงขั้นนั้นโดยผู้ป่วยดีขึ้น และหายป่วย  ซึ่งสธ.ก็ต้องปรับระบบการรักษาพยาบาลให้สอดคล้องกับสถานการณ์”นายอนุทินกล่าว  

เตียงไอซียูรพ.รัฐในกทม.ไม่ว่าง

     ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงปัญหาเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.เริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะเตียงไอซียูว่า  กรุงเทพมหานครเป็นคนบริหารจัดการภาพรวม แต่ขณะนี้เตียงไอซียู เตียงสีแดงนในภาครัฐเหลือ 20 เตียง จาก 400 กว่าเตียง ตอนนี้เหมือนกับว่ารพ.รัฐแต่ละแห่งไม่มีเตียงไอซียูว่างเลย  จึงมีผลต่อการการส่งต่อผู้ป่วยหนักไม่ค่อยได้ ตอนนี้ในภาคของการรักษาโรคนั้นหนักมากๆ หนักมากว่า 10 วันแล้ว ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าหากมีผู้ป่วยมากวันละ 500-600 คน เตียงไอซียูก็จะตึงไปด้วย แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าเกือบจะ 2 เดือนแล้ว ที่พื้นที่กทม.มีผู้ป่วยมากกว่าวันละ 1 พันรายขึ้นไป

          “อย่าง รพ.ราชวิถีก่อนหน้านี้มีการขยายเตียงไอซียูที่โรงจอดรถ 10 เตียง ก็รับผู้ป่วยไป 12 ราย รพ.นพรัตน์ เพิ่งขยายไอซียูเสร็จเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 9 เตียง ก็เต็มแล้ว รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ ขยายเป็นโคฮอตไอซียู แทบจะเต็มไปเรียบร้อย ซึ่งตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา พยายามขยายศักยภาพ และรับได้เพิ่มขึ้นพอสมควร แต่ 10 วันหลังมานี้ตึงมาก”นพ.สมศักดิ์กล่าว  

          นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การที่มีผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้นนั้น ตรงไปตรงมาคือเกิดจากสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ยังครองการระบาดอยู่ และตอนนี้ก็มีเดลตา (อินเดีย) ที่กำลังเข้ามาชิงพื้นที่ ทั้ง 2 สายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว สมมติถ้ามองว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงอาการเป็นสีเหลือง สีแดงเท่าเดิม แต่จำนวนผู้ป่วยมีมากขึ้นในแต่ละวัน ตัวคูณมากขึ้น ก็ส่งผลให้มีการจัดเตียงสีเหลือง สีแดงมากขึ้นด้วย แต่ทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้อาการมากขึ้นด้วย โอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง สีแดงก็มากขึ้นด้วย ในแง่ของความรุนแรง และจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับเตียงผู้ป่วยที่จะรองรับ
162442981053

 ขยายไอซียูยากแล้ว

       “ตอนนี้เตียงไอซียูขยายยากแล้ว เพราะทุกรพ. ทั้งรัฐ โรงเรียนแพทย์ มีการขยายศักยภาพไปมาก รวมถึงนำแพทย์ฝึกหัด เรสซิเดนท์ของสาขาต่างๆ เข้ามาช่วยกันทำงาน แม้กระทั่งรพ.มงกุฎวัฒนะ ที่มีการตั้งไอซียูสนามก็รับผู้ป่วยไปเต็มเอี๊ยดแล้ว ดังนั้นแต่ละแห่งค่อนข้างขยายไอซียูเพิ่มยาก  เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็ต้องพยายามเอาคนที่ป่วยเข้ารพ.ให้เร็ว ซึ่งจริงๆ เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวของภาครัฐก็ค่อนข้างตึง ใช้วิธีหมุนวันต่อวัน คนไข้หายกลับบ้านไปก็รับผู้ป่วยรายใหม่เข้ามา ฮอทพิเทลที่ตั้งขึ้นก็รับจนเต็มเกือบหมด แทบจะวันต่อวันที่ต้องหมุนกันเอา แต่ยังมีรพ.เอกชน ที่ตรวจสอบล่าสุดแล้วยังมีฮอทพิเทลว่างอยู่กว่า 2 พันเตียง

เผชิญปัญหาใช้แล็ปไร้มาตรฐานตรวจ  
          นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากเจอผู้ป่วยแล้วต้องนำเข้ารพ.เร็วเพื่อดูอาการ หากเริ่มมีอาการก็ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ถ้ายังไม่มีอากรก็ให้ยาฟ้าทะลายโจร  หวังว่าจะลดการเปลี่ยนแปลงอาการจากเขียวเป็นเหลือง จากเหลืองเป็นแดงได้ เพราะฉะนั้น คนที่ป่วยแบบที่มีใบแล็ปถูกต้องก็รีบไปฮอทพิเทล อย่างไรก็ตาม อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยได้ คือ แคมป์คนงาน โรงงานที่เจ้าของให้บริษัทแล็ปไปตรวจ โดยใช้แล็ปที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อตรวจเจอแล้วประสานเข้ามาที่ 1668 เพื่อหาเตียงนั้น เจ้าหน้าที่กลับต้องมาทำหน้าที่ในการตรวจสอบและหาใบรับรองการตรวจแล็ปที่ถูกต้องให้ด้วย เพราะใบแล็ปที่โรงงานใช้เอกชนไปตรวจนั้นบางแห่งได้มาตรฐาน บางแห่งไม่ได้มาตรฐาน เรื่องนี้ได้แจ้งไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ทราบเรื่องแล้ว

ขอคนไทยล็อคดาวน์ตัวเอง
       นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สธ.และทุกฝ่ายพยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทาง ทั้งการแบ่งโซนดูแลผู้ป่วยแต่ละพื้นที่  โดยหลักตอนนี้ คือ ทำอย่างไรให้ลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงลงให้ได้มากที่สุด ล่าสุด เมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้หารือ กับ กทม. ออกแนวทาง  community isolation คือ การแยกตัวออกจากชุมชนทันที  และทำบับเบิลแอนด์ซuลไว้ ขณะเดียวกันตอนนี้ มีการติดเชื้อในผู้สูงอายุมากขึ้น เบื้องต้นได้หารือ กทม. จัดทำแนวทาง Nursing home isolation หากผู้ดูแลและผู้สูงอายุติดเชื้อ แต่อาการไม่มาก  ให้ผู้ดูแลช่วยดูแลผู้สูงอายุระหว่างรอเตียง และจะมีแพทย์ในพื้นที่คอยประสานให้คำปรึกษาเพื่อผ่อนคลายระหว่างการจัดสรรเตียง

     ขณะนี้ ผู้เสียชีวิตรายวัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ 80-90 % มีโรคร่วม เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน และตอนนี้พบผู้สูงอายุติดเตียงมากขึ้น ได้หารือ กับ กทม. เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงมากขึ่น เพื่อลดป่วย ลดเสียชีวิต  ยืนยันการพบผู้เสียชีวิตที่มากขึ้นไม่ได้มาจากระบบการรักษาที่ด้อยประสิทธิภาพ  แต่เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นและสะสมมา  และยืนยันยาฟาวิพาราเวียร์ ยังเมีเพียงพอ ขณะนี้ปรับให้ยาเร็วขึ้น  เช่น ผู้ติดเชื้อมีอาการเล็กน้อยแต่มีโรคร่วมก็ให้ยาทันที รวมทั้งได้เพิ่มแนวทาง การให้นำยาฟ้าทะลายโจร มารักษาผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ

       “ขอประชาชนล็อคดาวน์ตัวเอง และเคร่งครัดมาตรการทางสังคม แม้การรับประทานอาหารกับคนรู้จักหรือคนในครอบครัว  ก็ควรเว้นระยะห่าง เพราะขณะนี้ไม่รู้เลยว่า คนรอบข้าง หรือคนที่ฃไปเจอ มีใครติดเชื้อบ้าง” นพ.สมศักดิ์กล่าว
             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมสถานการณ์เตียงในกรุงเทพ และปริมณฑล ณ วันที่
21 มิ.ย. 2564 จากกรมการแพทย์ พบว่า ห้องสำหรับผู้ป่วยสีแดง อย่างห้องไอซียูความดันลบ ผู้ป่วยครองเตียง 268 เตียง ว่าง 46 เตียง หอผู้ป่วยวิกฤตที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 689 เตียง ว่าง 68 เตียง ห้องไอซียูรวม ครองเตียง 267 เตียง ว่าง 34 เตียง ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ห้องแยก ครองเตียง 3,529 เตียง ว่าง 527 เตียง ห้องสามัญ ครอง 6,582 ว่าง 1,458 เตียง และห้องสำหรับผู้ป่วยสีเขียว hospitel ครองเตียง 10,263 ว่าง 3,267 เตียง เตียงสนาม ครองเตียง ว่าง 803 เตียง