‘จองฉีดวัคซีน Moderna’ ยอดพุ่ง เช็คอัพเดท 'โมเดอร์นา-ซิโนฟาร์ม-ไฟเซอร์' จองฉีดวัคซีนยี่ห้อไหนได้บ้าง

‘จองฉีดวัคซีน Moderna’ ยอดพุ่ง เช็คอัพเดท 'โมเดอร์นา-ซิโนฟาร์ม-ไฟเซอร์' จองฉีดวัคซีนยี่ห้อไหนได้บ้าง

จับตาการ "จองฉีดวัคซีนโควิด-19" หลังยอด 'จองฉีดวัคซีน Moderna' พุ่ง สรุปความคืบหน้า "วัคซีนทางเลือก" 3 ยี่ห้อในไทย ทั้ง "วัคซีนไฟเซอร์" "Moderna" และ "ซิโนฟาร์ม" ยี่ห้อไหนเปิดให้คนทั่วไปจองได้ และความคืบหน้าถึงไหน

กระแสการ "จองฉีดวัคซีน" กำลังพุ่งสูงมาก หลังยอด "จองฉีดวัคซีน Moderna" พุ่งสูง จนหลายๆ โรงพยาบาลต้องปิดรับจอง เพื่อสรุปยอดและดำเนินการชำระเงินสั่งซื้อแล้วนั้น ล่าสุดเช้านี้ (5 ก.ค.) โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่เปิดจองรายล่าสุด ก็เต็มอย่างรวดเร็วไม่ถึง 3 นาที หลังจากก่อนหน้านี้ รพ.รามาฯ เพิ่งเปิด "จองวัคซีนซิโนฟาร์ม" แก่ประชาชน 6,400 ราย ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ก็เต็มไปภายในเวลาไม่นาน

ทั้งนี้ เนื่องจากภายหลังจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์ เดลต้า (อินเดีย) และ เบต้า (แอฟริกาใต้) ที่กำลังระบาดหนัก โดยเฉพาะเดลต้า ที่คาดว่าจะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในไทย แทนสายพันธุ์อัลฟ่า จากอังกฤษนั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนหลักอย่าง "ซิโนแวค" และ "แอสตร้าเซนเนก้า" ไม่ สามารถป้องกันได้มากนัก 

สังคมจึงเริ่มถามหาวัคซีนทางเลือกอื่นๆ โดยหวังจะช่วยป้องกันได้มากกว่า โดยคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมควักกระเป๋าจ่ายค่าวัคซีนเอง ไม่ว่าจะเป็น วัคซีนไฟเซอร์ , วัคซีน Moderna และวัคซีนตัวเลือกอย่าง "ซิโนฟาร์ม"

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมความคืบหน้าล่าสุดของการเปิดจองฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" "Moderna" และ "ซิโนฟาร์ม" ว่าแต่ละยี่ห้อสามารถจองฉีดวัคซีนได้ที่ไหนบ้าง ? 

 

  •  ไฟเซอร์ 

การนำเข้า "วัคซีนไฟเซอร์"

เป็นวัคซีนหลักของรัฐบาล โดยวัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามาช่วงเดือน ก.ค. 64 ในนามการบริจาคจาคจาก "ไฟเซอร์" จำนวน 1.5 ล้านโดส โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้อง "ไม่ขายต่อ"

ใครจะได้ฉีดไฟเซอร์บ้าง ?

เบื้องต้นมีเอกสารที่เผยแพร่(เบื้องต้น)จากที่ประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 64 โดยเสนอให้ฉีดกลุ่ม 3 กลุ่มคือ
1) บุคคลอายุ 12- ต่ำกว่า 18 ปี
2) 
กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน คือผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์
3) 
KCW ด่านหน้า กระตุ้นภูมิคุ้มกัน (เป็นเข็ม 3)

ซึ่งขณะนี้ ประเด็นที่อยู่ในกระแสโซเชียลมีเดีย #ขอไฟเซอร์ให้หมอ และยังคงมีข้อถกเถียงว่า "บุคลากรทางการแพทย์" จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 ได้หรือไม่ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้

ช่องทาง "จองฉีดวัคซีนไฟเซอร์"

เบื้องต้น เป็นการจัดสรรฉีดวัคซีนไฟเซอร์โดยหน่วยงานรัฐ ยังไม่มีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองฉีดแบบจ่ายเงินเองได้ ต้องติดตามต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

       

  •  โมเดอร์นา 

การนำเข้า "วัคซีนโมเดอร์นา"

การจัดหาวัคซีนโมเดอร์นาของประเทศไทย นำเข้าผ่าน "บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด" โดย "องค์การเภสัชกรรม" เป็นตัวแทน "ภาครัฐ" ที่จัดซื้อเพื่อมาจำหน่ายให้กับ โรงพยาบาลเอกชน ตามแนวทางข้อกำหนดของบริษัทโมเดอร์นาต่างประเทศ โดยองค์การเภสัชฯ คาดว่า วัคซีนจะได้นำเข้ามาใช้ฉีดให้กับผู้ที่ทำการจองในประเทศไทย ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 หรือ ไตรมาสแรกของปี 2565

ใครจะได้ฉีดโมเดอร์นาบ้าง ?

วัคซีนโมเดอร์นา เป็น "วัคซีนทางเลือก" ที่มีค่าใช้จ่าย ผู้ฉีดต้อง "เสียเงิน" เอง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้จัดให้มีการฉีดฟรี เช่น ซิโนแวค, แอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ 

ช่องทาง "จองฉีดวัคซีนโมเดอร์นา"

องค์การเภสัชฯ ได้เปิดเผยราคาขายวัคซีนโมเดอร์นาให้โรงพยาบาลเอกชน โดสละ 1,100 บาท (ราคารวมรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง ค่าประกันภัยรายบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)  ขณะที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มีมติร่วมกันให้คิดค่าบริการวัคซีนโมเดอร์นา แก่ "ประชาชนทั่วไป" ที่จองซื้อผ่านโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ในราคา เข็มละ 1,650 บาท จำนวน 2 เข็ม เท่ากับ 3,300 บาท ซึ่งรวมค่าบริการฉีดและค่าประกันแพ้วัคซีนแล้ว

โดยที่ผ่านมา แต่ละโรงพยาบาลได้เปิดให้จองในช่วงเวลาต่างกันออกไป และหลายแห่งได้ปิดจองแล้ว โดยล่าสุด "คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล" เปิดให้ประชาชนทั่วไปสั่งจองวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก โมเดอร์นา ( Moderna) เริ่มสั่ง "จองฉีดวัคซีน Moderna" วันที่ 5 ก.ค.64 เริ่มเวลา 08.30 น. จนถึงวันที่ 11 ก.ค.64 โดยมีค่าบริการฉีด 1,500 บาทต่อโดส และปิดการจองแล้ว เนื่องจากคิวเต็ม

แต่อัพเดท ณ วันที่ 5 ก.ค. ยังมีบางแห่งเปิด "จองฉีดวัคซีน Moderna" อยู่โดยสามารถอ่านเพิ่มเติม >> คลิกที่นี่ 

   

  •  ซิโนฟาร์ม 

การนำเข้า "ซิโนฟาร์ม"

"วัคซีนซิโนฟาร์ม" ถือเป็น "วัคซีนตัวเลือก" ยี่ห้อแรกของไทย ซึ่งมีการนำเข้าโดย "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์"  และกระจายให้กับหน่วยงาน/องค์กร ที่ต้องการวัคซีนดังกล่าวไปฉีดให้บุคลากรหรือประชาชนในสังกัด โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องนำไปฉีดแก่ประชาชนหรือบุคลากร "ฟรี" โดยเริ่มฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มพร้อมกันทั้งประเทศ วันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา 

ใครจะได้ฉีดซิโนฟาร์มบ้าง?

ในส่วนของวัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรกนั้น เป็นการจัดสรรแก่ หน่วยงาน/องค์กรรัฐและเอกชน ที่นำไปบริการ "ฉีดฟรี" แก่ประชาชนเท่านั้น โดยในส่วนของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เริ่มเปิดให้ประชาชนลงชื่อแสดงความประสงค์ขอฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มด้วยนั้น ต้องรอในล็อตต่อไป

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ "ประชาชนทั่วไป" ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเปิดให้จองด้วยตัวเองนั้น  ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว Nithi Mahanonda สะท้อนแนวโน้มระยะถัดไป คาดว่าจะมีการเปิดให้จองวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับ "ประชาชนทั่วไป" ในเร็วๆ นี้

"สำหรับบุคคลทั่วไปรออีกไม่นานจะมีข่าวดี ขอผมจัดระเบียบโรงพยาบาลที่รับ ช่วยฉีดให้ได้ดีก่อน อีกไม่เกิน 1-2 อาทิตย์นะครับ เห็นใจทุกคนแต่ผมก็จัดให้ได้เท่าที่หามาได้ครับ ที่สำคัญผมต้องแน่ใจประชาชนบุคคลทั่วไปไม่เสียประโยชน์"

  162546787887

162546787886

ช่องทาง "จองฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม"

ปัจจุบันวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ยังไม่เปิดให้ "ประชาชนทั่วไป" จองซื้อได้โดยตรง แต่หน่วยงานรัฐและเอกชน ที่ต้องการจองวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับบุคลากรของตัวเอง ยังสามารถแสดงความประสงค์เพื่อจองวัคซีนได้

เช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็จะทยอยเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มได้เช่นกัน

โดยแต่ละ อปท. มีเงื่อนไขเบื้องต้นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้จองวัคซีน ดังนี้

1. เป็นผู้มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใน อปท. นั้น ๆ (บาง อปท. กำหนดว่าต้องอยู่ในท้องที่อย่างน้อย 1 ปี)
2. เป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
3. ให้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ หรือแบบฟอร์มออนไลน์ หรือจุดรับลงทะเบียนตามที่ อปท. กำหนด หรือผ่านเครือข่าย อสม. ตามวัน-เวลาที่กำหนด

หลังจาก อปท. ใช้งบของตนจัดซื้อซิโนฟาร์ม และได้รับการอนุมัติจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็จะยืนยันประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนในวัน-เวลาที่กำหนด โดยต้องไปฉีดวัคซีนที่ รพ. ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มเท่านั้น โดยที่แต่ละ อปท. จะแจ้งสถานที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนผู้ลงทะเบียนไว้