'หมอประสิทธิ์' เตือนรอ 'วัคซีนทางเลือก' เข็ม 2 เสี่ยงเดลต้าจู่โจม

'หมอประสิทธิ์' เตือนรอ 'วัคซีนทางเลือก' เข็ม 2 เสี่ยงเดลต้าจู่โจม

'หมอประสิทธิ์' ห่วงคนที่ฉีดซิโนแวคเข็มแรก และรอ 'วัคซีนทางเลือก' ฉีดเป็นเข็ม 2 หวั่นภูมิคุ้มกันไม่พอ เสี่ยงโควิด-19 สายพันธุ์ 'เดลต้า' ระหว่างรอ

วันนี้ (13 ก.ค. 64) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการแถลงข่าว อัปเดตสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกและในประเทศไทย : ถอดบทเรียนเพื่อก้าวผ่านวิกฤติ โดยระบุว่า ตอนนี้มีสายพันธ์ เดลต้า เป็นสายพันธุที่กระจายเร็วกว่าอัลฟ่า 1.4 เท่า เมื่อกระจายเร็วเป็นธรรมชาติของไวรัส หากกระจายเร็ว ติดเร็ว จะทดแทนสายพันธุ์เดิม เมื่อการติดเชื้อเยอะ คนไข้ที่เข้ามา รพ. เยอะขึ้น สัดส่วนของคนที่มีอาการหนักเยอะขึ้น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม เมื่อคนติดเชื้อมา รพ. เยอะขึ้น เมื่อไหร่ที่ศักยภาพของรพ.ไม่ไหว อัตราการเสียชีวิตจะเริ่มสูงขึ้นไปอีก เพราะอาจจะไม่มีเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ ยาไม่พอ นำมาซึ่งอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น           

ข้อมูลเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 64 ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 11,975,996 โดส ฉีดวันละ 242,481 โดส (ประชากร 69,980,009 ล้าน)12.6% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 4.6% ได้ครบโดส และล่าสุดวันนี้ (13 ก.ค. 64) ฉีดไปแล้วกว่า 12.9 ล้านโดส ตอนนี้ กระทรวงสาธารณสุขเร่งฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 3-4 แสนโดส เพื่อให้ทันกับปลายปี เรามีประชากรกว่า 69 ล้านคน แปลว่า แต่ตอนนี้มีเพียงประมาณ 13% ที่ได้รับวัคซีน 1 โดส และเพียง 5% ที่ได้รับครบโดส 

  • ทั่วโลกเร่งผลิต วัคซีนรุ่น 2 

โควิด-19 มีการกลายพันธุ์ ตอนนี้ทั่วโลก บริษัทที่ผลิตวัคซีน กำลังเข้าสู่การผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 ซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ

วัคซีนใหม่ ที่อยู่ในระยะการศึกษาในคน

วัคซีนเดิม ที่พัฒนาให้มีคุณสมบัติสำคัญมากขึ้น มุ่งเป้าประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้ครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์ และบางบริษัท ใช้เอไอเข้าไปช่วยดูว่าโควิด-19 จะกลายพันที่จุดไหนได้อีก เพื่อพัฒนาวัคซีนให้ครอบคลุม

"หลักการใหญ่ๆ คือ ต่อไปวัคซีนราคาจะถูกลง การจัดเก็บไม่จำเป็นอุณหภูมิต่ำมาก ผลิตได้เยอะ ภูมิคุ้มกันจะอยู่นาน มีการออกแบบอย่างน้อยปีหนึ่ง บริษัทมองระยะยาวว่า ต่อไปจะต้องฉีดวัคซีนแบบนี้ปีละ 1 ครั้ง โดยวัคซีนโควิด-19 รุ่นสอง คาดว่าจะออกมาในต้นปีหน้า" 

 

  • ระหว่างรอวัคซีนรุ่น 2 

ระหว่างรุ่นที่ 2 ยังไม่ออก เริ่มมีการศึกษาวัคซีนรุ่น 1 ว่าการฉีดวัคซีนต่างเทคโนโลยีกัน ต่างแพลตฟอร์ม ถ้าจับคู่ดีๆ ภูมิคุ้มกันดีขึ้นกว่าวัคซีนชนิดเดียวหรือไม่ เริ่มมีการศึกษาในคนที่ติดโควิด-19 และมีการจับคู่ต่างๆ เข็ม 1-2 ไม่เหมือนกัน ตอนนี้มีการจับคู่ ได้แก่ mRNA กับ ไวรัลเวคเตอร์ , ไวรัลเวคเตอร์ กับ วัคซีนเชื้อตาย และ วัคซีนเชื้อตาย กับ mRNA แต่องค์การอนามัยโลกยังไม่รับรอง

“ที่ WHO ยังไม่รับรอง เพราะงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในจำนวนคนไข้ไม่เยอะนัก ยังไม่มีใครศึกษาในคนไข้ที่จำนวนมากพอ แต่ WHO เฝ้าติดตาม เมื่อไหร่ที่งานวิจัยหลากหลายผลออกมาตรงกัน เชื่อว่าถึงจุดๆ หนึ่งที่ WHO อาจจะออกนโยบาย แต่ตอนนี้ WHO ยังคงแนะนำว่า เข็มหนึ่งฉีดแบบไหน เข็มสองฉีดแบบนั้น”

  • ฉีดไขว้ปลอดภัยหรือไม่

สำหรับคำถามที่ว่า มีการศึกษาวัคซีนไขว้แบบชนิดเชื้อตาย กับ mRNA มีความปลอดภัยหรือไม่  ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆ มีการศึกษา แต่ละประเทศ จะจับ 2 จุดว่า เมื่อไขว้แล้วประสิทธิภาพดีหรือไม่ และปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มออกมาแนวเดียวกัน คือ มีแนวโน้มระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นและปลอดภัย ข้อมูลตอนนี้มีเท่านี้ โดยการศึกษาเป็นหลัก 100 คน บางงานไม่ถึงด้วยซ้ำ โดยรวมจึงเป็นเหตุผลที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศรับรองให้ไขว้ อยู่ที่ประเทศพิจารณาความจำเป็นและ ข้อมูลที่มีอยู่

“ขณะเดียวกัน ไทย มีการศึกษาอย่างน้อย 4 โรงเรียนแพทย์ ทำงานวิจัยเรื่องนี้อยู่ รพ.ศิริราช ก็ไขว้กันหลายคู่ อยู่ๆ เราจะไม่แนะนำเลย หากไม่มีงานวิจัยรองรับ ตอนนี้ตอบก่อนงานวิจัยไม่ได้ แต่หากผลออกมาคล้ายคลึงกัน เหมือนกับในต่างประเทศ อาจจะเป็นนโยบายการฉีดวัควีนรองรับ คาดว่าผลการวิจัยจะออกมาเร็วๆ นี้” นพ.ประสิทธิ์กล่าว

  • 'เข็ม 2' รอ 'วัคซีนทางเลือก' อาจเสี่ยง 'เดลต้า' จู่โจม 

ขณะเดียวกัน กรณีคนที่รับวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค และรอเข็มสองที่เป็นทางเลือก หรือโมเดอร์นา ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เวลาฉีดซิโนแวคเข็มเดียวภูมิคุ้มกันไม่พอ ช่วงที่รอวัคซีนทางเลือกก็มีความเสี่ยง เพราะหากถูกจู่โจมด้วยเดลตา ก็อาจไม่ทัน

 

  • เข็ม 3 กับบุคลากรการแพทย์

เมื่อถามถึงกรณีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ล่าสุดข้อมูลในสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทไฟเซอร์ ออกมารณรงค์กับรัฐบาลว่า อยากให้คนอเมริกันฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 3 แต่รัฐบาลดูข้อมูลหมด ได้ยับยั้งไม่ให้ฉีดเข็ม 3 เพราะคนอเมริกันอีก 40 ล้านคน ยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว

หลักการเดียวกันในประเทศไทย ความเห็นตนต้องบริหารสองอย่างคู่ขนานกันไป ทั้งเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ต้องฉีด และคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องได้รับการฉีด อย่างน้อย 1 เข็ม ซึ่งคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังบริหารจัดการ ส่วนจะใช้คู่ผสมใดนั้น ก็ต้องดูข้อมูลวิชาการ และในสต็อกมีในการบริหารจัดการแค่ไหน ขณะเดียวกันมาตรการสังคม มาตรการด้านสาธารณสุขก็ต้องทำเช่นกัน

ทั้งนี้ ตนเป็นอีกคนที่เห็นด้วยกับการมีวัคซีนทางเลือกตั้งแต่ต้น เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมีวัคซีนมาเติมได้ทันกับเวลา

  • กระตุ้นเข็ม 3 จำเป็นต้อง mRNA หรือไม่

ส่วนกรณีบุคลากรทางการแพทย์ อยากบูสเตอร์โดสด้วยวัคซีนทางเลือก ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา จำเป็นหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูข้อมูลทางวิชาการพิจารณา หากพูดถึงเข็ม 3 ก็ต้องมุ่งเป้าไปที่วัคซีนที่กระตุ้นทีเซลล์ หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งตอนนี้กลุ่มวัคซีนชนิดไวรัลเว็คเตอร์ทำงานได้ดีมาก และแม้แต่ชนิด mRNA ก็กระตุ้นดีเช่นกัน ประสิทธิภาพใกล้เคียง ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก ซึ่งขณะนี้เรากำลังจะมีไฟเซอร์ และภาคเอกชนจะมีโมเดอร์นา ขณะเดียวกันเราก็มีแอสตร้าเซนเนก้า จริงๆไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้อยู่ในกลุ่มพวกนี้ อันนี้เฉพาะการฉีดกระตุ้นของเข็มที่ 3 เท่านั้น